กาฬสินธุ์-ติวเข้มจนท.สาธารณสุข-ท้องถิ่นป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์
กาฬสินธุ์-ติวเข้มจนท.สาธารณสุข-ท้องถิ่นป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับบริษัท เคมิท กรุ๊ป จำกัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสัมมนาแนวทางในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์รูปแบบต่างๆ เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้กับองค์กร
วันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่ห้องประชุมโรงแรมชาร์ลอง-บรูทรีค อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ นายวิรัช พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 1 เป็นประธานเปิดการสัมมนาแนวทางในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์รูปแบบต่างๆ เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้กับองค์กร โดยมี นพ.วิทยา วัฒนเรืองโกวิท นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ นายธีรวัฒน์ วงศ์ทาเครือ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เคมิท กรุ๊ป จำกัด นาย ธนวรรธน์ จำนงค์ กรรมการบริหาร บริษัทเคมิท กรุ๊ป จำกัด นายจักรพรรณ ศรีวะโล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท เคมิท กรุ๊ป จำกัด นายทศพร ลี้เทียน ผู้ประสานงานโครงการฯ พร้อมด้วยผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ศูนย์ข้อมูลข่าวสารสำนักงานสาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ และเจ้าหน้าที่รับผิดชอบงานด้านคอมพิวเตอร์โรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอต่างๆ ในจ.กาฬสินธุ์ ร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียง
นายวิรัช พิมพะนิตย์ ส.ส.กาฬสินธุ์ เขต 1 กล่าวว่า สำหรับการจัดสัมมนาครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์รูปแบบต่างๆ เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้กับองค์กร เพื่อนำเสนอเทคโนโลยี ความรู้และทักษะใหม่ๆ ให้เป็นแนวทางในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์รูปแบบต่างๆ ที่พร้อมจะเข้ามาโจมตีข้อมูลของหน่วยงาน เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้กับกลุ่มโรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุข รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ สาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ด้านนพ.วิทยา วัฒนเรืองโกวิท นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในการจัดสัมมนาในครั้งนี้ สิ่งผู้ที่เข้าร่วมสัมมนาจะได้รับคือ จะเป็นการยกระดับระบบรักษาความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ ให้มีความทันสมัย สามารถรับมือกับอาชญากรรมและภัยคุกคามทางด้านไซเบอร์ ที่มีความซับซ้อนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพสูงสุด ลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยคุกคามด้านไซเบอร์ ที่จะส่งผลต่อการดำเนินงานหรือธุรกิจขององค์กร พร้อมทั้งรองรับนโยบาย Thailand 4.0 เพื่อให้การบริการงานสารสนเทศต่างๆ เป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล ให้กับระบบรักษาความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ เพื่อให้สอดคล้องกับ พรบ.การรักษาความปลอดภัยไซเบอร์, พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์