“อลงกรณ์”วิพากษ์พรรคประชาธิปัตย์ในมุมที่มองไม่เห็น(Unseen Democrat Party)กับปัญหาภัยคุกคามของโลกและโอกาสของไทย
“อลงกรณ์”วิพากษ์พรรคประชาธิปัตย์ในมุมที่มองไม่เห็น(Unseen Democrat Party)กับปัญหาภัยคุกคามของโลกและโอกาสของไทย
วันนี้(13 ก.พ.) นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตเลขาธิการCALDได้โพสต์ข้อเขียนวิพากษ์พรรคประชาธิปัตย์กับปัญหาภัยคุกคามของโลกและโอกาสของไทยในหัวข้อเรื่อง “พรรคประชาธิปัตย์ :มุมที่มองไม่เห็น Unseen Democrat Party”ในเฟสบุ๊คซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับบทบาทระหว่างประเทศของพรรคประชาธิปัตย์ที่ควรค่าต่อการรับรู้ของสังคมไทยในฐานะพรรคการเมืองเก่าแก่ของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยนายอลงกรณ์เขียนข้อความดังต่อไปนี้
“พรรคประชาธิปัตย์ :มุมที่มองไม่เห็น Unseen Democrat Party”
พรรคประชาธิปัตย์มีหลายมุมที่มองเห็นและมีหลายมุมที่มองไม่เห็นหรือหลายคนไม่เคยรู้
ความเป็นพรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของประเทศมีอายุกว่าเจ็ดทศวรรษเป็นสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยในฐานะพรรคการเมืองของประเทศไทยได้มีบทบาทในความร่วมมือกับองค์กรทางการเมืองระหว่างประเทศหลายองค์กร
ตัวอย่างเช่นการเป็นพรรคการเมืองที่ร่วมก่อตั้งและเป็นสมาชิกของสภาพรรคการเมืองเสรีนิยมและประชาธิปไตยแห่งเอเชีย (CALD) หรือการเป็นสมาชิกขององค์กรเสรีนิยมนานาชาติ(LI: Liberal international) โดยพรรคประชาธิปัตย์มีบทบาทอย่างสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมอุดมการณ์ประชาธิปไตยในแนวทางเสรีนิยมทั้งในมิติของอุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจรวมถึงประเด็นความท้าทายใหม่ๆของโลกเช่น ปัญหาภาวะโลกร้อนปัญหาความมั่นคงทางอาหารปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ที่ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกันในการรับมือและร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะในระดับนโยบายทางการเมืองซึ่งแต่ละพรรคการเมืองในภูมิภาคต่างๆทั่วโลก ล้วนแล้วแต่มีหน้าที่ไม่ว่าในฐานะรัฐบาลหรือฝ่ายค้านในการตอบโจทย์ประเด็นสำคัญๆเหล่านี้
สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำขององค์กรพรรคการเมืองระหว่างประเทศในฐานะประธานและเลขาธิการCALD เช่นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ นาย อลงกรณ์พลบุตร นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ และนายเกียรติ สิทธิอมร รองประธานองค์กรเสรีนิยมนานาชาติ เป็นต้น
ดังนั้นความร่วมมือภายใต้องค์กรทางการเมืองนานาชาติจะช่วยให้เกิดพลังอย่างมีพลวัตมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา คนของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นใหญ่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในระดับนโยบายผ่านกิจกรรมต่างๆกับพรรคการเมืองในทวีปอเมริกาทวีปยุโรปและทวีปเอเชียทั้งที่มีแนวคิดและปรัชญาทางการเมืองสอดคล้องกันและแตกต่างกันอย่างไร้พรมแดน
โลกวันนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า จากปัญหาสิ่งแวดล้อมและเทคโนโลยี รวมทั้งปัญหาประชากรที่เพิ่มขึ้น ปัญหาความขัดแย้งและสงครามในภูมิภาคต่างๆรวมถึงภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและโรคระบาดที่เกิดขึ้นเช่น โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตและทุกประเทศ
ดังนั้นความร่วมมือไม่ว่าในระดับรัฐต่อรัฐ ประชาชนต่อประชาชนและพรรคการเมืองต่อพรรคการเมืองจึงเป็นแพลตฟอร์มที่พรรคประชาธิปัตย์ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปีที่ผ่านมาโดยส่งผ่านภารกิจจากหัวหน้าพรรค นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นาย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์จนถึงนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ด้วยความเชื่อมั่นว่า พรรคประชาธิปัตย์ต้องมีบทบาทสำคัญและความรับผิดชอบต่อการแก้ไขปัญหาและรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ที่เป็นทั้งภัยคุกคามและโอกาส
ประการสำคัญคือ เราไม่สามารถอยู่อย่างโดดเดี่ยวและเราไม่อาจที่จะละทิ้งความรับผิดชอบที่มีต่อประเทศและโลกของเรา ทั้งรุ่นนี้และรุ่นต่อไปในอนาคต.
อลงกรณ์ พลบุตร
อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
อดีตเลขาธิการCALD
จาการ์ตา , อินโดนีเซีย
13 กุมภาพันธ์ 2567