15/11/2024

สตม. สกัดกั้น ตรวจสอบ ระดมจับกุมคนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย ในประเทศไทย รวมทั้งให้ดำเนินการตรวจสอบ ชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม

สตม. สกัดกั้น ตรวจสอบ ระดมจับกุมคนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบธุรกิจผิดกฎหมายในประเทศไทย รวมทั้งให้ดำเนินการตรวจสอบ ชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม

ตามนโยบายของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์
หักพาล รอง ผบ.ตร. ในการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมในช่วงวันคริสต์มาส และเทศกาล ปีใหม่ 2567 โดยสั่งการให้ สตม. สกัดกั้น ตรวจสอบ ระดมจับกุมคนต่างด้าวที่เข้ามาประกอบธุรกิจผิดกฎหมาย
ในประเทศไทย รวมทั้งให้ดำเนินการตรวจสอบ ชาวไทยและชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในขณะที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศไทย กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศ หรือ กลุ่มคนร้ายข้ามชาติที่เข้ามาแฝงตัวอยู่ก่อเหตุ หรือโดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการกระทำความผิด
ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม., พล.ต.ต.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.มานัด ศรีวงษา รอง ผบช.สตม., พล.ต.ต.ประพันธ์ศักดิ์ ประสานสุข ผบก.สส.สตม., พล.ต.ต.ณัฐกร ประภายนต์ ผบก.ตม.3, พล.ต.ต.ทรงโปรด สิริสุขะ ผบก.ตม.6, พ.ต.อ.ศุภโชค หยงสตาร์ รอง ผบก.ตม.6, พ.ต.อ.รัฐโชติ โชติคุณ รอง ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.ภาณุภาคยณ์ จิตต์ประยูรตี รอง ผบก.สส.สตม., พ.ต.อ.เฉลิมชนม์ แหลมทอง รอง ผบก.ตม.6, พ.ต.อ.เพลิน กลิ่นพยอม รอง ผบก.ตม.3, พ.ต.อ.ชย พานะกิจ ผกก.(สอบสวน) กลุ่มงานสอบสวน บก.สส.สตม., พ.ต.อ.จิรพงศ์ รุจิรดำรงค์ชัย ผกก.สส.บก.ตม.3, พ.ต.อ.พูลศักดิ์ แก้วศรีขาว ผกก.ตม.จว.นราธิวาส, พ.ต.อ.เด่นชาย เจริญยุทธ ผกก.สส.บก.ตม.6, พ.ต.อ.เกรียงไกร อาริยะยิ่ง ผกก.ตม.จว.ภูเก็ต, พ.ต.ต.กรัณฑ์วาริษฐ์ สมจันทร์ สว.ตม.จว.นราธิวาส ร่วมแถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหา รายสำคัญ ดังนี้
1. สตม.รวบหนุ่มอินโด หนีคดีหลอกลงทุน Forex ซุกไทย Overstay นานกว่า 2 ปี
บก.สส.สตม. จับกุมนายพอล (นามสมมติ) อายุ 39 ปี สัญชาติอินโดนีเซีย โดยกล่าวหาว่า เป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด นำตัวส่งพนักงานสอบสวน กลุ่มงานสอบสวน บก.สส.สตม. ดำเนินคดี ตามกฎหมาย
พฤติการณ์จับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.สส.สตม. ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ตม. พบว่า นายพอล (นามสมมติ) อายุ 39 ปี สัญชาติอินโดนีเซีย การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด (Overstay) นานกว่า 2 ปี และเป็นบุคคลที่องค์การตำรวจสากลได้ออกประกาศสีแดง (INTERPOL RED NOTICE) จึงได้ประสานงาน ไปยังเจ้าหน้าที่ กงสุลฝ่ายตำรวจ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประจำประเทศไทย รับแจ้งว่า นายพอล เป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย กระทำความผิดในข้อหา ฉ้อโกง โดยการหลอกให้ผู้เสียหายร่วมลงทุน Forex มูลค่าความเสียหายคิดเป็นเงินไทยประมาณ 320 ล้านบาท และปัจจุบันยังหลบหนีคดีเป็นที่ต้องการตัวของทางการอินโดนีเซีย พล.ต.ต.ประพันธ์ศักดิ์ ประสานสุข ผบก.สส.สตม. จึงได้สั่งการให้ชุดปฏิบัติการจัดกำลังสืบสวนติดตามจับกุม จนกระทั่งต่อมาสืบทราบว่า นายพอล ได้ไปซื้อบ้านหรูราคากว่า 8 ล้านบาท อยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.บางใหญ่ จว.นนทบุรี โดยใช้ชื่อภรรยาซึ่งเป็นคนไทยเป็นผู้ซื้อและเป็นเจ้าบ้าน จึงได้ทำการขออนุมัติศาลแขวงนนทบุรีออกหมายค้นบ้านพักหลังดังกล่าว จากการตรวจค้นพบนายพอล และพบเงินสดสกุลเงินดอลลาร์สิงคโปร์ และทรัพย์สินอื่นๆ รวมมูลค่า ประมาณ 2 ล้านบาท อยู่ในตู้เซฟภายในห้องนอน สอบถามนายพอล ให้การว่าตนเองถูกทางอินโดนีเซียออกหมายจับ ในข้อหาหลอกให้ร่วมลงทุน Forex มูลค่าความเสียหายคิดเป็นเงินไทย ประมาณ 320 ล้านบาท จริง และได้หลบหนีหมายจับของทางการอินโดนีเซียมากบดานอยู่ในประเทศไทย โดยไม่คิดว่าจะถูกตามตัว เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมจึงได้แจ้งข้อหาและจับกุมนายพอล ในข้อหาเป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด นำตัวส่งพนักงานสอบสวน บก.สส.สตม. ดำเนินคดีตามกฎหมาย
​2. สตม.รวบหนุ่มกิมจิหนีหมายจับเกาหลีฉ้อโกง 500 ล้านวอน แอบกบดานในไทยจน Overstay
​ บก.ตม.3 จับ MR.K (นามสมมติ) อายุ 43 ปี สัญชาติเกาหลีใต้ โดยกล่าวหาว่า เป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.ช้างเผือก จว.เชียงใหม่ ดำเนินคดีตามกฎหมาย
​ เมื่อประมาณต้นเดือน มกราคม 2567 กก.สส.บก.ตม.3 ได้สืบสวนทราบว่ามีคนต่างด้าวสัญชาติเกาหลีใต้ มีพฤติการณ์น่าสงสัยซึ่งอาจเป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย จึงได้สืบสวนข้อมูลในเชิงลึกพบว่า MR.K (นามสมมติ) อายุ 43 ปี
ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เมื่อเดือน เมษายน 2566 และอยู่ในประเทศไทยจนกระทั่งการอนุญาตสิ้นสุด (Overstay) โดยไม่ดำเนินการขออยู่ต่อในราชอาณาจักรให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และได้ขอให้สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลี ประจำประเทศไทย ตรวจสอบประวัติของ MR.K รับแจ้งว่า MR.K เป็นบุคคลที่มีหมายจับและเป็นที่ต้องการตัวของประเทศเกาหลีใต้ ในข้อหา “ฉ้อโกง” มูลค่าความเสียหายกว่า 500 ล้านวอน (12 ล้านบาท) และองค์การตำรวจสากลได้ออกประกาศสีแดง (INTERPOL RED NOTICE) กก.สส.บก.ตม.3 จึงได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวน ติดตาม เพื่อจับกุมตัว MR.K ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.สส.บก.ตม.3 สืบทราบว่า MR.K ได้หลบหนีไปกบดานอยู่ที่ คอนโดแห่งหนึ่งใน อ.เมืองเชียงใหม่ จว.เชียงใหม่ จึงได้ไปเฝ้าสังเกตการณ์และได้พบ MR.K จึงได้จับกุมในข้อหา “เป็นคนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด นำตัวส่ง พนักงานสอบสวน สภ.ช้างเผือก จว.เชียงใหม่ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป​
​ 3. สตม.จับกุมชาวบังกลาเทศ 19 คน “ใช้ดวงตรา รอยตราประทับปลอม และลักลอบหลบหนีเข้าเมือง”
เพื่อไปทำงานมาเลเซีย
​ ตม.จว.นราธิวาส จับกุมชาวบังกลาเทศ จำนวน 19 คน โดยกล่าวหาว่า “ปลอมหรือใช้รอยตราประทับปลอมฯ, ปลอมหรือใช้เอกสารราชการปลอมฯ, เป็นคนต่างด้าวเดินทางเข้ามาและอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต” นำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.ตากใบ จว.นราธิวาส ดำเนินคดีตามกฎหมาย
พฤติการณ์จับกุม ก่อนทำการจับกุมเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้รับแจ้งจากประชาชนว่าพบเห็นบุคคลลักษณะคล้ายคนต่างด้าว อยู่บริเวณภายในตลาดตาบา ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จว.นราธิวาส จึงเดินทางไปตรวจสอบเมื่อไปถึงสถานที่ดังกล่าวพบเห็นคนต่างด้าว จำนวน 1 คน อยู่บริเวณหน้าอาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.เจ๊ะเห อ.ตากใบ จว.นราธิวาส เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้ขอตรวจสอบเอกสารประจำตัวคนต่างด้าว หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง โดยคนต่างด้าวดังกล่าวแจ้งว่าหนังสือเดินทางของตนอยู่ในตัวอาคารพาณิชย์หลังดังกล่าว และแจ้งอีกว่ายังมีคนต่างด้าวอยู่ภายในตัวอาคารพาณิชย์หลังดังกล่าวอีก เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมจึงได้ให้คนต่างด้าวดังกล่าวพาเข้าไปตรวจสอบ เมื่อเข้าไปภายในตัวอาคารพบคนต่างด้าวอยู่ภายในอีกจำนวน 18 คน โดยผลการตรวจสอบหนังสือเดินทาง ทั้ง 19 คน เป็นหนังสือเดินทางประเทศบังกลาเทศทั้งหมด พบว่ามีรอยตราประทับขาเข้าของด่านตรวจคนเข้าเมือง ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รหัส A0370 ระบุวันที่ 2 JAN 2024 จำนวน 2 เล่ม ระบุวันที่ 8 JAN 2024 จำนวน 15 เล่ม
ระบุวันที่ 9 JAN 2024 จำนวน 2 เล่ม และยังพบว่าทั้ง 19 เล่ม แผ่นปะตรวจลงตรา (Visa) มีลักษณะผิดปกติ จึงได้ตรวจสอบกับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ตม. ผลการตรวจสอบไม่ปรากฎข้อมูลการเดินทางเข้าราชอาณาจักรแต่อย่างใด จึงได้นำตัวมาตรวจสอบที่ สภ.ตากใบ จากการสอบถามชาวบังกลาเทศทั้ง 19 คน รับว่าพวกตนได้เดินทางมาจากประเทศบังกลาเทศและพักอาศัยอยู่ประเทศกัมพูชา โดยมีชาวบังกลาเทศที่อยู่ในประเทศกัมพูชาคอยช่วยเหลือสนับสนุนที่พัก รวมทั้งเอาหนังสือเดินทางของพวกตนไปดำเนินการประทับรอยตราประทับขาเข้าประเทศไทยให้ และนำมาคืนก่อนที่จะพาพวกตนลักลอบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทยเพื่อจะเดินทางไปยังประเทศมาเลเซียแต่ถูกจับกุมเสียก่อน โดยได้จ่ายค่าเดินทางพร้อมค่าใช้จ่ายการประทับตราขาเข้าประเทศไทยให้กับนายหน้าแล้วทั้งหมดที่ประเทศบังกลาเทศ เป็นเงินจำนวนคนละ 400,000 – 500,000 ตากา คิดเป็นเงินไทยประมาณ 145,000 บาท เจ้าหน้าที่ ชุดจับกุมจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาและจับกุมนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.ตากใบ เพื่อดำเนินคดีตามข้อกล่าวหาดังกล่าว ทั้งนี้ ตม.จว.นราธิวาส และ สภ.ตากใบ จะได้ร่วมกันสืบสวนขยายผลหาผู้ร่วมกระทำผิดต่อไป
ในภาพรวมขบวนการเครือข่ายลักลอบขนชาวบังกลาเทศ เริ่มพบความเคลื่อนไหวตั้งแต่ต้นปี 2566 ซึ่งทิศทางการลักลอบมาจากประเทศกัมพูชา ผ่านช่องทางธรรมชาติด้านพื้นที่ จว.สระแก้ว ในช่วงต้นปี 2566 เป็นการลักลอบเดินทางโดยเครื่องบิน และมีการเก็บค่าดำเนินการกับชาวบังกลาเทศที่ลักลอบฯ ค่อนข้างสูง หลักแสนบาท ก่อนที่ขบวนการดังกล่าวจะมีการเปลี่ยนวิธีการลักลอบ จากโดยสารเครื่องบิน ไปเป็นการเดินทาง โดยรถยนต์ ในลักษณะเคลื่อนย้ายคนต่างด้าวเป็นทอด ๆ จากชายแดนประเทศกัมพูชา เข้ามาในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งแนวโน้มในการกระทำความผิดของผู้ร่วมขบวนการยังพบการกระทำความผิดอย่างต่อเนื่องและมีการเปลี่ยนแผนประทุษกรรมและรูปแบบการเคลื่อนย้าย โดยช่วงหลังมีการตรวจพบเป็นลักษณะการปลอมแปลง รอยตราประทับของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและปลอมแผ่นประการตรวจลงตรา (Visa) เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่ในการเดินทางออกไปประเทศมาเลเซีย
4. สตม.ตามรวบผู้ร้ายข้ามแดนหนีโทษจำคุก 10 ปี พบ ! ถือ 2 สัญชาติ หลบทำงานดีเจย่านป่าตอง
ตม.จว.ภูเก็ต จับกุม นายอาชมาล (นามสมมติ) อายุ 36 ปี สัญชาติเบลเยี่ยม และโมร็อกโก ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญาที่ 878/2566 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน “พยายามฆ่าผู้อื่น โดยไตร่ตรองไว้ก่อน, พกพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต, ครอบครองเครื่องกระสุนปืน ชิ้นส่วนอะไหล่หรืออุปกรณ์เสริม ซึ่งติดตั้งบนอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต” นำตัวส่งพนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ เพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551
​ สืบเนื่องจาก สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีหนังสือถึง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่งหมายจับนายอาชมาล (นามสมมติ) อายุ 36 ปี สัญชาติเบลเยี่ยม ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาที่ 878/2566 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2566ในความผิดฐาน “พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน , พกพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต , ครอบครองเครื่องกระสุนปืน ชิ้นส่วนอะไหล่หรืออุปกรณ์เสริมซึ่งติดตั้งบนอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต” เพื่อให้ทำการจับกุมแล้วนำตัวส่งให้พนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2551 โดยตามความผิดดังกล่าวศาลอุทธรณ์แห่งกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ได้ตัดสินให้จำคุกนายอาชมาล เป็นเวลา 10 ปี พล.ต.ท.อิทธิพล อิทธิสารรณชัย ผบช.สตม. จึงได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดสืบสวนติดตามจับกุมนายอาชมาล เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน ตม.จว.ภูเก็ต จึงได้ตรวจสอบข้อมูลในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ตม. พบว่า ก่อนหน้าที่จะมีการดำเนินการออกหมายจับ ผู้ต้องหารายนี้ได้ใช้หนังสือเดินทางประเทศเบลเยี่ยมเดินทางเข้า-ออก ประเทศไทยหลายครั้ง ต่อมาภายหลังพบว่ามีการเปลี่ยนมาใช้หนังสือเดินทางของประเทศโมร็อกโก และแจ้งที่พักอาศัยไม่เป็นหลักแหล่งทั้งกรุงเทพฯ ศรีสะเกษ และภูเก็ต สลับกันไป โดยล่าสุดพบว่ามีการเดินทางเข้ามาและแจ้งสถานที่พำนักในพื้นที่ จว.ภูเก็ต และจากตรวจสอบการแจ้งที่พักในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ตม. พบอพาร์ทเม้นท์แห่งหนึ่งย่านป่าตอง ต้องสงสัยว่าผู้ต้องหารายนี้จะพักอาศัยอยู่ จึงได้มีการลงพื้นที่หาข่าวจนสืบทราบว่าตัวผู้ต้องหารายนี้ เคยเข้าพักและไป ๆ มา ๆ อยู่หลายครั้ง และแฝงตัวทำงานเป็นดีเจในสถานบริการแห่งหนึ่งในพื้นที่ป่าตอง เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมพิสูจน์ทราบจนแน่ชัดว่าผู้ต้องหาพักอาศัยอยู่ภายในอพาร์ทเม้นท์ดังกล่าว จึงได้เข้าตรวจสอบพบ นายอาชมาล พร้อมหนังสือประเทศโมร็อกโก และหนังสือเดินทางประเทศเบลเยี่ยมที่เคยใช้เดินทาง จึงได้แสดงหมายจับ และจับกุมนำตัวส่งพนักงานอัยการ สำนักงานต่างประเทศ ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
สตม.

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป