ชลบุรี-กรมทะเลและชายฝั่งที่ 1 และ 2 เปิดปฏิบัติการพื้นที่เกาะริ้น จ.ชลบุรี เก็บกู้ซากอวนปกคลุมแนวปะการังกว่า 700 ตร.ม. น้ำหนักรวม 338 กก.
ชลบุรี-กรมทะเลและชายฝั่งที่ 1 และ 2 เปิดปฏิบัติการพื้นที่เกาะริ้น จ.ชลบุรี เก็บกู้ซากอวนปกคลุมแนวปะการังกว่า 700 ตร.ม. น้ำหนักรวม 338 กก.
วันที่ 17 มกราคม 2567 สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (ระยอง) และ 2 (ชลบุรี) นำโดย นายวุฒิพงษ์ วงศ์อินทร์ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทะเล สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 (ชลบุรี) และเจ้าหน้าที่ชุดฉลามขาว พร้อมด้วย อาสาสมัครนักดำน้ำ ทั้งชาวไทยและต่างชาติจำนวน 35 คน นำเรือทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 804 ออกปฏิบัติการภาระกิจเก็บกู้อวนปกคลุมแนวปะการัง เกาะริ้น อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ตามข้อสั่งการจาก ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ดำเนินการเก็บกู้ซากอวน เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศปะการัง
นายวุฒิพงษ์ วงศ์อินทร์ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทะเล สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 (ชลบุรี) เปิดเผยว่า การปฏิบัติงานในครั้งนี้ สืบเนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากนักประดาน้ำในพื้นที่ที่ลงไปถ่ายภาพใต้น้ำ พบซากอวนขนาดใหญ่ทับแนวประการังอยู่ กรมทรัพยากรและชายฝั่ง จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ลงไปเก็บกู้ซากอวนทั้งหมดขึ้นมา พร้อมกับการประเมินความเสียหาย
การปฏิบัติการในครั้งนี้ ได้แบ่งนักดำน้ำทั้งหมด 7ทีม รอบแรกได้ส่งนักประดานน้ำสำรวจสภาพของอวน พบว่ามีความยาว 70 เมตร กว้าง 10 เมตร ครอบคลุมพื้นที่แนวปะการังทั้งหมด 700 ตร.ม. ในรอบที่สองได้ส่งนักดำน้ำลงไปตัดอวนออกเป็นผืนย่อยโดยใช่ถุงพลาสติกรัดไว้ที่อวน เพื่อให้ลอยขึ้นมา และจะทำให้เกิดความเสียหายต่อปะการังน้อยที่สุด จากนั้นในรอบสุดท้ายได้ทำการเก็บกู้อวนน้ำรวมหนักประมาณ 338 กก. พร้อมซ่อมแซมกิ่งที่แตกหักเสียหาย ส่วนการสำรวจประเมินความเสียหายที่มีต่อแนวปะการังในพื้นที่โดยประมาณ 700 ตร.ม.พื้นที่ปะการังเสียหายประมาณ 70 ตร.ม. ลักษณะความเสียหายหลัก คือปะการังซีดจางและฟอกขาวบางส่วน นอกจากปะการังยังมีผลกระทบอื่นๆ ประกอบด้วย ดอกไม้ทะเล และสัตว์หน้าดิน (ปู, หอยเม่น) ถูกทับและพันเกี่ยว แนวทางการฟื้นฟู คิดเป็นร้อยละ 10 ของพื้นที่ที่ถูกปกคลุมทั้งหมด ซึ่งสภาพอากาศในวันนี้ท้องฟ้าค่อนข้างแจ่มใส ทำให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย สามารถปฏิบัติได้ตามแผนที่วางไว้หลังจากนี้จะมีการปลูกปะการังทดแทนในพื้นที่เสียหาย ประมาณ 100 กิ่ง โดยมีแผนติดตามผลการดำเนินการในอีก 2 เดือนข้างหน้า
ทั้งนี้จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการประมง ให้ทำการประมงในนอกเขตพื้นที่ที่มีแนวปะการังเพราะหากอวนไป หรือตัดทิ้งปล่อยไว้จะทำให้ปะการังตาย เพราะบริเวณที่โดนคลุมจะได้รับแสงน้อยลง ระบบน้ำหมุนเวียนไม่ดี ปะการังจึงเริ่มมีสีซีด หากปล่อยทิ้งไว้ปะการังจะฟอกขาวหมดก้อน และตายในที่สุด เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศเป็นอย่างมาก หากพบผู้ประกอบการประมงทำความเสียหายต่อแนวปะการัง ซึ่งถือเป็นสัตว์คุ้มครอง จะมีความผิดตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 และ พรบ.การประมงอีกด้วย