25/12/2024

เชียงใหม่-จังหวัดเชียงใหม่ประกาศความร่วมมือกับภาคี ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “12 เดือน 12 เทศกาล” สู่กลไกพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และล้านนาซอฟต์พาวเวอร์ ขานรับนโยบายรัฐบาล

S__73252883_0

เชียงใหม่-จังหวัดเชียงใหม่ประกาศความร่วมมือกับภาคี ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “12 เดือน 12 เทศกาล” สู่กลไกพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และล้านนาซอฟต์พาวเวอร์ ขานรับนโยบายรัฐบาล

 

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 ณ ห้องประชุมเวียงฟ้า โรงแรมรติล้านนา ริเวอร์ไซด์ สปา รีสอร์ท เชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร  ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประทานในพิธีลงนามเอกสารข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนการพัฒนาเทศกาลประจำเมืองของจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมการค้าวิศิษฏ์ล้านนาเพื่ออุตสาหกรรมไมซ์และการท่องเที่ยว และบริษัท NIANTIC, INC. เพื่อร่วมกันพัฒนาเทศกาลระดับนานาชาติภายใต้ยุทธศาสตร์ “12 เดือน 12 เทศกาล” ของจังหวัด โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงจากต่างประเทศ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับท้องถิ่น และส่งเสริมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ให้กับประเทศไทยตามนโยบายของรัฐบาล

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร  ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเน้นย้ำความพร้อมในการจัดงานเทศกาลและอีเวนต์ในระดับนานาชาติของจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งในด้านความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่มีคุณภาพ จนได้รับรางวัลจากสมาคมเทศกาลนานาชาติ (International Festival and Event Association,IFEA) ในฐานะเมืองเทศกาลและอีเวนต์โลกเป็นเมืองแรกแห่งอาเซียน ซึ่งเป็นการยืนยันศักยภาพของจังหวัดเชียงใหม่ในฐานะเมืองที่มีเทศกาลเป็นทุนแห่ง Soft Power ในระดับสากล

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้แทน สกสกว. ระบุถึงความสำคัญในใช้การวิจัยขับเคลื่อนการจัดงานเทศกาลไปสู่ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์และซอฟต์พาวเวอร์ เนื่องจากการพัฒนาเทศกาลมีความท้าทายเชิงความรู้ในหลายมิติ ทั้งในด้านการศึกษากลุ่มเป้าหมายและออกแบบประสบการณ์ที่สร้างความประทับใจให้กับผู้มาเยือน การวางแผนและพัฒนาองค์กรเพื่อการบริหารจัดการเทศกาล  รวมถึงการออกแบบและจัดเตรียมพื้นที่ พร้อมเน้นย้ำว่าการออกแบบเทศกาลประจำเมืองในฐานะประสบการณ์พิเศษที่นักท่องเที่ยวจะได้รับจากการเข้าร่วมงานในพื้นที่เท่านั้น จึงจะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยได้รับการเลือกเป็นหมุดหมายในการเดินทางของนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงในยุคสมัยนี้

ส่วน รศ.ดร. ธงชัย สุวรรณสิชนน์ ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับบทบาทของหน่วยงานด้านการวิจัยและวิชาการว่า ในการพัฒนาและออกแบบเทศกาล นักวิจัยและสถาบันการศึกษาเปรียบเสมือนหน่วย Thinktank ของเมืองที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลในด้านต่างๆ เพื่อกำหนดเป้าหมาย พัฒนายุทธศาสตร์และกลยุทธ์ทั้งกิจกรรม การจัดเตรียมพื้นที่ และการประชาสัมพันธ์  รวมถึงวางแผนการดำเนินการและรูปแบบความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดงานเทศกาล แต่สิ่งที่เป็นศักยภาพพิเศษของจังหวัดเชียงใหม่ คือ ความร่วมมือกับระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนในการร่วมกันจัดงานและพัฒนารูปแบบการในระยะยาว เพื่อให้งานเทศกาลเกิดผลเป็นรูปธรรมและสร้างผลลัพธ์ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนในจังหวัดเชียงใหม่

จังหวัดเชียงใหม่และภาคีได้ประเดิมผลลัพธ์จากความร่วมมือในการจัดงานเทศกาลยี่เป็ง วันเพ็ญเดือนสิบสอง เพื่อใช้เป็นกลไกการพัฒนาการท่องเที่ยวและพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของจังหวัด  โดยในปี 2566 นี้
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับเหล่าภาคีในการสร้างประสบการณ์ใหม่สำหรับการเที่ยวงานยี่เป็ง เพื่อสร้างความแตกต่างให้นักท่องเที่ยวช่วงเทศกาลลอยกระทงของไทย โดยชูจุดขายการย้อนวัฒนธรรมยี่เป็งแห่งล้านนา เล่าเรื่องผ่านกิจกรรมวิถีถิ่น เช่น การจุดผางประทีป ล่องสะเปา จัดทำเส้นทางเดินชมเมืองเชียงใหม่ยามค่ำคืน

พร้อมกับประกาศความพร้อมตอบนโยบายรัฐบาลในการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย สร้างรายได้สู่ท้องถิ่นอย่างแท้จริง  และมีไฮไลท์สำคัญของงาน คือ การร่วมมือกับบริษัท Niantic, Inc. ผู้เป็นเจ้าของเกม Pokémon GO ในการพัฒนาเส้นทางพิเศษ (route) ภายในเกมที่จะเปิดให้บริการขึ้นในช่วงเทศกาลครั้งนี้ (Pokémon GO x Yi-Peng) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่เกม Pokémon GO จะร่วมมือกับเทศกาลท้องถิ่นในการสร้างประสบการณ์ใหม่ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล  ซึ่งนับได้ว่าเป็นนวัตกรรมและปรากฏการณ์ครั้งสำคัญในการจัดงานเทศกาลประจำเมืองในประเทศไทย

นภาพร/เชียงใหม่

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป