24/11/2024

รมช.ชาดา เปิดศูนย์ให้ยืมซ่อมแซมอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ ของ อบจ.นครสวรรค์ พร้อมมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

รมช.ชาดา เปิดศูนย์ให้ยืมซ่อมแซมอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ ของ อบจ.นครสวรรค์ พร้อมมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

เมื่อเวลา 10.15 น.วันที่ 18 ธันวาคม 2566 นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดศูนย์ให้ยืมและซ่อมแซมอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ ของอบจ.นครสวรรค์ พร้อมกล่าวมอบโยบาย เรื่อง “รัฐบาลกับการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” และร่วมมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ แก่กลุ่มเป้าหมายครอบคลุมทั้ง 15 อำเภอ รวมจำนวน 1,100 ชิ้น ณ อาคารอเนกประสงค์สัมมนาและจัดแสดงนิทรรศการ ภายในโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวบึงบอระเพ็ด ต.แควใหญ่ อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์

โดยมี นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ เป็นผู้กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยนางวราภรณ์ เสริมภักดีกุล นายกเหล่ากาชาดจังหวัดนครสวรรค์ นางสาวชุติมา เสชัง รอง ผวจ.นครสวรรค์ นายมานพ ศรีผึ้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 4 นครสวรรค์ พรรคภูมิใจไทย นายสัญญา นิลสุพรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดนครสวรรค์ เขต 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ นายพีระเดช ศิริวันสาณฑ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจังหวัดนครสวรรค์ เขต 5 พรรคภูมิใจไทย นายบัญชา เดชเจริญศิริกุล สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคท้องที่ไทย นายจิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครนครสวรรค์ และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมให้การต้อนรับ ซึ่งมีนายแพทย์เอกรินทร์ อุ่นอบ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 3 นครสวรรค์ เป็นผู้กล่าวรายงาน
ในการนี้ พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารอบจ.นครสวรรค์ คณะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนครสวรรค์ สมาชิกสภาอบจ.นครสวรรค์ ทั้ง 36 เขต หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งสริมสุขภาพตำบล อสม. ผู้ที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน จำนวนกว่า 1,200 คน ร่วมให้การต้อนรับและเข้าร่วมในพิธี

กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดนครสวรรค์ โดย อบจ.นครสวรรค์ ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เขตที่ 3 นครสวรรค์ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2564
มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพและตอบสนองความต้องการของคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะกึ่งเฉียบพลัน และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง ในเขตจ.นครสวรรค์ ในด้านการจัดหาและซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ เช่น ไม้เท้า รถนั่ง เบาะรองนั่ง สามล้อโยก เตียง ตามความจำเป็นและเหมาะสม พร้อมทั้งมีการสนับสนุนงบประมาณโครงการจัดสภาพแวดล้อมหรือบริการขั้นพื้นฐานสำหรับผู้มีสิทธิได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ ประกอบด้วย คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะกึ่งเฉียบพลัน และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง ซึ่งปัจจุบันกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดนครสวรรค์ ได้ดำเนินการจัดสภาพที่อยู่อาศัยให้กับกลุ่มเป้าหมายแล้วทั้งสิ้นจำนวน 97 หลัง

และเป้าหมายในปี พ.ศ.2567 จะดำเนินการต่ออีกจำนวน 200 หลัง ซึ่งในปีที่ผ่านมากองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดนครสวรรค์ เป็นกองทุนที่มีผลการดำเนินการดีเด่นในระดับเขต สำหรับการมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ ภายใต้ศูนย์ให้ยืมและซ่อมแซมอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการครั้งนี้ ครอบคลุมทั้ง 15 อำเภอ จำนวน 1,100 ชิ้น ซึ่งแต่ละชิ้นมีผู้ที่ต้องการรอรับการช่วยเหลืออยู่ในพื้นที่อำเภอต่างๆ ครบทุกรายแล้ว ในการนี้จึงได้มีสมาชิกสภาอบจ.นครสวรรค์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งสริมสุขภาพตำบล อสม.ในพื้นที่ เป็นตัวแทนมารับมอบ และภายหลังจากนี้อบจ.นครสวรรค์ จะนำส่งวัสดุ อุปกรณ์ทุกชิ้น ให้กับกลุ่มเป้าหมายถึงบ้านทุกรายโดยเร็วที่สุด

นอกจากกิจกรรมดังกล่าวข้างต้นแล้วภายในงานยังมีการเสวนาวิชาการ เรื่อง“นครสวรรค์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สร้างระบบสุขภาพที่เป็นธรรม” ดำเนินการโดย ดร.วิสุทธิ บุญญะโสภิต กรรมการในคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เขต 3 ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครสวรรค์, ท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์ และนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ร่วมงานอีกด้วย

ต่อจากนั้นทางคณะรมช.ได้เดินทางไปมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ ให้แก่กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่หมู่ที่ 7 บ้านเขาล้อ ต.ดอนคา อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ ประกอบด้วย หลังที่ 1 บ้านนาง ไฮ้ ยศมาน บ้านเลขที่ 251 มีอุปกรณ์เตียงเฟาว์เลอร์ ชนิดมือหมุน รถนั่งคนพิการชนิดพับไม่ได้ทำด้วยโลหะ แบบปรับไม่ได้ และแผ่นรองตัวสำหรับผู้ป่วยอัมพาต หลังที่ 2 บ้านนางไล้ แป้นเพชร บ้านเลขที่ 227 มีอุปกรณ์แผ่นรองตัวสำหรับผู้ป่วยอัมพาต และที่นอนลมแบบลอน และหลังที่ 3 บ้านนางเทศ ฤทธิ์บำรุง บ้านเลขที่ 258/1 มีอุปกรณ์รถนั่งคนพิการชนิดพับไม่ได้ทำด้วยโลหะ แบบปรับไม่ได้
////

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป