25/12/2024

‘รมว.กลาโหม’ เป็นประธานเปิดการประชุม ‘ความร่วมมือกองทัพเรือประเทศในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย’ (The 8th Indian Ocean Naval Symposium (IONS) 2023 -2025)

IMG_5895

‘รมว.กลาโหม’ เป็นประธานเปิดการประชุม ‘ความร่วมมือกองทัพเรือประเทศในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย’ (The 8th Indian Ocean Naval Symposium (IONS) 2023 -2025)
(21 ธ.ค. 66) ที่ห้องแกรนด์ บอลรูม ชั้น 10 โรงแรมอวานี พลัส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดการประชุม ‘ความร่วมมือกองทัพเรือประเทศในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย’ (The 8th Indian Ocean Naval Symposium (IONS) 2023 -2025) โดยมีพลเรือเอก อะดุง พันธ์ุเอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารเรือ/ผู้แทนประเทศสมาชิก นายทหารชั้นผู้ใหญ่ และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมในพิธีครั้งนี้
.
โดยการประชุมฯ ประกอบด้วย การสัมมนาทางวิชาการตามหัวข้อหลัก (Symposium), งานเลี้ยงรับรองอย่างเป็นทางการ (Official Dinner), การจัดการหารือระดับทวิภาคีระหว่างกองทัพเรือประเทศสมาชิก (Bilateral Meeting), และการประชุมระดับผู้บัญชาการทหารเรือ (Conclave of Chief) สำหรับกองทัพเรือภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Naval Symposium (IONS))
.
ทั้งนี้ พล.ร.อ.วรวุธ พฤกษารุ่งเรือง เสนาธิการทหารเรือ ได้เป็นประธานเปิดการบรรยายทางวิชาการของวิทยากรกิตติมศักดิ์ และการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น (ถามตอบ) ในหัวข้อหลัก ‘Blue Economy : Ways Forward for Sustainable Development of IONS Member Status’ และการสัมมนา 3 หัวข้อ ได้แก่ หัวข้อเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ (HADR), หัวข้อการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและการปฏิบัติงานร่วมกัน (IS&I) และหัวข้อเกี่ยวกับด้านความมั่นคงทางทะเล (MARSEC)
.
สำหรับความเป็นมาของความร่วมมือและกรอบความร่วมมือ ของกองทัพเรือภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Naval Symposium (IONS)) ได้ก่อตั้งในปี 2551 โดย ‘กองทัพเรืออินเดีย’ เป็นการประชุมหารือว่าด้วยความมั่นคงทางทะเล ระหว่างกองทัพเรือของประเทศที่มีชายฝั่งและเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ติดกับมหาสมุทรอินเดีย
.
ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกจำนวน 25 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, บังคลาเทศ, ฝรั่งเศส, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิหร่าน, เคนยา, มาเลเซีย, มัลดีฟ, โอมาน, ปากีสถาน, การ์ตา, เซเชลล์, สิงคโปร์, ศรีลังกา, สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์, สหราชอาณาจักร, ประเทศไทย, มอริเชีย, โมซัมบิก, เมียนมา, ซาอุดีอาระเบีย, แอฟริกาใต้, แทนซาเนีย, ติมอร์เลสเต และประเทศสังเกตการณ์ จำนวน 8 ประเทศ ได้แก่ เยอรมนี, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เนเธอร์แลนด์, สเปน, จีน, มาดากัสการ์ และรัสเซีย
.
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทรอินเดีย และเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตลอดจนส่งเสริมการประสานงานระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ให้มากขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางทะเลร่วมกัน ซึ่งประเทศสมาชิกจะผลัดเปลี่ยนขอความเห็นชอบในการเป็นประธาน มีวงรอบ 2 ปี
.
‘กองทัพเรือ’ ได้เข้าร่วมการประชุม IONS อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 1 ในปี 2551 ณ สาธารณรัฐอินเดีย และได้อนุมัติตอบรับการเข้าเป็นสมาชิกในกรอบการประชุม IONS อย่างเป็นทางการ ในปี พ.ศ. 2557 โดยกองทัพเรือได้เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน (IONS Working Group : WG) ทั้ง 3 คณะประกอบด้วย
.
1.) คณะทำงานด้านความช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ (Human Assistance and Disaster Relief working group : HADR IWG)
.
2.) คณะทำงานด้านความมั่นคงทางทะเล (Maritime Security Working Group : MARSEC WG)
.
3.) คณะทำงานด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและการทำงานร่วม (Information Sharing and Interoperability Working Group : IS&I IWG)
.
โดยได้จัดผู้แทนเข้าร่วมการประชุมในระดับคณะทำงานอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ของกองทัพเรือในการเป็นกองทัพเรือที่มีบทบาทนำในภูมิภาค จึงได้เสนอตัวเป็นประธานกรอบการประชุมกองทัพเรือภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย (Indian Ocean Naval Symposium (IONS)) โดยที่ประเทศสมาชิกทั้งหมดได้เห็นชอบให้ กองทัพเรือรับหน้าที่เป็นประธาน IONS ระหว่างปี 2565 – 2567
.
เนื่องมาจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้มีการปรับห้วงเวลาการเป็นประธานฯ ของกองทัพเรือเป็นระหว่างปี พ.ศ. 2566 ถึงปี พ.ศ. 2568 โดยกองทัพเรือได้ยืนยันการเป็นประธานฯ รวมถึงนำเสนอความพร้อมของ กองทัพเรือ ในการประชุม IONS ครั้งที่ 7 ระดับผู้บัญชาการทหารเรือ/ผู้แทน (Conclave of Chief : COC) ระหว่างวันที่ 14 -16 พ.ย.64 ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส
.

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป