รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดประชุมวิชาการประกันสังคม ภูมิภาค (ภาคใต้) ภายใต้หัวข้อ “SSO Innovative and Data Driven ชูนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านบริการประกันสังคมที่ทันสมัย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดประชุมวิชาการประกันสังคม ภูมิภาค (ภาคใต้) ภายใต้หัวข้อ “SSO Innovative and Data Driven ชูนวัตกรรมเทคโนโลยีด้านบริการประกันสังคมที่ทันสมัย เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตน พร้อมกับลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประกันตนป่วยทุพพลภาพ
วันนี้ (7 ธ.ค. 66) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงานประชุมวิชาการประกันสังคม ภูมิภาค (ภาคใต้) ภายใต้หัวข้อ “SSO Innovative and Data Driven 33 ปี ก้าวสู่องค์กรแห่งนวัตกรรม เพื่อกรบริการที่ทันสมัย” พร้อมมอบนโยบายขับเคลื่อนกระทรวงแรงงานเข้าสู่กระทรวงเศรษฐกิจ โดยมี นายนันธวัช เจริญวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี ร่วมต้อนรับ พร้อมด้วย นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานประกันสังคม ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง ผู้ประกันตนจากทั่วภาคใต้ ร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การจัดประชุมวิชาการประกันสังคม ภูมิภาค (ภาคใต้) ถือเป็นภูมิภาคที่สำคัญ มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติ แหล่งผลิตพืชเศรษฐกิจ ทั้งยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้หลากหลายชนิด ซึ่งมีแนวโน้มในการพัฒนาทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจภาคใต้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องของการท่องเที่ยว ตลาดแรงงาน โดยภาคใต้มีสถานประกอบการในระบบประกันสังคมกว่า 55,000 แห่ง มีผู้ประกันตนทุกมาตรา กว่า 2.7 ล้านคน ขณะที่ภาพรวมทั้งประเทศ มีอยู่กว่า 23 ล้านคน ดังนั้นสำนักงานประกันสังคม จึงต้องจัดเก็บข้อมูลแรงงาน เพื่อบูรณาการการเชื่อมโยงข้อมูลในองค์กร และนำเทคโนโลยีและอุปกรณ์ดิจิทัลมาสนับสนุนการปฏิบัติงาน ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงสู่รัฐบาลดิจิทัล ทำให้สามารถวิเคราะห์ เปรียบเทียบข้อมูลเชิงลึก นำไปสู่การแก้ไขปัญหาและตอบสนองความต้องการของผู้ประกันตน พร้อมพัฒนาสิทธิประโยชน์ และให้บริการผู้ประกันตน อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพิ่มยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมากระทรวงแรงงาน เป็นหน่วยงานด้านสังคม มีภารกิจช่วยเหลือ ให้บริการเป็นหลัก แต่หากมองภารกิจในการส่งแรงงานออกไปทำงานต่างประเทศ จะพบว่า สามารถนำรายได้เข้าประเทศ ราว 100,000 ล้านบาทต่อปีและที่สำคัญ แรงงานไทยเป็นแรงงานคุณภาพ มีทักษะฝีมือสูง จึงได้รับความนิยมจากหลายๆ ประเทศ จึงได้วางเป้าหมายการส่งออกแรงงานไปทำงานต่างประเทศ อย่างน้อยปีละ 1.5 ล้านคน
จากนั้น นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพร้อมให้กำลังใจผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพในจังหวัดสุราษฏร์ธานี จำนวน 2 ราย พร้อมกับ นำของใช้เครื่องอุปโภค บริโภค ที่จำเป็น มามอบให้ผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพ โดยมีครอบครัวผู้ประกันตนให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
โดยผู้ประกันตนรายแรกคือ นายไพศิษฐ์ สินพูลเกิด อายุ 57 ปี เป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 อาศัยอยู่กับภรรยาและบุตร ในตำบลมะขามเตี้ย อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทุพพลภาพจากโรคเส้นเลือดในสมองแตก เป็นเหตุให้แขนและขาข้างขวาอ่อนแรง พูดได้ไม่ชัดเจน ไม่สามารถเดินได้ สูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายร้อยละ 70 ได้รับสิทธิเป็นผู้ทุพพลภาพตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เดือนละ 2,400 บาท ตลอดชีวิต และผู้ประกันตนรายที่ 2 คือ นายเฉลิมชัย รุ่งเรือง อายุ 52 ปี เป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 อาศัยอยู่กับภรรยาและบุตร ในตำบลมะขามเตี้ย อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทุพพลภาพจากโรคไขสันหลังอักเสบ เป็นเหตุให้ขาทั้ง 2 ข้างอ่อนแรง เดินได้โดยใช้ไม้เท้าช่วยพยุง ช่วยเหลือตนเองได้บางส่วน สูญเสียสมรรถภาพในการทำงานของร่างกายร้อยละ 50 ได้รับสิทธิเป็นผู้ทุพพลภาพตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2558 ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้เดือนละ 2,400 บาท
ด้าน นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า ไม่ว่าผู้ประกันตนจะอยู่ที่ใดก็ตาม สำนักงานประกันสังคมพร้อมให้ความช่วยเหลือ ดูแลอย่างทั่วถึงเพื่อให้ผู้ประกันตนมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยยึดถือประโยชน์สูงสุดของผู้ประกันตนเป็นสำคัญ
สรเดช ส้มเกลี้ยง สุราษฎร์ธานี