05/01/2025

กาฬสินธุ์ข้าวเม่าผู้ไทภูมิปัญญาบรรพบุรุษสร้างรายได้ให้ชุมชน 10 ล้านบาทต่อปี

S__3588269_0_0

ตะลึง Soft Power บ้านทุ่ง พบตาขิง ชาวอำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์อดีตช่างซ่อมทีวีนำภูมิปัญญาบรรพบุรุษชาวผู้ไทเทือกเขาภูพาน ผลิตข้าวเม่าผู้ไทออกจำหน่วยมากกว่า 30 ปีรวมรายได้โรงผลิตข้าวเม่าในพื้นที่สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนกว่า 10 ล้านบาทต่อปี

 


วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ที่บ้านเลขที่ 96 หมู่ 2 ต.นาคู อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นโรงผลิตข้าวเม่าสายพันธุ์ผู้ไทเทือกเขาภูพาน บริเวณท้ายหมู่บ้าน พบตาขิง หรือ นายบุญโฮม เครือชัย อายุ 66 ปี อดีตช่างซ่อมทีวี ที่นำภูมิปัญญาท้องถิ่นของบรรพบุรุษ และเป็นผู้นำชาวบ้านในการผลิตและจำหน่ายข้าวเม่าสายพันธุ์ผู้ไทให้กับพ่อค้าแม่ค้ามากกว่า 30 ปี โดยนางสุภาพร เกียรติดำเนินงาม เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วน จ.กาฬสินธุ์ นางทักษิณ แจ่มพงศ์ นายกเทศมนตรีตำบลนาคู นายทองฤทธิ์ บัตนาสา รองนายกเทศมนตรีตำบลนาคู นำสื่อมวลชนลงพื้นที่สำรวจ ซึ่งข้าวเม่าที่อาจถือได้ว่าเป็น Soft Power บ้านทุ่งที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนมากกว่า 30 ปีมีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านบาทต่อปีในจำนวนโรงผลิตข้าวเม่าทั้ง 8 แห่งด้วยกัน


นายบุญโฮม เครือชัย หรือชาวบ้านเรียก ตาขิง กล่าวว่า ในอดีตเคยทำงาน มีอาชีพเป็นช่างซ่อมทีวี และขึ้นเสารับสัญญาณทีวีมาก่อน ในฤดูทำนาก็ทำนาตามวิถีชาวบ้านในชนบทจากนั้นได้ประสบอุบัติเหตุตกจากเสารับสัญญาณทีวีทำให้ขาพิการต้องใช้ไม้เท้าพะยูงร่างกาย แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิต ส่วนการทำข้าวเม่าขายนั้นเริ่มต้นจากตนเป็นคนชอบกินข้าวเม่ามาก่อนซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่นของบรรพบุรุษซึ่งในพื้นที่ อ.นาคูจะเป็นชุมชนของเผ่าผู้ไทจึงได้ศึกษา และนำการทำข้าวเม่าจากสูตรโบราณของบรรพบุรุษมาประยุกต์กับเทคโนโลยีในปัจจุบัน โดยการใช้รถไถนาเดินตามต่อสายพานมายังไม้ที่ต่อพ่วงกับสากขนาดใหญ่เพื่อตำข้าวเปลือกสีเขียว โดยใช้ข้าวเหนียวเป็นหลัก เช่น ข้าวเหนียวภูพาน ข้าวนางสาวไทย เป็นต้นข้าวที่นำมาใช้ต้องได้อายุประมาณ 3 เดือน


นายบุญโฮม กล่าวเพิ่มเติมว่า ขั้นตอนแรก ต้องคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพเม็ดเต็มรวงโดยใช้เครื่องมือที่คิดเอง จากนั้นนำไปต้มกับน้ำร้อน เพื่อให้ข้าวนิ่ม อ่อน นำไปตากให้แห้งประมาณ 2 แดด จากนั้นเอาข้าวไปสีขัดผิว 2 ครั้ง นำมาตำด้วยการใช้รถไถนาเดินตามต่อพ่วงมายังสากไม้ที่เห็นในภาพ สมัยก่อนตนกับชาวบ้านที่มาขอเรียนรู้ต้องใช้แรงในการตำข้าวทำให้สิ้นเปลืองแรง จึงได้มีความคิดใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันให้เกิดประโยชน์จึงได้คิดค้นเครื่องมือเสริมในการตำข้าวลดการสิ้นเปลืองในการใช้แรงคน ตำข้าวที่สีแล้วประมาณครึ่งชั่วโมง จับตรวจดูลองชิมรสชาติถ้าอ่อนได้ทีแล้ว


จากนั้นตักข้าวที่ตำแล้วใส่มุ้งที่เตรียมไว้เขย่าให้เศษรำข้าวออกมา เพื่อให้เมล็ดข้าวเม่าสวยงาม มีภรรยาและชาวบ้านที่มาเรียนรู้ช่วยกันกรอกใส่ถุงชั่งตวงขาย จัดจำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 150 บาท ถือว่าขายได้ราคาดีกว่าขายข้าวเปลือกนาปี สรุปยอดขายทั้งปีมีรายได้กว่า 2 แสนบาท นำไปส่งเสียลูกเรียนหนังสือมีงานทำที่มั่นคงได้ สามารถยึดเป็นอาชีพหลักได้เลย ทั้งนี้มีคนในหมู่บ้านและชุมชนใกล้เคียงเข้ามาเรียนรู้ศึกษาการทำข้าวเม่าสูตรผู้ไทโบราณเป็นจำนวนมาก เชื่อว่าประสบการณ์ที่ตนทำข้าวเม่ามา 30 ปี การันตีความอร่อยได้เลย ขณะนี้มีการทำโรงข้าวเม่าในพื้นที่ อ.นาคูประมาณ 8 โรงเรือนด้วยกัน แต่มีคนที่นำความรู้ไปแล้วเปิดเป็นโรงข้าวเม่า 10 กว่าโรง คาดว่าสร้างรายได้ให้กับชุมชนในรอบปีที่ผ่านมาประมาณ 10 ล้านต่อปี


ด้านนางทักษิณ แจ่มพงศ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลนาคู กล่าวว่า สำหรับข้าวเม่าคือข้าวที่ยังไม่แก่เต็มที่ แต่ก็ไม่อ่อนเกินไป อยู่ในช่วงกลางๆ คนที่ทำจะต้องมีความรู้ มีฝีมือ และต้องมีประสบการณ์ ซึ่งคุณตาบุญโฮม นั้นก็ได้ริเริ่มทำ โดยการสืบทอดการทำข้าวเม่ามาตั้งแต่บรรพบุรุษมาตั้งแรกยุคแรกๆ ส่วนคนที่รับซื้อส่วนใหญ่จะเป็นพ่อค้า แม่ค้า ทั้งใน พื้นที่ อ.นาคู อ.เขาวง อ.ห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์จะมารับไปขายต่อ ซึ่งข้าวเม่าสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวตำบลนาคูได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ทางเทศบาลตำบลนาคู ได้ส่งเสริมและสนับสนุนการทำข้าวเม่านาคูมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีการประชาสัมพันธ์ทางเพจให้ประชาชนได้รับทราบว่าข้าวเม่าขายที่ไหนบ้าง ซึ่งหาสนใจก็สามารถติดต่อมาทางเทศบาลตำบลนาคูได้

 

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป