กาฬสินธุ์แม่ทัพภาคที่ 2 ติดตามแก้ปัญหาน้ำตามนโยบายรัฐบาลไม่ท่วมไม่แล้ง
แม่ทัพภาคที่ 2 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 พร้อมคณะ ลงพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ประชุมแนวทางแก้ปัญหาน้ำตามนโยบายรัฐบาล “ไม่ท่วม ไม่แล้ง” โดยกำหนดพื้นที่เร่งด่วนในการดำเนินการพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากและพื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก 3 พื้นที่ ในตำบลหัวหิน อำเภอห้วยเม็ก ตำบลลำชี อำเภอฆ้องชัย และตำบลหนองช้าง อำเภอสามชัย
วันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมผาเสวย ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ พลโท อดุลย์ บุญธรรมเจริญ แม่ทัพภาคที่ 2 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 พร้อมคณะ ได้ร่วมประชุมเพื่อแก้ปัญหาน้ำตามนโยบายรัฐบาล “ไม่ท่วม ไม่แล้ง” โดยมีนายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ พันเอกนิสิต สมานมิตร รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดกาฬสินธุ์ (ฝ่ายทหาร) นายสำรวย อินพิทักษ์ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว พ.จ.ต.สำเนียง หวังเจริญ ท้องถิ่น จ.กาฬสินธุ์ นายอัครนันท์ ปัญญาเจริญโรจน์ นายก อบต.หนองหิน อ.ห้วยเม็ก นายพงศ์ภรณ์ ภาระขันธ์ นายก อบต.หนองช้าง อ.สามชัย นายสมคิด ชนะบุญ นายก อบต.ลำชี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ และรายงานสภาพปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง
พลโทอดุลย์ บุญธรรมเจริญ แม่ทัพภาคที่ 2 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 กล่าวว่า จากการรับฟังรายงานจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทราบว่ามีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งระดับปานกลาง 3 อำเภอ 11 ตำบล 56 หมู่บ้าน พื้นที่เสี่ยงภัยระดับต่ำ 18 อำเภอ 130 ตำบล 1,479 หมู่บ้าน และพื้นที่ไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้ง 2 อำเภอ 36 ชุมชน 49 หมู่บ้าน และข้อมูลพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค เป็นพื้นที่เสี่ยงสูง 12 อำเภอ 22 ตำบล 54 หมู่บ้าน และพื้นที่เฝ้าระวัง 16 อำเภอ 54 ตำบล 325 หมู่บ้าน ส่วนพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย แบ่งเป็น 3 พื้นที่ พื้นที่เหนือเขื่อนลำปาว 6 อำเภอ 32 ตำบล 204 หมู่บ้าน พื้นที่ท้ายเขื่อนลำปาว 4 อำเภอ 23 ตำบล 142 หมู่บ้าน และพื้นที่นอกเขตชลประทาน 8 อำเภอ 41 ตำบล 238 หมู่บ้านซึ่งมีพื้นที่เสี่ยงสูง 3 อำเภอ 4 ตำบล 17 หมู่บ้าน
พลโทอดุลย์กล่าวอีกว่าอีกว่า ในการประชุมเพื่อแก้ปัญหาน้ำตามนโยบายรัฐบาล “ไม่ท่วม ไม่แล้ง” ในครั้งนี้เป็นการหารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อร่วมกันแก้ปัญหา โดยได้กำหนดพื้นที่เร่งด่วนในการดำเนินการรวม 3 พื้นที่ ได้แก่ การแก้ปัญหาแล้งซ้ำซากในพื้นที่ ต.หนองช้าง อ.สามชัย ด้วยการขุดลอกหนองแก่นทราย ให้เก็บกักน้ำได้มากขึ้นเพียงพอสำหรับการผลิตน้ำประปา การแก้ปัญหาแล้งซ้ำซากและท่วมซ้ำซาก ในพื้นที่ ต.หัวหิน อ.ห้วยเม็ก ด้วยการก่อสร้างฝายเก็บกักน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในหน้าแล้ง และการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย ด้วยการขยายช่องระบายน้ำลำน้ำชีในช่วงฝายวังยางให้สามารถระบายน้ำได้มากขึ้น
ขณะที่นายอัครนันท์ ปัญญาเจริญโรจน์ นายก อบต.หนองหิน อ.ห้วยเม็ก กล่าวว่าปัญหาแล้งซ้ำซากและท่วมซ้ำซาก ในระดับเคยมีการถวายฎีกาขอรับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการประมาณ 10 ที่ผ่านมา เพื่อดำเนินการก่อสร้างฝายชะลอน้ำบริเวณเขื่อนลำปาว เชื่อมระหว่าง ต.เสาเล้า อ.หนองกุงศรี กับบ้านโคกกลาง ต.หัวหิน อ.ห้วยเม็กระยะทางประมาณ 1,400 เมตร ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้งบประมาณกว่า 80 ล้านบาท
ด้านนายสมคิด ชนะบุญ นายก อบต.ลำชี กล่าวว่า ในส่วนปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ตำบลลำชีที่ผ่านมานั้น เกิดจากปริมาณน้ำในลำชีเอ่อหนุน และเคยเกิดเหตุการณ์พนังกั้นลำชีแตก 2 ครั้ง สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่การเกษตร การประมง ที่พักอาศัยเป็นบริเวณกว้าง มูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนมาก จึงมีแนวทางป้องกันและบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยจัดทำโครงการบายพาสน้ำ หรือขยายช่องทางน้ำ จุดร่องลำชีเดิม ด้านทิศใต้ของฝายวังยาง ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 60-70 ล้านบาท
ส่วนนายพงศ์ภรณ์ ภาระขันธ์ นายก อบต.หนองช้าง อ.สามชัย กล่าวว่าปัญหาที่พี่น้องประชาชน ต.หนองช้าง 8 หมู่บ้านประสบคือภัยแล้งซ้ำซาก เนื่องจากพื้นที่อยู่บนที่สูง ทุรกันดาร ห่างไกลเขื่อนลำปาว ที่ผ่านมาอาศัยน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อการอุปโภคและบริโภค การเกษตร แต่ปัจจุบันแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ตื้นเขินมาก บ่อบาดาลแต่ซึ่งมีอยู่ 3 แห่งต้องขุดเจาะลึกกว่า 60 เมตร แต่สูบน้ำได้ไม่เกิน 30 นาทีน้ำก็หมด จึงได้จัดทำโครงการขอรับการสนับสนุนแก้ปัญหาภัยแล้ง 3 โครงการ คือขุดบ่อบาดาลผลิตน้ำประปา 8 โครงการ ขุดบ่อบาดาลพลังงานโซลาเซลล์ 8 โครงการ และขุดลอกหนองแก่นทรายพื้นที่ 200 ไร่ ซึ่งทุกโครงการอยู่ในระหว่างประเมินงบประมาณ
อย่างไรก็ตาม สำหรับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก และภัยแล้งซ้ำซาก ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ 3 แห่งดังกล่าว เป็นความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ตามคำกล่าวที่ว่า “น้ำแล้ง 10 ปี ไม่เท่าน้ำท่วม 1 ครั้ง” จึงเป็นพื้นที่จำเป็นเร่งด่วน ที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะได้บูรณาการป้องกัน เพื่อบรรเทาและลดปัญหา ทั้งนี้ หากได้รับการจัดสรรงบประมาณดำเนินการ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน ตามนโยบาย “ไม่ท่วม ไม่แล้ง” ของรัฐบาลนายกเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี