23/12/2024

กาฬสินธุ์-เกษตรนามนถ่ายทอดเทคโนโลยีเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่

1_0

อำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมกับสำนักงานเกษตรอำเภอนามน เครือข่ายเกษตรกร ร่วมกันจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field day) ประจำปี 2567 เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกร ได้รับทราบเทคโนโลยีการผลิต ช่องทางการตลาด การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรด้วยกันและนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรม เพื่อได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและปลอดภัย

 


ที่กลุ่มแปลงใหญ่หนองโพนเห็ดฟางเงินล้าน (ศพก.เครือข่าย) หมู่ที่ 13 ต.ยอดแกง อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ นางสาวอ้อมอารีย์ ยี่วาศรี นายอำเภอนามน เป็นประธานจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field day) ประจำปี 2567 โดยมีนางศิริรัตน์ ไสยประกาศ เกษตรอำเภอนามน น.ส.นันทนา สร้อยเสนา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สนง.เกษตรอำเภอนามน พร้อมด้วยส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่ ผู้บริหารสถานศึกษา เครือข่ายเกษตรกรและเกษตรกร ร่วมงานเป็นจำนวนมาก


นางศิริรัตน์ ไสยประกาศ เกษตรอำเภอนามน กล่าวว่า ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดร่วมกันจัดกิจกรรมวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ หรือที่เรียกว่างานวัน Field Day เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกร ได้รับทราบเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ ช่องทางการตลาด แหล่งข้อมูล การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ของตนเอง ตลอดจนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรด้วยกันเอง รวมทั้งนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา ซึ่งเป็นตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์


นางศิริรัตน์กล่าวอีกว่า การจัดงาน Field day ดังกล่าวมีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลัก และใช้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร หรือ ศพก. ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตร ที่มีเกษตรกรผู้นำเป็นผู้บริหารจัดการ ภายใต้การสนับสนุนของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นสถานที่จัดงาน การจัดงาน Field day จึงเป็นสัญญาณของการเริ่มต้นฤดูการผลิตใหม่ที่เหมาะสม สำหรับปีการผลิต 2567/68 โดยกำหนดจัดงาน Field Day ทั้งสิ้น 882 ศูนย์กระจายทั่วประเทศ มีการกิจกรรมหลักแตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง ขึ้นกับกิจกรรมการเกษตรที่สำคัญในพื้นที่และฤดูกาลผลิต


ด้าน น.ส.นันทนา สร้อยเสนา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กล่าวว่าการจัดงานวัน Field Day ในครั้งนี้ มีกิจกรรมหลักคือการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน จำนวน 4 สถานีเรียนรู้ คือ 1.การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า, 2.การเพาะเห็ดฟางในโรงเรือน, 3. การผลิตดินปลูกจากกากเห็ดฟาง และ 4. การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเห็ดฟาง ซึ่งมีเกษตรกรในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงมาร่วมงานประมาณ 100 คน โดยการการจัดงานครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการทุกภาคส่วนระดับจังหวัด ระดับอำเภอ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ สถาบันการศึกษา สถาบันเกษตรกร ศพก.เครือข่าย Young Smart Famer และ Smart Farmer อำเภอนามน

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป