27/01/2025

ผู้ช่วย ผบ.ตร. เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

IMG_2307

ผู้ช่วย ผบ.ตร. เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เปิดโครงการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ที่ห้องประชุมมหาศาลาหทัยนเรศวร์ วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นประธานในพิธีเปิด โครงการสร้างเครือขายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมระดับตําบล ของตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพระสุวรรณเมธี (แสวง ปญฺญาปโชโต) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร ประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วย พล.ต.ท.กฤตธาพล ยี่สาคร ผบช.ภ.5, พล.ต.ต.ไพศาล ลือสมบูรณ์ รอง ผบช.ภ.5, พล.ต.ต.ธวัชชัย พงษ์วิวัฒนชัย ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่, นายยุทธพงษ์ ไชยศร นายอำเภอจอมทอง, พ.ต.อ.พงษ์เดช คำใจสู้ รอง ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ พร้อมด้วยหัวหน้าสถานีตำรวจภูธรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ข้าราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมในการเปิดอบรมโครงการในครั้งนี้

พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. เปิดเผยว่า โครงการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการป้องกันอาชญากรรมระดับตำบล ตามยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน (Stronger Together) ของรัฐบาล โดยได้กำหนดเป้าหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดยุทธศาสตร์ การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกมิติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ซึ่งได้ให้ความสำคัญและนำนโยบายรัฐบาลมาสู่การปฏิบัติ โดยสั่งการให้ทุกหน่วยดำเนินโครงการ “สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชนในการป้องกันอาชญากรรมระดับตำบล เพื่อสนับสนุนการป้องกันอาชญากรรม ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามนโยบายขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน (Stronger Together)” โดยมีเป้าหมาย “เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอและแก้ไขปัญหา ชุมชนสังคมความสงบเรียบร้อย ประชาชนมีอาชีพมีรายได้ ส่งเสริมวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว เพื่อความผาสุกของประชาชนอย่างยั่งยืน”
จึงได้กำหนดให้ทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศดำเนินการ ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 5 แล้วที่ได้ดำเนินการมา ซึ่งตอนนี้เรามีเครือข่าย จำนวน 590,000 กว่าคนทั่วประเทศ โดยได้มีการขอความร่วมมือจากเครือข่ายในการมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นผู้นำชุมชนปราชญ์ท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน ให้สะท้อนถึงปัญหาของในแต่ละพื้นที่ ซึ่งในแต่ละพื้นที่จะมีปัญหาที่ไม่เหมือนกัน อีกทั้งเพื่อจะได้บูรณาการความร่วมมือของส่วนราชการภาคเอกชน และประชาชน ทุกภาคส่วน รวมพลังกัน เพื่อทำนุบำรุงสถาบันหลักของชาติ ได้แก่ ชาติ ศาสนา และ พระมหากษัตริย์ ตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในทุกมิติ เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชน มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน สืบไป ซึ่งการจัดฝึกอบรมประชาชนตามโครงการสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการป้องกันอาชญากรรมระดับตำบล ของ ภ.จว.เชียงใหม่ ครั้งนี้ มีผู้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 1,900 คน โดยเป็นผู้แทนของประชาชนในพื้นที่ตำบลต่างๆ ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสถานีตำรวจในสังกัด 38 สถานี สถานีตำรวจละ 50 คน ใช้เวลาฝึกอบรม รุ่นละ 1 วัน รวมทั้งสิ้น จำนวน 3 รุ่น ในวันนี้ เป็นการอบรม รุ่นที่ 1 มีผู้แทนประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบของ สภ.จอมทอง, ดอยหล่อ, ฮอด, บ่อหลวง, ดอยเต่า, แม่กา, แม่แจ่ม, อมก๋อย และแม่ตื่น รวมทั้งสิ้น 500 คน โดยมีคณะวิทยากรผู้มีความรู้ ความสามารถจากภาครัฐและเอกชน มาบรรยายให้ความรู้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมในครั้งนี้ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกท่าน จะสามารถนำความรู้ และแนวทางที่ได้จากการฝึกอบรมไปปฏิบัติ เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่ระดับตำบล และเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งในการป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่ต่อไป

สำหรับการฝึกอบรมเครือข่ายประชาชนของตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ในวันนี้ เป็นผู้ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องขอบคุณในความเสียสละที่ทุกท่านมาร่วมเป็นส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่างๆ และผู้ที่เข้ารับอบรมจะได้รับการคัดเลือกและอาสาเข้ามาเพื่อทำประโยชน์ให้แก่สังคม ชุมชน ท้องถิ่นที่ท่านอาศัยอยู่ เพราะพวกท่านทราบปัญหาในพื้นที่ดี และทราบว่าแต่ละพื้นที่ต้องการอะไร ทุกปัญหาไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านความขัดแย้ง ความเห็นแตกแยกทางการเมือง สภาพเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องความเป็นอยู่ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ฝนแล้ง น้ำไม่พอสำหรับบริโภคหรือการเกษตร น้ำไม่ไหลไฟฟ้าดับ ปัญหาสังคม ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด วัยรุ่นมั่วสุม และทุกปัญหา นอกเหนือไปจากการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในหน่วยงานของตำรวจ ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม พวกท่านยังได้ร่วมสนับสนุนการทำงานของตำรวจอีกด้วย ดังนั้นการฝึกอบรมในครั้งนี้ จึงเป็นการเสริมสร้างความรู้ในด้านต่างๆ รวมทั้งได้มารู้จักพี่น้องเครือข่ายในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อรวมกันเป็นเครือข่ายภาคประชาชนที่มีพลังในการขับเคลื่อน ในการแก้ไขปัญหา ร่วมกับหน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาสังคมในแต่ละพื้นที่ อันจะทำให้ทุกปัญหาได้รับการแก้ไข เรื่องของความเดือดร้อน และความต้องการของพี่น้องประชาชน จะได้รับการแก้ไข และตอบสนองโดยทันที อีกทั้งชุมชนและสังคม ก็จะมีความสงบเรียบร้อย ประชาชนมีอาชีพ มีรายได้ ส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เพื่อความผาสุกของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป