24/12/2024

กาฬสินธุ์เดินหน้ายกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก

2_0
สภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์และเครือข่าย ร่วมกับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ เปิดเวทีพหุภาคีระดับจังหวัด เสวนาการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อพัฒนายุทธศาสตร์การศึกษาจังหวัดกาฬสินธุ์แบบมีส่วนร่วม ภายใต้โครงการ ACCESS SCHOOL ชุมชนสร้างโรงเรียน โรงเรียนสร้างชุมชน
https://youtu.be/b-kIUdpgPiQ
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ (เมือง) อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์
นายสำเริง ม่วงสังข์ รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดเวทีพหุภาคีระดับจังหวัด เสวนาการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม จ.กาฬสินธุ์ ภายใต้โครงการ ACCESS SCHOOL ชุมชนสร้างโรงเรียน โรงเรียนสร้างชุมชน โดยมีนางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายก อบจ.กาฬสินธุ์ รศ.จิระพันธ์ ห้วยแสน อธิการบดีมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ นายอุทัย แก้วกล้า สมาชิกสภา อบจ.กาฬสินธุ์ เขตอ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ในฐานะประธานสภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์ นางรุ่งทิพย์ อิ่มรุ่งเรือง  ผู้จัดการฝ่ายโครงการและนโยบาย มูลนิธิแอ็คชั่นเอด อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) นางธีรดา นามให นากยกสมาคมไทบ้าน นายนิยม โยหาสิทธิ์ นายก อบต.หนองแวง อ.สมเด็จ พร้อมด้วยคณะบดีศึกษาศาสตร์และนวัตกรรมการศึกษา มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารท้องถิ่น ภาครัฐ และเอกชน ร่วมงานและร่วมเวทีเสวนา เป็นจำนวนมาก
นายอุทัย แก้วกล้า สมาชิกสภา อบจ.กาฬสินธุ์ เขตอ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ในฐานะประธานสภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตามที่สหภาพยุโรป (European Union – EU) ให้การสนับสนุนโครงการ “ส่งเสริมการมีส่วนร่วมภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา หรือโครงการ Access School” ซึ่งดำเนินงานโดยมูลนิธิแอ็คชั่นเอด อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)  ร่วมกับสมาคมสภาการศึกษาทางเลือกไทย สมาคมไทบ้าน สภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษา ให้นักเรียนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีประสิทธิภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม โดยสภาพัฒนาการศึกษากาฬสินธุ์ เป็นองค์กรรับทุน เพื่อดำเนินโครงการส่งเสริมภาคประชาสังคมระดับจังหวัด ในการจัดการศึกษาร่วมภาคีกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ด้วยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม เข้ามาหนุนเสริมด้านการจัดการศึกษา ก่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยการใช้นวัตกรรมในห้องเรียนสถานศึกษาขนาดเล็ก โดยมีโรงเรียนต้นแบบจำนวน 20 แห่ง และโรงเรียนเครือข่าย 183 แห่ง
 นายอุทัยกล่าวอีกว่า โครงการส่งเสริมภาคประชาสังคมระดับจังหวัดดังกล่าว ยังทำให้เกิดการประสานงานความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ในการทำงานร่วมกัน เพื่อใช้ศักยภาพขององค์กรสนับสนุน และเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในห้องเรียน ทั้งนี้เพื่อเป็นส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม จึงได้จัดเวทีพหุภาคีระดับจังหวัด “เสวนาการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม จังหวัดกาฬสินธุ์” ขึ้น เพื่อให้เป็นพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมจากภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และโรงเรียน ได้ร่วมระดมความคิดเห็นที่นำไปสู่แนวทางหนุนเสริมการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ โดยวัตถุประสงค์ของการการจัดกิจกรรมในครังนี้ เพื่อการพัฒนายุทธศาสตร์การศึกษาจ.กาฬสินธุ์แบบมีส่วนร่วม เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา จ.กาฬสินธุ์
โดยการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคม  และเพื่อสื่อสารผลการดำเนินงานพัฒนาการศึกษาจ.กาฬสินธุ์ต่อสาธารณะ
นายอุทัยกล่าวเพิ่มเติมว่า การเปิดเวทีพหุภาคีระดับจังหวัด “เสวนาการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม จ.กาฬสินธุ์”  ภายใต้โครงการ ACCESS SCHOOL “ชุมชนสร้างโรงเรียน โรงเรียนสร้างชุมชน” ในครั้งนี้ เป็นอีกกิจกรรมหนึ่ง ในการสร้างความร่วมมือ เพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาให้เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วน นอกจากนี้ยังเป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาจากองค์กรภาคประชาสังคม ที่นำไปสู่การสนับสนุนให้เกิดการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญยังเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาบนฐานทรัพยากรที่แตกต่าง ในการร่วมเสวนาเพื่อการพัฒนายุทธศาสตร์การศึกษา จ.กาฬสินธุ์ ที่จะเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็กและสถานศึกษาเครือข่ายมีประสิทธิภาพเพิ่มมากกว่าที่ผ่านมาอีกด้วย

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป