“ชลน่าน” ควง “อุ๊งอิ๊ง” ตรวจความพร้อมระบบประกันสุขภาพ ยกระดับบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ ก่อนนายกฯ ลงพื้นที่ร้อยเอ็ด คิกออฟอย่างเป็นทางการ นำร่อง 4 จังหวัดทั่วประเทศ เย็นนี้
“ชลน่าน” ควง “อุ๊งอิ๊ง” ตรวจความพร้อมระบบประกันสุขภาพ ยกระดับบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ ก่อนนายกฯ ลงพื้นที่ร้อยเอ็ด คิกออฟอย่างเป็นทางการ นำร่อง 4 จังหวัดทั่วประเทศ เย็นนี้
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ และนพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริยเดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี , นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายการเมือง), นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ , นายเศกสิทธิ์ ไวยนิยมพงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด , นายสรวงศ์ เทียนทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย สส.สระแก้ว รวมทั้งสส.พรรคเพื่อไทย อาทิ นางสาวขัตติยา สวัสดิผล นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด นางสาวชนก จันทาทอง นางสาวปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช และ สส.ร้อยเอ็ด นายฉลาด ขามช่วง นางสาวจิราพร สินธุไพร นางสาวชญาภา สินธุไพร
ลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ติดตามความคืบหน้าการดำเนินนโยบาย”บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่” ที่โรงพยาบาลจตุรพักตรพิมาน อ.จตุรพักตรพิมาน ตรวจเยี่ยมดูระบบการตรวจสอบประวัติสุขภาพอิเลกทรอนิกส์ , การออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล , ใบสั่งยา/ใบสั่งแล็ปออนไลน์ การแพทย์ทางไกล เภสัชกรรมทางไกล การนัดหมายออนไลน์ และระบบส่งยาและเวชภัณฑ์ที่บ้าน รวมถึงระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ ก่อนที่เริ่มคิกออฟโครงการอย่างเป็นทางการในช่วงเย็นวันนี้ ซึ่งจะมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานเปิดโครงการ ณ ลานสาเกตุนคร หน้าหอโหวด 101 จังหวัดร้อยเอ็ด และนำร่องพร้อมกันในอีก 3 จังหวัด คือ แพร่ , เพชรบุรี และนราธิวาส รองรับการให้บริการประชาชนครอบคลุมทั่วทุกภาคของประเทศ
สำหรับการยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ ถูกยกระดับเป็น “30 บาทรักษาทุกที่” หรือเรียกสั้นๆว่า “30 บาทพลัส” ที่ใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียวเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลทุกเครือข่ายทั้งภาครัฐ และเอกชนได้ โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัว เนื่องจากสามารถเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และที่สำคัญ ยังสามารถเข้ารับการรักษามะเร็งได้ครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การฉีดวัคซีน การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม หากตรวจพบก็จะถูกส่งต่อเข้ารับการรักษาต่อไป
นอกจากนี้ ยังเข้าถึงบริการในเขตเมือง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชน โดยเชิญเอกชนเข้ามาร่วมให้บริการมากขึ้น ทั้งร้านยา คลินิกทันตกรรม คลินิกกายภาพบำบัด นับเป็นการลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข และอำนวยความสะดวกในการรับบริการของประชาชนอย่างแท้จริง
ส่วนการขยายนโยบายในเฟส 2 นั้น ภายในเดือนมีนาคมนี้ จะครอบคลุมพื้นที่อีก 8 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์, นครสวรรค์, สิงห์บุรี, สระแก้ว, หนองบัวลำภู, นครราชสีมา, อำนาจเจริญ และพังงา