ขอนแก่น-“รพ.ขอนแก่น”แลกเปลี่ยนเรียนรู้ การดูแลภาวะฉุกเฉิน”ปี 2
ขอนแก่น-“รพ.ขอนแก่น”แลกเปลี่ยนเรียนรู้ การดูแลภาวะฉุกเฉิน”ปี 2
รพ.ขอนแก่น จัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการวิจัยการพัฒนาระบบบริการเพื่อการดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจรจังหวัดขอนแก่น”ปี 2 ภายใต้ทุนอุดหนุนแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานระบบบริการสุขภาพจังหวัดขอนแก่น (SECSI ปี 2)
เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดขอนแก่นรายงานว่า ที่ ขอนแก่นฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น
นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้โครงการวิจัยภายใต้ทุนอุดหนุนแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานระบบบริการสุขภาพจังหวัดขอนแก่น (SECSI ปี 2) จัดโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับโรงพยาบาลขอนแก่น และมูลนิธิการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดขอนแก่น กิจกรรมภายในงาน
ประกอบด้วย การนำเสนอผลลัพธ์งานวิจัย การจัดนิทรรศการ และการนำเสนอนวัตกรรมจากงานวิจัย ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย บุคลากรการแพทย์ และภาคีเครือข่ายกระทรวงสาธารณสุข และองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น รวมทั้งสิ้นจำนวน 251 คน ในการนี้ นพ.ธวัชชัย อิ่มพูล หัวหน้าศูนย์อุบัติเหตุและวิกฤตบำบัดโรงพยาบาลขอนแก่น เป็นผู้กล่าวคำรายงาน
อีกทั้งนายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ มาปาฐกถาในเรื่อง ที่มาของการทำวิจัย SECSI
นายแพทย์เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาระบบบริการการดูแลภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครบวงจร จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีโครงการย่อย 3 โครงการ
ได้แก่ 1. โครงการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลและการนำไปใช้ข้อมูลในระบบการดูแลผู้ป่วยอุบัติแหตุและเจ็บป่วยฉุกเฉิน จังหวัดขอนแก่น 2. โครงการพัฒนาระบบดูแลต่อเนื่องหลังการดูแลฉุกเฉินในผู้ป่วย จังหวัดขอนแก่น 3. โครงการพัฒนาหลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์สำหรับนักเรียนโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินงานตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2565 – ธันวาคม 2566 กลุ่มเป้าหมาย คือ บุคลากรทางการแพทย์ และภาคีเครือข่ายของกระทรวงสาธารณสุข และองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น
นายแพทย์เกรียงศักดิ์ กล่าวอีกว่า ภายในงาน มีการพูดคุยการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลและการนำไปใช้ข้อมูลในระบบการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุและเจ็บป่วยฉุกเฉินจังหวัด ตลอดจนมีการพูดคุยในเรื่องการพัฒนาระบบการดูแลต่อเนื่องหลังการดูแลฉุกเฉินในผู้ป่วยจังหวัดขอนแก่นและการพัฒนาหลักสูตรฉุกเฉินการแพทย์สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในจังหวัดขอนแก่น งบประมาณได้รับการ สนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ .