24/12/2024

สสส.สนับสนุน ม.อ.ทำโครงการสื่อสารรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงทั้งบุหรี่ แอลกอฮอล์และอุบัติเหตุในมหาวิทยาลัยและชุมชน 5 วิทยาเขตภาคใต้

1TRUHGUUI

อธิการบดี หวังเป็นต้นแบบจัดตั้งกลไกจัดการปัจจัยเสี่ยง ผู้ทรงคุณวุฒิสสส.ชี้โครงการมีการจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมเสี่ยงก่อนและหลังจัดกิจกรรมเป็นตัวชี้วัดที่ดี เผยผลสำรวจพบการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น ส่วนการสวมหมวกกันน็อคลดลง


เช้าวันเสาร์ที่ 6 มกราคม 2567 ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น ๒ ศูนย์กีฬาและสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีการแถลงข่าวเปิดตัว โครงการสานพลังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์รณรงค์และจัดการความรู้ ลดปัจจัยเสี่ยงในมหาวิทยาลัยและชุมชน โดย ได้รับการสนับสนุนการดำเนินโครงการจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)


​ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่าต้องขอบคุณ สสส. ที่ให้การสนับสนุนโครงการนี้ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและทิศทางของมหาวิทยาลัยในการสร้างพื้นที่ปลอดภัยด้านปัจจัยเสี่ยง อุบัติเหตุ บุหรี่ และแอลกอฮอล์ให้กับ นักศึกษาและบุคลากร ของมหาวิทยาลัย เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนทำให้คนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมสวัสดิภาพสำหรับคนทุกวัยและเป็นไปตามค่านิยมหลัก คือ มีความเป็นมืออาชีพ ความรับผิดชอบต่อสังคม และความเป็นเอกภาพ เป็นหนึ่งเดียว ด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดถือประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง โดยมหาวิทยาลัยได้ กำหนดวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ที่สำคัญคือ สร้างสรรค์องค์ความรู้และนวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ ด้วยการสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพและสังคมที่สำคัญทั้งอุบัติเหตุ บุหรี่ และแอลกอฮอล์


อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์กล่าวต่อว่า มหาวิทยาลัยมี นโยบายที่สำคัญ 8 ด้านคือ การสนับสนุนการทำงานทางด้านวิชาการ การจัดการความรู้ เพื่อขับเคลื่อน การลดปัจจัยเสี่ยงระดับนโยบายของมหาวิทยาลัย การพัฒนากลไกจัดการปัจจัยเสี่ยงในมหาวิทยาลัย และชุมชนรอบมหาวิทยาลัยครอบคลุมทั้ง 5 วิทยาเขต การรณรงค์และสื่อสารสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลง มุ่งเน้นการสื่อสารรณรงค์ลดพฤติกรรมเสี่ยงในมหาวิทยาลัย

และประชาชนในชุมชนเป้าหมาย การประกาศนโยบายคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่และจัดเขตสูบบุหรี่เป็นการเฉพาะ นำไปสู่การพัฒนามหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่อย่างยั่งยืน การสนับสนุนระบบการขนส่งรถสาธารณะในมหาวิทยาลัยเพื่อลดการใช้รถจักรยานยนต์ และ รถยนต์ ส่วนตัว การปรับสภาพถนนและสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุให้ปลอดภัย การสนับสนุนและส่งเสริมเพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสร้างเสริมสุขภาพ และการร่วมมือกับองค์กร ภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อนำไปสู่การสร้างกลไกให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เป็นต้นแบบการจัดการปัจจัยเสี่ยงสุขภาพและ ปัจจัยเสี่ยงสังคม


ด้านนายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า สสส.เห็นความตั้งใจของผู้บริหาร บุคลากร ของมหาวิทยาลัยรวมทั้งบัณฑิตอาสาที่ต้องการดำเนินงานสื่อสารณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในมหาวิทยาลัยและชุมชนรอบ มหาวิทยาลัย จึงให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการโดยเชื่อมั่นว่า ด้วยบทบาทของการเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการและการทำงานรับใช้ชุมชนจะทำให้โครงการนี้เป็นแบบอย่างของ การดำเนินกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพที่สามารถประเมินผลลัพธ์ของโครงการได้เนื่องจากมีการจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมเสี่ยงภายใน 5 วิทยาเขตและชุมชนเป้าหมายก่อนเข้าไปดำเนินโครงการเพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการจัดกิจกรรมสื่อสาร รณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงได้ตรงตามเป้าหมาย หลังจากนั้นจะมีการจัดเก็บขอมูลอีกครั้งก่อนจบโครงการเพื่อเปรียบเทียบว่าผลจากการจัดกิจกรรมต่างๆได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งความรู้ ความคิดและพฤติกรรมของบุคลากรในมหาวิทยาลัยและคนในชุมชนอย่างไร เพื่อที่ในอนาคตหากมหาวิทยาลัยต้องการขยายผลหรือขยายพื้นที่ในการดำเนินงานในวงกว้างมากขึ้นก็จะทำให้ประชาชนชุมชนและสังคมโดยรวมมีสุขภาวะที่ดีขึ้นซึ่งสสส.ก็ยินดีที่จะสนับสนุนบทบาทเหล่านี้ต่อไปในอนาคต


​ขณะที่ รศ.ดร.นฤทธิ์ ดวงสุวรรณ์ หัวหน้าโครงการฯกล่าวถึงวัตถุประสงค์ ของโครงการว่าเพื่อศึกษาสถานการณ์ด้านปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพและทางสังคมด้านยาสูบ แอลกอฮอล์ และอุบัติเหตุ ทั้ง ภายใน 5 วิทยาเขตและชุมชนเป้าหมาย นอกจากนั้นยังต้องการให้เกิดการสร้างและพัฒนากลไกการจัดการปัจจัยเสี่ยงทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและชุมชนควบคู่กับการสร้างและพัฒนานักรณรงค์สุขภาวะรุ่นใหม่จากนักศึกษา บุคลากรในมหาวิทยาลัย บัณฑิตอาสา และประชาชนเป้าหมาย ให้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ สื่อสารสร้างการรับรู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนทางความคิดและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และสุดท้ายคือการจัดการความรู้ที่ได้จากการสำรวจ สถานการณ์สุขภาพ การจัดกิจกรรมเพื่อสื่อสาร การถอดบทเรียนและการใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนนโยบายในระดับต่างๆต่อไป โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 18 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2568 งบประมาณรวม 4,994,000 บาทถ้วน


หัวหน้าโครงการฯได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า 3 ประเด็นปัจจัยเสี่ยงที่แต่ละวิทยาเขตเลือกคือ. บุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า วิทยาเขตปัตตานีและวิทยาเขตภูเก็ตจะเป็นผู้ดำเนินการ เรื่องอุบัติเหตุ วิทยาเขตหาดใหญ่และ วิทยาเขตตรัง จะเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนแอลกอฮอล์ วิทยาเขตสุราษฎร์เป็นผู้ดำเนินการ ในขณะที่การเลือก ชุมชนเป้าหมายนั้น วิทยาเขตปัตตานี เลือกตำบลบ้านตรัง อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี วิทยาเขตหาดใหญ่ เลือกเขตเทศบาลเมืองคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา วิทยาเขตตรัง เลือกตำบลควนปริง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง วิทยาเขตภูเก็ต เลือกพื้นที่ชุมชนเขาน้อย ต.กระทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี เลือกตำบลขุนทะเล อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฏร์ธานี ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละวิทยาเขตได้ลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้วพร้อมกับการวิเคราะห์ วางแผนกำหนดแนวทาง รูปแบบการสื่อสารและณรงค์ต่อไป โดยหลังจากการแถลงข่าวจะมีการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการสื่อสารและการรณรงค์ให้แก่ อาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 5 วิทยาเขตด้วย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่าข้อมูลที่มีการจัดเก็บสถานการณ์ปัจจัยเสี่ยงในมหาวิทยาลัยและชุมชนมีข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น ด้านบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้านั้นแม้ผู้ตอบส่วนใหญ่จะตอบว่าไม่ได้สูบบุหรี่ แต่มีอยู่ประมาณ 5 %ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าในรูปแบบของพอตที่หน้าตาเหมือนของเล่นและแบบแท้งค์น้ำยา ส่วนใหญ่หาซื้อเอง ส่วนการสูบบุหรี่มวนมีทั้งสูบตั้งแต่ 2-5 มวนต่อวันไปจนถึง 11-20 มวนต่อวัน ด้านอุบัติเหตุนั้นพบข้อมูลที่คล้ายคลึงกันคือผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ไม่สวมหมวกกันน็อค อยู่ระหว่าง 24%-47.1% ส่วนคนซ้อนไม่สวมหมวกกันน็อคอยู่ระหว่าง 17.6%-44.6% สะท้อนว่าการสวมหมวกกันน็อคลดลงเรื่อยๆ ส่วนประเด็นแอลกอฮอล์นั้นพบว่าพฤติกรรมการดื่ม 37.2% จะดื่มที่บ้านตัวเองและที่พัก รองลงมา33.5% ดื่มในงานเลี้ยงและงานเทศกาล.

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป