รมช.ไชยา มอบหมาย อ.ส.ค. ผลิตหลักสูตรการเรียนรู้ร่วมกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบุรี เร่งสร้าง Smart Farmer รองรับอาชีพเลี้ยงปศุสัตว์ส่งออก
รมช.ไชยา มอบหมาย อ.ส.ค. ผลิตหลักสูตรการเรียนรู้ร่วมกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบุรี เร่งสร้าง Smart Farmer รองรับอาชีพเลี้ยงปศุสัตว์ส่งออก
นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบุรี ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายทิฐินันท์ ทุมมา ผู้อำนวยการสถานศึกษา นักเรียน และนักศึกษาจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบุรี ให้การต้อนรับในพื้นที่ สำหรับวัตถุประสงค์การตรวจเยี่ยมในวันนี้ เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานของสถานศึกษา ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร พร้อมหารือความร่วมมือร่วมกันระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และสถานศึกษาให้สร้างเยาวชนในท้องถิ่นให้เป็นเกษตรกรอัจฉริยะ (Smart Farmer)
รัฐมนตรีช่วยฯ ไชยา กล่าวว่า จังหวัดเพชรบุรี มีสถานที่ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์กักกันโรคเพื่อการส่งออกของสินค้า ปศุสัตว์ไปยังต่างประเทศ และมีวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเพชรบุรีที่มีความพร้อมทั้งศูนย์การเรียนรู้ เครื่องมือ และมีบุคลากร นักเรียน รวมถึงนักศึกษาที่มีความสนใจการทำเกษตรกรรมจำนวนมาก ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ต้องการบูรณาการร่วมกันกับสถานศึกษาในการผลิตหลักสูตรทางด้านวิชาการและประสบการณ์จริง สำหรับรองรับอาชีพการเลี้ยงปศุสัตว์เพื่อการส่งออก โดยมอบหมายให้กรมปศุสัตว์และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ประสานการทำงานร่วมกันกับสถานศึกษา เพื่อใช้สถานที่ของวิทยาลัยฯ ในการจัดการเรียนการสอน และใช้องค์ความรู้ด้านการวิจัย พัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรมของกระทรวงเกษตรฯ ในการสร้างเกษตรกรอัจฉริยะ (Smart Farmer) ให้รองรับการทำการเกษตรสมัยใหม่ในอนาคต
นอกจากนี้ รมช.ไชยา ได้เยี่ยมชมนิทรรศการวิจัยการแปรรูปสับปะรดเป็นอาหารสำหรับโคนมของศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เพชรบุรี การพัฒนาไก่เขียวห้วยทรายจากไก่พันธุ์พื้นเมืองของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมถึงโครงการของนักเรียน อาทิ การศึกษาอัตราการรอดของแหนแดงที่เพาะเลี้ยงในน้ำกร่อย โดยใช้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงจากใบทองหลางน้ำที่ในอัตราส่วนที่แตกต่างกัน ช่วยให้การเจริญเติบโต และโครงการผลิตก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้าภูฐาน เพื่อจำหน่าย เป็นต้น พร้อมทั้ง เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ของวิทยาลัยฯ ที่มีการสอนทำอาหารสัตว์ การพัฒนาสายพันธุ์โค และการทำสัตวบาล เพื่อเป็นแนวทางให้นักศึกษาสามารถหารายได้เลี้ยงชีพได้ตั้งแต่วัยเรียนอีกด้วย