19/09/2024

กระบี่ – ผลการตรวจสอบรอยร้าวในผนังถ้ำผีหัวโต ตำบลอ่าวลึกใต้ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ .

กระบี่ – ผลการตรวจสอบรอยร้าวในผนังถ้ำผีหัวโต ตำบลอ่าวลึกใต้ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่
.
สำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 4 ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณีเข้าตรวจสอบถ้ำผีหัวโต พิกัดอ้างอิง 47P 465520E 926523N กรณีมีรอยแตกร้าวที่ผนังและหินร่วง พบว่ารอยแตกร้าวที่พบบริเวณผนัง ส่วนใหญ่เป็นรอยเดิมในอดีต มีรอยแตกเพิ่มใหม่เล็กน้อย และมีการร่วงหล่นของหินย้อยจากเพดานถ้ำที่มีรอยแตกเดิม จำนวน 5 จุด นอกจากนี้ยังพบหินย้อยเดิมที่เคยแตกหล่นลงมาในอดีต#ความเสียหาย เสากั้นบริเวณแนวทางเดิน ชำรุดเนื่องจากการตกกระแทกของหินย้อยบนเพดาน

#ลักษณะธรณีวิทยา ถ้ำผีหัวโต ตั้งอยู่ในภูเขาหินปูน หินปูนเนื้อโดโลไมต์ ลูกโดด ลักษณะภูมิประเทศแบบคาสต์รูปหอคอยและกรวย (Tower and Cone Karst) โถงถ้ำมีการวางตัวในแนวตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ อยู่ในหมวดหินพับผ้า กลุ่มหินราชบุรี ยุคเพอร์เมียนตอนกลาง (อายุประมาณ 280-270 ล้านปีก่อน) พบซากดึกดำบรรพ์จำพวกปะการัง แบรคิโอพอด แกสโตรพอด ไครนอยด์ และฟองน้ำ เป็นต้น เนื้อหินปูนในบางช่วงแสดงลักษณะหินปูนเนื้อเม็ดไข่ปลา (Oolitic limestone) จากการสำรวจพบรอยแตกหลายทิศทาง ส่วนใหญ่วางตัวในทิศทางตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ และทิศทางตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้

#สาเหตุ
1.รอยแตกที่ผนังถ้ำส่วนใหญ่เป็นรอยแตกเดิม และพบรอยแตกใหม่ขนาดเล็กที่เกิดจากรอยแตกเดิม คาดว่าเกิดจากการทรุดตัวของพื้นถ้ำ ส่งผลให้เกิดแรงสั่นสะเทือน
2.หินที่ร่วง คาดว่าเกิดจากการสั่นสะเทือนจากรอยแตกที่เพิ่มขึ้น
การดำเนินงานทธ.
1.ชี้แจงสาเหตุการเกิดรอยแตกและหินร่วง
2.แจ้งให้อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณีซึ่งเป็นผู้ดูแลพื้นที่ ให้เฝ้าระวังและกำหนดแนวทางด้านความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว

#ข้อเสนอแนะ
1.ขอให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณีเข้าตรวจสอบพื้นที่ถ้ำผีหัวโตในทุกเช้าก่อนเปิดบริการนักท่องเที่ยว หากพบหินร่วงหรือจุดแตกเพิ่มเติม ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณีทราบ
2. สทข. 4 ประสาน กธว.และ กธส. เพื่อร่วมกันสำรวจในรายละเอียด เพื่อกำหนดพื้นที่ปลอดภัยและแนวทางป้องกันต่อไป

Cr. สำนักงานทรัพยากรธรณีสุราษฏร์ธานี

ข้อมูลข่าว / ภาพ
มโนธรรม ใจหาญ จ.กระบี่ รายงาน

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป