บึงกาฬ – เป็นหนี้ทั้งตำบลชาวบ้านร้องสื่อมวลชน ถูกทวงหนี้กว่า 6 ล้านบาท!!
ชาวบ้านตำบลบ้านต้อง 15 หมู่บ้าน อ.เซกา จ.บึงกาฬ 109 คนถูกหนังสือทวงหนี้ 6,354,294.37 บาท 19 ปีผ่านมา จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กระทรวง พม.ทั้งที่ไม่เคยกู้ยืมเงินและค้ำประกันใคร หลายคนถึงกับช็อกโรคประจำตัวกำเริบ ตายไปแล้วก็มี ส่งตัวแทนเข้าร้องเรียนสื่อมวลชนก่อนพาร้องศูนย์ดำรงธรรมขอความเป็นธรรมและหาทางช่วยเหลือด่วน
เมื่อเวลา 14.00 น วันที่ 19 ม.ค.ที่สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดบึงกาฬ ศูนย์ราชการจังหวัดบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ นางสำเนียง นันทา ตัวแทนชาวบ้านจากตำบลบ้านต้อง ได้ถือหนังสือทวงหนี้ จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเครือข่ายออมทรัพย์เจ็ดสีเพื่อการผลิตโครงการผลิตปุ๋ยชีวภาพ ซึ่งตั้งอยู่ตำบลบ้านต้อง อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ(หนองคาย ขณะนั้น) เข้าร้องทุกข์กับสื่อมวลชน โดยเล่าว่าพวกตนที่อยู่ในตำบลบ้านต้อง จำนวน 15 หมู่บ้าน รวมทั้งหมด 109 คนต่างได้รับหนังสือทวงหนี้จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น ได้ส่งหนังสือทวงหนี้เป็นเงินจำนวนกว่า 6,354,294.37 บาท บาท ซึ่งเป็นฉบับล่าสุดโดยก่อนหน้านั้นประมาณ 6 ปีผ่านมาก็ได้รับหนังสือทวงหนี้มาเป็นระยะๆ ทุกปี จากจำนวนหนี้ 2.677 ล้านบาท ก็ขยับมาเป็น 6.354 ล้านบาท ซึ่งทุกคนก็ตกใจมากหลายคนถึงกับช็อกโรคประจำตัวกำเริบทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูงตายไปหลายคนแล้ว
มูลเหตุมาจากเมื่อประมาณเดือนเมษายนปีพ.ศ 2548 ได้มีนายฤาชัย คำหงษา ผู้ใหญ่บ้านขณะนั้นได้มาชักชวนชาวบ้านไปร่วมประชุมเพื่อฟังนโยบายโครงการผลิตปุ๋ยชีวภาพอัดเม็ดเพื่อประหยัดต้นทุนในการใส่พืชผลทางการเกษตรเช่นปุ๋ยใส่นาข้าวหรือยางพารา โดยทุกคนที่ไปร่วมประชุมมีการลงชื่อในสมุดซึ่งเป็นสมุดธรรมดา หลังจากประชุมเสร็จทราบว่าผู้นำชุมชนได้มีการจัดตั้งกรรมการขึ้นจำนวน 25 คนแต่ไม่ทราบว่ามีใครเป็นกรรมการบ้างและได้มีกลุ่มผลิตปุ๋ยอัดเม็ดและผลิตต้นกล้ายางพารา หลายปีผ่านไปจนมาถึงประมาณปี 2560 ได้รับหนังสือทวงหนี้จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนดังกล่าว เป็นจำนวนหนี้ประมาณ 2 ล้านกว่าบาท และต่อมาก็ได้รับหนังสือทวงหนี้เป็นประจำทุกปี ล่าสุดได้รับใบทวงหนี้ 6.354 ล้านบาท หนังสือลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ชาวบ้านจึงได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากไม่สบายใจที่มีหนี้เกิดขึ้นโดยพวกตนไม่เคยได้ไปเซ็นกู้เงินหรือค้ำประกันใครเลย เพียงแต่วันที่ประชุมนั้นได้ลงชื่อเข้าร่วมประชุมเท่านั้นหลายคนที่ทราบเหตุเป็นหนี้ก็พากันตกใจและป่วยหนักไปตามๆ กัน
จากสาเหตุดังกล่าวพวกตนจึงได้รวมตัวกันเข้าไปร้องทุกข์ที่ศูนย์ดำรงธรรมในอำเภอเซกา เมื่อ 6 ปีผ่านมา แต่ว่าศูนย์ดำรงธรรมที่นั่นก็เพียงรับเรื่องร้องทุกข์เอาไว้เฉยๆ ก็ไม่เห็นดำเนินการอะไร ส่วนผู้นำชุมชนที่มาชักชวนไปร่วมประชุมนั้นก็มาบอกว่าไม่ต้องตกใจให้อยู่เฉยๆ ไว้เดี๋ยวก็ดีเอง แต่พวกตนก็ไม่สบายใจเนื่องจากว่าหนี้มันเพิ่มสูงขึ้นทุกปี จึงได้พากันเข้าร้องเรียนกับสื่อมวลชนจังหวัดบึงกาฬ เพื่อขอความเป็นธรรมและหาทางช่วยเหลือ จากนั้นผู้สื่อข่าวจึงได้พามาร้องทุกข์ที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดบึงกาฬ มีนางสาวแกมแก้ว คงเชื้อนาค ผอ.ศูนย์ฯและเจ้าหน้าที่ ได้สอบถามความเป็นมาเหตุแห่งหนี้ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้และได้เชิญเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนเข้ามาชี้แจงว่าเรื่องราวเป็นมายังไง
ต่อมาได้มี นายหนูเกณฑ์ ศรีบัว หัวหน้าปฏิบัติการชุมชน ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมาตรวจงานที่จังหวัดบึงกาฬพอดี ได้เข้ามาชี้แจงเรื่องที่เป็นหนี้จึงทราบว่า หนี้ที่เกิดขึ้นครั้งนี้นั้น ก่อขึ้นโดยคณะกรรมการจำนวน 25 คน ของตำบลบ้านต้องที่ไปกู้เงินมาจำนวน 3 สัญญาๆ ที่ 1 เลขที่ 02/017/2548 วันที่ 10 พฤภาคม 2548 จำนวนเงิน 865,500 บาท สัญญาที่ 2 02/018/2548 วันเดียวกัน จำนวนเงิน 543,800 บาท สัญญากู้เงินที่ 3 02/019/2548 วันเดียวกัน จำนวนเงิน 1,268,400 บาท สัญญาค้ำประกัน เลขที่ ค 02/017/2548 วันที่ 10 พ.ค.2548 จำนวนเงิน 2,677,700 บาท
นายหนูเกณฑ์ ศรีบัว กล่าวเพิ่มเติมว่าเมื่อใกล้สิ้นสุดอายุความ 20 ปีจึงได้มีการทวงลูกหนี้พร้อมผู้ค้ำประกันทั้งหมด 109 คน แต่ด้วยความเป็นจริงแล้วทางสถาบันฯ ไม่มีเจตนาที่จะทวงหนี้ชาวบ้านให้เดือดร้อนแต่ด้วยเหตุว่าถ้าหากไม่ทวงก็จะมีความผิดจึงต้องทวงหนี้เพื่อให้มีการเจรจาเกิดขึ้น ส่วนข้อเท็จจริงนั้นชาวบ้านทั้ง 109 คนได้เซ็นในเอกสารค้ำประกันหรือไม่นั้นจะต้องพิสูจน์กันว่าเป็นลายเซ็นจริงหรือไม่หรือมีการปลอมแปลงเอกสารเกิดขึ้น ซึ่งจะพิสูจน์กันต่อไป และได้นัดเจรจากับชาวบ้านตำบลบ้านต้องอีกครั้งในเร็วๆ นี้หรือประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้เพื่อหาข้อสรุปและเจรจาชดใช้หนี้ในส่วนที่เป็นหนี้ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ลายเซ็นที่ชาวบ้าน 109 คนเซ็นไว้ในช่องผู้ค้ำดูแล้วเป็นการกอปปี้ลายเซ็นมาวางไว้ เพื่อการกู้เงินสมบูรณ์และเอาเงินออกมาใช้ จึงน่าจะเป็นการปลอมแปลงลายเซ็น ถึงแม้เจ้าหน้าที่จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนมาชี้แจงด้วยตนเองว่าจะได้ใช้หนี้หรือไม่อย่างไรต้องดูที่เอกสารการขอกู้เงินฉบับจริงว่าได้เซ็นจริงหรือไม่อย่างไร ชาวบ้านก็ที่มาร้องทุกข์ก็ทำให้สบายใจระดับหนึ่ง แต่ก็ยังกังวลกับหนี้หรือว่าจะได้ใช้หนี้จำนวน 6 ล้านกว่าดังกล่าว หากเป็นเช่นนั้นจริงชาวบ้าน 109 คนที่ถูกทวงหนี้คงไม่ยอมเงินก็ไม่ได้กู้ ค้ำก็ไม่ได้เซ็น หากให้ค้ำก็คงไม่ค้ำแต่ทีแรกแล้ว จะต้องเป็นคณะกรรมการ 25 คนที่กู้ไปเท่านั้นต้องเป็นผู้ชดใช้หนี้ 6 ล้านกว่าเอง ลูกหนี้คนหนึ่งกล่าวอย่างมีอารมณ์.
ข่าว/ภาพ ณฐพรหม อิทธิพัทธ์พล//บึงกาฬ 0628256546