11/01/2025

ดอกเตอร์ป้ายแดง สว.-“วันชัย สอนศิริ” จบปริญญาเอก จาก มจร. สมเด็จพระสังฆราชเป็นองค์ประธานประธานปริญญาบัตร

IMG_4926

ดอกเตอร์ป้ายแดง สว.-“วันชัย สอนศิริ” จบปริญญาเอก จาก มจร. สมเด็จพระสังฆราชเป็นองค์ประธานประธานปริญญาบัตร หลังแอบซุ่มศึกษาหลักสูตรพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา 2-3 ปี เผยมูลเหตุทำดุษฎีนิพนธ์ เกิดจากเพลงวอนหลวงพ่อรวย ดังเปรี้ยงปร้าง ทะลุ 300 ล้านวิว วิเคราะห์วิจัยเจาะลึกพบ ศรัทธาของสาธุชนเป็นพลังแห่งความสำเร็จทั้งปวง

วันที่ 10 ธันวาคม 2566 นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา เข้ารับปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต (พธ.ด.) สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) ตำบฃลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชเป็นองค์ประทานปริญญาบัตร การจบการศึกษาขั้นสูงระดับปริญญาเอกทำให้มีศักดิ์และสิทธิ์ใช้คำนำหน้าว่า ดร.หรือ ดอกเตอร์ ซึ่งจะมีการเรียกว่า “สว.ดร.วันชัย สอนศิริ”

นายวันชัย สอนศิริ ได้ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย โดยไปเป็นนิสิตอยู่ที่วิทยาลัยสงฆ์บาฬีศึกษาพุทธโฆส เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว แอบซุ่มศึกษาหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา ได้เข้าศึกษาตามหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยกำหนดอย่างจริงจัง ทั้งการเข้าเรียนในชั้นเรียน ทั้งการทำวิจัยอย่างมุ่งมั่นทุ่มเท ในฐานะที่ตัวเองเคยศึกษาพระพุทธศาสนา สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค ก็เอามาเป็นข้อมูลและพื้นฐานต่อยอดในการศึกษาวิชาพระพุทธศาสนา ทั้งได้ทำดุษฎีนิพนธ์ในเรื่อง “กระบวนการสร้างศรัทธาและพัฒนาปัญญา กรณีศึกษาของหลวงพ่อรวย วัดตะโก” เพื่อต้องการวิเคราะห์วิจัยให้เห็นว่าทำไมหลวงพ่อรวยจึงสร้างศรัทธาและพัฒนาปัญญาให้กับสาธุชนคนไทยได้มากมายขนาดนี้
มูลเหตุจูงใจที่นายวันชัยได้ทำดุษฎีนิพนธ์เรื่องนี้ มาจากที่ในขณะนั้นเพลง”วอนหลวงพ่อรวย” ที่ขับร้องโดยมนต์แคน แก่นคูน จาการประพันธ์คำร้อง ทำนองโดยครูสลา คุณวุฒิ ดังเปรี้ยงปร้าง มียอดวิวถึง 300 ล้านวิว และคนมากราบไหว้สรีระสังขารของท่านที่วัดตะโกวันละเป็นหมื่นๆคน วัตถุมงคลกี่รุ่นๆ ออกมาก็จำหน่ายได้หมด ทำให้นายวันชัยเกิดความคิดว่าระหว่างศรัทธาที่มีปัญญากับศรัทธาที่งมงายนั้นมันเกิดจากอะไร ศรัทธาที่มีต่อหลวงพ่อรวยนั้นเป็นศรัทธาที่สร้างปัญญาหรือสร้างความงมงาย จึงทำการวิจัยศึกษาในเรื่องนี้อันเกี่ยวกับศรัทธาในพระพุทธศาสนา และกระบวนการสร้างปัญญาในพระพุทธศาสนา และหลวงพ่อรวยท่านทำให้คนศรัทธาและสร้างปัญญาตามแนวทางพระพุทธศาสนาได้อย่างไร เป็นดุษฎีนิพนธ์ที่วิเคราะห์เจาะลึกจากข้อมูลต่างๆที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนาและจากการสัมภาษณ์พระเถระและนักวิชาการต่างๆมากมาย นำมาประมวลสรุปเป็นดุษฎีนิพนธ์ที่ทำให้เห็นว่าศรัทธาเป็นพลังอย่างสำคัญที่จะก่อให้เกิดความสำเร็จทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้าที่การงาน การสังคม การประเทศและการพัฒนาจิตใจที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานต้องมีศรัทธาที่ตั้งมั่นเป็นเบื้องต้น ซึ่งหลวงพ่อรวยท่านทำและปฏิบัติได้จริง มีให้เห็นเป็นปรากฏ
ประวัติ หลวงพ่อรวย ปาสาทิโก เกจิดังแห่งวัดตะโก ตำบลดอนหญ้านาง อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกิดเมื่อปี 2464 มรณภาพปี 2560 อายุ 95 ปี 76 พรรษา บทเพลงวอนหลวงพ่อรวย ขึ้นต้นว่า “หอบใจโซๆ มาวัดตะโก กราบหลวงพ่อรวย การเงินมันติด ชีวิตมันป่วย ตัวช่วยไม่มีเลยพ่อ….”
นายวันชัยได้เข้าเรียน เข้าทำงาน เข้าสอบและไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามหลักสูตรที่กำหนด ทั้งทำกิจกรรมต่างๆ ตามที่มหาวิทยาลัยกำหนดได้อย่างครบถ้วน แม้ว่างานการเมืองในส่วนของสว.จะมีอยู่เต็มมือก็ไม่ลดละในการเรียน ถือว่าเป็นนิสิตที่ตั้งใจมุ่งมั่นทุ่มเทต่อการศึกษาอย่างแท้จริง แม้จะอายุ 70 ปีแล้ว งานส่วนตัว ส่วนรวมก็มาก แต่ก็ไม่ย่อหย่อนต่อการศึกษา
สว. ดร.วันชัย กล่าวว่า รู้สึกยินดีและภูมิใจอย่างมากที่จบการศึกษาปริญญาเอก ได้เป็นศิษย์ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หรือ มจร. แม้สถานที่เรียนจะอยู่ถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและนครปฐม แต่ก็ไม่ได้ไกลเกินไปที่จะเดินทางไปเรียน ด้วยความเพียรพยายามศึกษาค้นคว้า การฟังคำบรรยายจากอาจารย์ผู้สอน และชีวิตตัวเองมีพื้นฐานด้านพระพุทธศาสนา จึงไม่ได้เป็นเรื่องยากเกินไปที่จะเข้าใจบทเรียนต่างๆ ขอฝากไปยังผู้ที่ลังเลใจไม่อยากเรียนหนังสือโดยคิดว่า ตัวเองแก่แล้ว หรืออายุมากแล้ว ขอให้คิดว่า อายุมิได้เป็นข้อจำกัดหรือเป็นอุปสรรคใดๆเลย หากรักการเรียนรู้ มีสติปัญญา มีความวิริยะอุตสาหะ การไปเรียนหนังสือ เรียนรู้ต่างๆ เราจะพบเพื่อน พบอาจารย์ เปิดสังคมให้กว้างขึ้น เป็นความสุขใจและรู้สึกว่าชีวิตตัวเองมีคุณค่า สติปัญญายังดี นอกจากนี้ ยังสามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปทำประโยชน์ให้บ้านเมืองได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้ง เป็นที่รักใคร่ชื่นชม เป็นแบบอย่างที่ดีของครอบครัวและญาติพี่น้องที่จะมองเห็นว่า การศึกษาเรียนรู้ไม่มีวันจบสิ้่น ที่สำคัญ ยังช่วยให้เรามีอายุยืนยาวอีกด้วย
//

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป