25/12/2024

เชียงใหม่-สวพส. ต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน พร้อมผลักดันอุทยานหลวงราชพฤกษ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพระดับสากล

S__74834150_0

เชียงใหม่-สวพส. ต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน พร้อมผลักดันอุทยานหลวงราชพฤกษ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพระดับสากล

นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่า ในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษ ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) ได้ขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ในการพัฒนาพื้นที่สูงด้วยหลักและวิธีการทำงานแบบโครงการหลวง ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2512 และได้ดำเนินงานเกิดผลสำเร็จจนเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับนานาชาติ

โดยสวพส.ได้มุ่งดำเนินภารกิจสำคัญ อย่างครบวงจร คือ การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมสำหรับใช้พัฒนาพื้นที่สูง การดำเนินงานพัฒนาบนพื้นที่สูงอย่างกว้างขวาง เพื่อแก้ไขปัญหาที่สำคัญๆ โดยเฉพาะความยากจน การเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยมีอุทยานหลวง ราชพฤกษ์เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ

สวพส. ได้ให้ความสำคัญในงานด้านการพัฒนา โดยปัจจุบันได้ดำเนินงานครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 2,000 กลุ่มบ้านจากพื้นที่สูงทั้งหมดที่มีจำนวน 4,205 กลุ่มบ้าน ทั้งการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน ภายใต้ความร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และประชาชน โดยนำหลัก วิธีการปฏิบัติงาน และองค์ความรู้โครงการหลวง ไปประยุกต์ใช้ในบริบทต่างๆ ของพื้นที่ และการแก้ไขปัญหาที่หลากหลาย โดยเฉพาะปัญหาความยากจน การขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการพื้นฐานของรัฐ และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การสูญเสียพื้นที่ป่า การเผาและฝุ่นควัน การเสื่อมโทรมของดินและน้ำ และผลกระทบจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรเป็นต้น

ผลการดำเนินงานในปัจจุบันได้สร้างประโยชน์และการเปลี่ยนแปลงที่ดีแก่พื้นที่เป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน คือประชาชนมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี ควบคู่กับการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม โดยได้รับรางวัลที่เลิศรัฐสาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประจำปี 2566 “Best of the Best” ภายใต้ชื่อผลงาน “คู่วิถีชุมชนอยู่ร่วมกับป่าสมบูรณ์ ตอบโจทย์พื้นที่สูง” ที่ดำเนินการในโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 11 แห่ง ของ 5 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย น่าน แม่ฮ่องสอน และกาญจนบุรี ซึ่งเป็นรูปแบบของแก้ไขปัญหาและพัฒนาเชิงพื้นที่ อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ คือ การแยกพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรออกจากกัน แล้วทำการยกระดับการประกอบอาชีพด้วยการปรับการทำการเกษตรแบบดั้งเดิมที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการเกษตรแบบประณีต

ที่ให้ผลตอบแทนสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับส่งเสริมชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้น สวพส.จึงมีเป้าหมายขยายผลสำเร็จข้างต้น ไปแก้ไขปัญหาสำคัญบนพื้นที่สูง ที่สร้างผลกระทบและความเสียหายต่อประเทศ เช่น ปัญหาความยากจน และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่สำคัญๆ เช่น พื้นที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ บ้านหนองเขียว จังหวัดแม่ฮ่องสอน และบ้านห้วยโก๋น อำเภอเฉลิมพระเกียรติ เป็นต้น

นางอาณดา นิรันตรายกุล ผู้อำนวยการอุทยานหลวงราชพฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อุทยานหลวงราชพฤกษ์ มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการเรียนรู้โครงการในพระราชดำริ การเกษตร พืชสวน ความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมประเพณี ภายใต้แหล่งเรียนรู้ที่สวยงาม มีมาตรฐาน และปลอดภัย เป็นแหล่งให้บริการกับประซาชน และจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกรตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรและธรรมชาติที่สำคัญของประเทศ ทั้งยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมและนิทรรศการทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศและระดับนานาชาติ ซึ่งในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 – 29 กุมภาพันธ์ 2567 อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ได้จัดเทศกาลชมสวน 2566 ภายใต้แนวคิด “แอ่วสุขใจ I wanna be (e)” ซึ่งนับเป็นอีกเทศกาลประจำปีที่ยิ่งใหญ่และนักท่องเที่ยวต่างรอคอยที่จะได้ชื่นชมความงามของไม้ดอกเมืองหนาวนานาพรรณ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

โดยมี “ผึ้ง หรือ Bee” นักผสมเกสรเป็น Mascot นำทางนักท่องเที่ยวชมสวนดอกไม้ที่สวยงาม อุดมสมบูรณ์ พรรณไม้นานาชนิดและให้นักท่องเที่ยวมีความสุขจากใช้เวลาร่วมกันกับกลุ่มเพื่อน ครอบครัว หรือคนรัก ผ่านองค์ความรู้ด้านโครงการตามแนวพระราชดำริ โครงการหลวง และการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อมที่ได้ต่อยอดและรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพทั้งทรัพยากรพรรณไม้นานาชนิดมากถึง 18,000 รายการ
รวมทั้งกิจกรรมด้านศิลปะและวัฒนธรรม กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ เป็นต้น อีกทั้ง นักท่องเที่ยวยังจะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้อุทยานหลวงราชพฤกษ์เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีคุณภาพและเป็นพื้นที่ต้นแบบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อย่างยั่งยืนในปี 2570

ภายในงานนักท่องเที่ยวจะได้ชมความสวยงามของไม้ดอกเมืองหนาวนานาพรรณนับล้านดอกที่พร้อมใจกันเบ่งบานงดงามเต็มสวน อาทิ เจอราเนียม ฟอร์เก็ตมีน็อต บีโกเนีย พิทูเนีย ชัลเวีย แพนซี คัสตี้มิลเลอร์ เดซี่ เทียนนิวกีนี ฯลฯ ที่จัดแสดงในพื้นที่ต่างๆ เช่น เรือนกล้วยไม้ : ชมความสวยงาม ความหลากหลายของกล้วยไม้ทั้งพันธุ์แท้และพันธุ์ลูกผสมในบรรยากาศที่ร่มรื่นเย็นสบาย เรือนไม้ดอก : ชมไม้ดอกเมืองหนาว สีสันสวยงามที่เป็นการส่งเสริมอาชีพของเกษตรกรบนพื้นที่สูง เรือนร่มไม้ : สวรรค์แห่งพรรณไม้ร่มชื้น ชมซุ้มไม้ใบที่สวยงาม แม้จะไม่มีสีสันแต่มองแล้วให้ความร่มรื่นชื่นใจ ดอกกุหลาบ : ชมความงามของกุหลาบกว่า 220 สายพันธุ์ รวมทั้งกิจกรรมที่ให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วม เพื่อสร้างความรักและจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม

นภาพร/เชียงใหม่

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป