นราธิวาส-วันที่อยู่อาศัยโลก(ภาคใต้)ปัตตานีชูเมืองบางตาวา “ผนึกพลังเครือข่ายชุมชน สู่การพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน”
นราธิวาส-วันที่อยู่อาศัยโลก(ภาคใต้)ปัตตานีชูเมืองบางตาวา “ผนึกพลังเครือข่ายชุมชน สู่การพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน”
ณ ชุมชนบ้านบางตาวา หมู่ที่ 2 ตำบลบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
ตามที่ องค์การที่อยู่อาศัยแห่งสหประชาชาติ (UN – HABITAT) ได้กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปีเป็นวันที่อยู่อาศัยโลก (World Habitat Day) ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2528 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศต่างๆ ในโลกได้ให้ความสนใจกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตลอดจนสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และเพื่อสร้างความตระหนักในความรับผิดชอบร่วมกันในการจัดการให้มนุษย์ทุกคนมีที่อยู่อาศัยในอนาคต เป็นการปฏิบัติกันทั่วโลก ภายใต้การแก้ปัญหาตามแผน 40/202 ในวันที่ 17 ธันวาคม 1985 โดยงาน World Habitat Day ประจำปี 2566 ตรงกับวันที่ 2 ตุลาคม 2566 ภายใต้หัวข้อ เศรษฐกิจเมืองที่ยืดหยุ่น มีเมืองเป็นกลไกหลักในการฟื้นฟูและสร้างความเจริญ โดย นางพาตีเมาะ สะดียามู เป็นประธานเปิดงาน วันที่อยู่อาศัยโลก (ภาคใต้) นาย เอกสิทธิ์ สองเมือง นายอำเภอหนองจิก นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ประธานอนุกรรมการบ้านมั่นคงและการจัดการที่ดิน นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) นาย วรวุฒิ พิทักษ์สันติกุล หัวหน้าสำนักงานบริหารจัดการทรัพยกรป่าชายเลนจังหวัดปัตตานี หัวหน้าส่วนราชการภาคีท้องที่ท้องถิ่น
ซึ่งในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลได้ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งได้กำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัยแห่งชาติระยะ 20 ปี (ตั้งแต่ 2560 – 2579) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ขับเคลื่อนการทำงานด้านที่อยู่อาศัยทั้งเมืองและชนบท จำนวน 1.05 ล้านครัวเรือน ผ่านการแก้ไขปัญหาด้วยโครงการบ้านมั่นคงเมือง บ้านมั่นคงชนบท บ้านพอเพียง และศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน โดยให้ชุมชนเป็นแกนหลัก ผู้เดือดร้อนเป็นเจ้าของปัญหา ดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งเมือง โดยสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับท้องถิ่นและทุกภาคส่วน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดกิจกรรมวันที่อยู่อาศัยโลกต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี และเนื่องด้วยปัจจุบันการดำเนินงานของ พอช. ก้าวเข้าสู่ปีที่ 23 ของการจัดตั้งองค์กร ดังนั้นการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก ประจำปี 2566 นอกจากจะเป็นการร่วมเฉลิมฉลอง และรณรงค์การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน นำเสนอรูปธรรมการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนร่วมกับท้องถิ่น รวมถึงการผลักดันนโยบายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินในรูปแบบการแก้ไขปัญหาระดับตำบล และที่อยู่อาศัยเมืองแล้วนั้น ยังถือโอกาสในการทบทวนขบวนการ สรุปบทเรียน จัดการความรู้ สรุปผลการดำเนินงานการพัฒนาที่อยู่อาศัยในระยะ 20 ปีที่ผ่านมาอย่างเป็นรูปธรรม และการมองทิศทางการสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยต่อขบวนองค์กรชุมชนในอนาคต
รวมถึงการวางแผนสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนา ที่อยู่อาศัยในระยะต่อไป ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก โดยเชื่อมโยงการให้ความสำคัญต่อประเด็นงาน การสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ผลักดันเชิงนโยบายในปัญหาข้อติดขัดการแก้ปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัย ทั้งเมืองและชนบท และผลักดันนโยบายเรื่องการใช้ที่ดินในพื้นที่ชุมชนชายฝั่ง ที่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหา และกระจายอำนาจ สู่ท้องถิ่นจัดการตนเอง ภายใต้แนวคิด ขับเคลื่อนนโยบายด้านสังคม โดยขบวนองค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก จึงกำหนดการจัดงาน มหกรรมที่อยู่อาศัยภาคใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมวันที่อยู่อาศัยโลก ภายใต้ ชื่อ ผนึกพลังเครือข่ายชุมชน สู่การพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน ซึ่งกำหนดจัดขึ้นที่จังหวัดปัตตานี การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่ภาคใต้ ภายใต้ โครงการบ้านมั่นคงภาคใต้ ได้รับอนุมัติงบประมาณสนับสนุนการพัฒนา ตั้งแต่ปี 2546 – 2566 ครอบคลุม 14 จังหวัด จำนวน 98 เมือง 246 ชุมชน 24,522 ครัวเรือน งบประมาณรวม 1,193.29 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น โครงการบ้านมั่นคงเมือง 80 เมือง 205 ชุมชน 20,880 ครัวเรือน งบประมาณรวม 1,036.58 ล้านบาท โครงการบ้านมั่นคงชนบท จำนวน 18 เมือง 41 ชุมชน 3,642 ครัวเรือน งบประมาณ 156.71 ล้านบาท โครงการบ้านพอเพียง (การซ่อมแซม ปรับปรุง ครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยในชนบท) ดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 – 2566 จำนวนทั้งสิ้น 697 ตำบล 24,694 ครัวเรือน งบประมาณรวม 476.89 ล้านบาท ในส่วนของจังหวัดปัตตานี มี 12 อำเภอ 96 ตำบล 19 เทศบาลตำบล/เมือง 617 หมู่บ้าน ได้ดำเนินงานพัฒนาขบวนองค์กรชุมชนในจังหวัดปัตตานี จำนวน 112 ตำบล/เทศบาล คิดเป็น ร้อยละ 97.39 ของพื้นที่ทั้งหมด 115 ตำบล
โดยใช้กระบวนการสำรวจข้อมูลเป็นเครื่องมือในการสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของชาวบ้านและผู้เดือดร้อน สร้างเวทีแลกเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่ขั้นตอนการหาแนวทางแก้ไขปัญหาและนำเสนอข้อมูลชุมชน วิเคราะห์ประเด็นปัญหา การพัฒนาหมู่บ้านของตัวเองร่วมกับผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น เป็นการสำรวจเพื่อทำแผนการพัฒนาที่จะนำไปสู่การจัดการตนเอง ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มุ่งเน้นการสร้างแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนในพื้นที่ สร้างทีมงานของขบวนชุมชนให้มีความรู้ความสามารถ เป็นผู้ขับเคลื่อนงานด้วยขบวนชาวบ้านเป็นหลัก นำไปสู่การเสนอแผนการพัฒนาชุมชนของคนทั้งตำบลร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นและเครือข่ายองค์กรชุมชน ตั้งแต่ปี 2549 – 2562 มีจำนวน 7 เมือง 18 ชุมชน ผู้รับประโยชน์ 2,826 ครัวเรือน งบประมาณรวมทั้งสิ้น จำนวน 100.28 ล้านบาท และ โครงการบ้านพอเพียง ดำเนินการตั้งแต่ปี 2560 – 2566 ในพื้นที่จำนวน 59 ตำบล ผู้รับประโยชน์ 2,113 ครัวเรือน ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณรวม 41.96 ล้านบาท ปี 2560 – 2565 สร้าง-ซ่อมบ้านเสร็จแล้ว 100% ในปี 2566 สนับสนุนการซ่อมสร้าง จำนวน 52 ตำบล 677 ครัวเรือน นอกจากนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ยังมีการขับเคลื่อนงานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดปัตตานี ได้แก่ การจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล มีการจดแจ้งจัดตั้งจำนวนทั้งสิ้น 112 ตำบล/เทศบาล ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดปัตตานี
มีองค์กรที่จดแจ้งภายใต้สภาองค์กรชุมชน จำนวน 1,602 องค์กร จำนวนสมาชิกรวม 2,462 คน จากผู้แทนชุมชน จำนวน 2,137 คน ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 325 คน หมู่บ้านที่เข้าร่วมจดแจ้ง จำนวน 558 หมู่บ้าน การจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน มีการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาล/ตำบล 106 กองทุน มีสมาชิกจำนวน 65,389 คน มีเงินกองทุนจำนวนทั้งสิ้น 109,231,693.04 บาท โดยมาจากการสมทบของสมาชิกจำนวน 58,568,644 บาท ได้รับการสมทบจากรัฐบาลผ่านสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนจำนวน 42,243,591.75 บาท การสมทบจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จำนวน 4,261,121 บาท จากหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ (ที่นอกเหนือจากการสมทบที่ผ่าน พอช.) จำนวน 652,245 บาท จากอื่นๆ (เงินบริจาค, ดอกเบี้ยธนาคาร, ค่าธรรมเนียมแรกเข้า,สมทบจากผลกำไรกลุ่มองค์กรในชุมชน) จำนวน 3,506,091.29 บาท และมีการจัดสวัสดิการให้กับสมาชิก 15 ประเภท รวมผู้ได้รับประโยชน์สะสม จำนวน 65,920 ราย รวมเงินที่จ่ายสวัสดิการสะสม จำนวน 45,553,410 บาท ในปี 2566 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันฯ จำนวน 57 กองทุน สมาชิกครบปี 24,219 คน เป็นเงิน 4,052,535 บาท และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท มีการสนับสนุนการขับเคลื่อนงานพัฒนาคุณภาพชีวิต ผู้มีรายได้น้อยในชนบท ในปี 2563 จำนวนทั้งสิ้น 30 ตำบล ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณตำบลละ 45,000 บาท รวมทั้งสิ้น 1,350,000 บาท ในปี 2564 สนับสนุนการขับเคลื่อน จำนวน 3 ตำบล ภายใต้งบประมาณ 196,000 บาท และปี 2565 สนับสนุนการขับเคลื่อน จำนวน 22 ตำบล ภายใต้งบประมาณ 1,430,000 บาท เพื่อช่วยเหลือ ผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองและชนบทด้านการพัฒนาอาชีพและการเพิ่มรายได้ เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน ทำให้สมาชิกในชุมชนได้ดูแลและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ตำบลบางตาวา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีตำบลบางตาวา มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล แต่ปรากฏว่าคลองบางตาวา (คอลอตาวา) มีน้ำจืดตลอดปี ชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า “กวาลออาเยร์ตาวา” ซึ่งแปลว่า “ปากบางน้ำจืด” ต่อมาได้เปลี่ยนคำหลังเป็น “ตาวา” แปลว่า น้ำจืด และให้ชื่อตำบลว่า “บางตาวา” ราษฎรในหมู่บ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการประมงเป็นอาชีพหลัก และรับจ้างเป็นอาชีพรองตำบลบางตาวาทั้งตำบลอยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลบางตาวา จากการสำรวจข้อมูลมีผู้เดือดร้อนด้านที่ดินและที่อยู่อาศัย ในชุมชน จำนวน 683 ครัวเรือน อาศัยอยู่ในที่ดินป่าชายเลน ปัจจุบันได้รับการสนับสนุนการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการบ้านมั่นคง รูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยปรับปรุงในที่ดินเดิม ที่ดินรัฐ จำนวน 2 โครงการ โดยมีผู้เดือดร้อนที่เข้าหลักเกณฑ์ได้รับการสนับสนุนโครงการ จำนวน 392 ครัวเรือน งบประมาณรวมทั้งสิ้น 14,035,850 บาท
กลุ่มออมทรัพย์ชุมชนบ้านปากบางตาวา หมู่ที่ 1 จำนวนครัวเรือนผู้เดือดร้อน 233 ครัวเรือน งบประมาณ 7,612,100 บาท แยกเป็น งบพัฒนาระบบสาธารณูปโภค จำนวน 1,702,000 บาท งบอุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย จำนวน 5,825,000 บาท งบบริหารจัดการปรับปรุงชุมชนและภาคี จำนวน 85,100 บาท
ปัจจุบันกลุ่มออมทรัพย์ชุมชนบ้านปากบางตาวา หมู่ที่ 1ได้ดำเนินการสร้างบ้านแล้วเสร็จจำนวน 233 ครัวเรือน อยู่ระหว่างดำเนินการปิดโครงการกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
กลุ่มออมทรัพย์บางตาวาหมู่ที่ 2 จำนวนครัวเรือนผู้เดือดร้อน 159 ครัวเรือน งบประมาณ 6,423,750 บาท
งบพัฒนาระบบสาธารณูปโภค จำนวน 1,575,000 บาท งบอุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย จำนวน 4,770,000 บาท งบบริหารจัดการปรับปรุงชุมชนและภาคี จำนวน 78,750 บาท
ปัจจุบันได้ดำเนินการเบิกจ่ายงบประมาณลงสู่ชุมชนแล้วในงวดที่1จำนวน 4,474,700 บาท แบ่งเป็น งบอุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย 119 ครัวเรือน จำนวน 3,570,000 บาท งบพัฒนาระบบสาธารณูปโภค จำนวน 885,000 บาท งบบริหารจัดการปรับปรุงชุมชน 19,700 บาท อยู่ระหว่างดำเนินการในพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้
ทั้งนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกับหน่วยงานภาคี ท้องที่ ท้องถิ่นในพื้นที่เทศบาลตำบลบางตาวา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดปัตตานี สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 39 โรงเรียน สถาบันการศึกษาในพื้นที่ตำบลบางตาวา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และ สำนักงานเจ้าท่าสาขาปัตตานี บูรณาการการทำงานร่วมกันภายใต้ คณะทำงานแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยตำบลบางตาวา อำเภอหนอกจิก จังหวัดปัตตานี เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ตำบลบางตาวา ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ให้มีกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนและสนับสนุน การดำเนินงานการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยและคุณภาพชีวิต ของพี่น้องประชาชน ทุกมิติ ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานภาคีภาครัฐและเอกชนในพื้นที่
ข่าว.แวดาโอ๊ะ หะไร จ.นราธิวาส