กาฬสินธุ์โชว์ผ้าไหมแพรวามูลค่า 30 ล้านเปิดงานมหกรรมโอทอปตักบาตรเทโวคาดเงินสะพัด 20 ล้านบาท
กาฬสินธุ์โชว์ผ้าไหมแพรวามูลค่า 30 ล้านเปิดงานมหกรรมโอทอปตักบาตรเทโวคาดเงินสะพัด 20 ล้านบาท
ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไหมแพรวา ราชินีแห่งไหมเมืองน้ำดำรุ่นบุกเบิก รุ่นร่วมสมัย และเครือข่ายผู้ผลิตผ้าไหมแพรวา ใน จ.กาฬสินธุ์ นำผลงาน ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญา “ลายผ้าไหมแพรวาประจำอำเภอ” 18 ลาย ฝีมือระดับขั้นเทพ ขึ้นเวทีประชันความประณีต จากการคิดค้นลายผ้า และโชว์ความอลังการ บนเวทีเสวนาผ้าไหมแพรวาผ้าโบราณภูมิปัญญากาฬสินธุ์ พร้อมจำหน่ายบนถนนไดโนโรด เทศบาลตำบลโนนบุรี อำเภอสหัสขันธ์ ในงานตักบาตรเทโวโรหณะ บูชาพระประชาชนบาล ระหว่างวันที่ 3-11 พ.ย.66 ขณะที่พัฒนาชุมชนตั้งเป้าเงินสะพัดไม่น้อยกว่า 20 ล้านบาท
วันที่ 3 พ.ย.66 เวลา 16.00 น. ที่บริเวณถนนสายบุญ-ไดโนโรด เทศบาลตำบลโนนบุรี อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ นางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายก อบจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดงานมหกรรมสินค้าโอทอปของดีกาฬสินธุ์ ในงานประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ บูชาพระประชาชนบาล เจ้าเมืองสหัสขันธ์ (คนแรก) ประจำปี 2566 โดยมีนายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ นางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ นายบุญมี แก่นนาคำ นายก ทต.โนนบุรี นางนฤมล สิงห์เงา ปลัด ทต.โนนบุรี นายวิญญู ขันผง นายก ทต.นิคม พร้อมด้วยส่วนราชการ กรรมการเหล่ากาชาดฯ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในอ.สหัสขันธ์ เครือข่ายผู้ผลิตผ้าไหมแพรวาและผ้าพื้นเมืองทั้ง 18 อำเภอใน จ.กาฬสินธุ์ ทั้งรุ่นบุกเบิก รุ่นร่วมสมัย ประชาชน นักท่องเที่ยว ร่วมงานเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ ก่อนเปิดงานมหกรรมสินค้าโอทอปของดีกาฬสินธุ์ ยังได้มีการจัดเวทีเสวนาผ้าไหมโบราณภูมิปัญญากาฬสินธุ์ 18 อำเภอ ดำเนินรายการโดย ดร.สุภาพร เกียรติดำเนินงาม ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ ผู้ร่วมรายการประกอบด้วยปราชญ์ด้านผ้าไหมแพรวา และศิลปินผ้าไหมแพรวา อาทิ นายวิทวัส โสภารักษ์ นายอดุลย์ มุลละชาติ นายจักรวรรดิวัตร ปรีจำรัส ท่ามกลางความฮือฮาของผู้ร่วมงาน เนื่องจากผ้าไหมแพรวาที่นำมาโชว์และนำเสนอความเป็นมาจำนวนกว่า 100 ผืน มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท
ทั้งนี้ ผ้าแพรวาทุกผืนที่นำมาโชว์บนเวทีเสนาฯ ครั้งนี้ ล้วนเกิดจากภูมิปัญญา และเป็นลายผ้าที่เกิดจากไอเดีย ซึ่งเป็นอัตลักษณ์หรือสื่อถึงของดีทั้ง 18 อำเภอ โดยคิดค้นลายผ้า ย้อมสี และถักทอด้วยมือ จึงเป็นผืนผ้าไหมแพรวาที่ทรงคุณค่า เป็นการต่อยอดและขยายผลให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย และเครือข่าย ทั้ง 18 อำเภอใน จ..กาฬสินธุ์ โดยมีอบจ.กาฬสินธุ์ และพัฒนาชุมน จ.กาฬสินธุ์ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าของผู้ที่มีรสนิยมในผ้าแพรวา ราชินีแห่งไหม ที่กลุ่มผู้ผลิตหรือเจ้าตำรับ ซึ่งเป็นคนกาฬสินธุ์มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ถือเป็นผลิตภัณฑ์พระราชทาน โดยสืบสานพระปณิธานฯ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่จุดประกายจากโครงการศูนย์ศิลปาชีพโดยแท้
ด้านนางเฉลิมขวัญ หล่อตระกูล นายก อบจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ ได้ชื่อว่าเป็นราชินีแห่งไหม ถือเป็นผลิตภัณฑ์ของดีล้ำค่า สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ ได้ปีละหลายร้อยล้านบาท ที่ผ่านมามีการจัดงานนิทรรศการ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับผ้าไหม ทั้งระดับจังหวัด ระดับภูมิภาค และระดับปะเทศ ทั้งนี้ อบจ.กาฬสินธุ์ มีแนวทางให้การสนับสนุน ตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างโอกาส เปิดช่องทางตลาด ให้มีการหมุนเวียนของเม็ดเงิน ที่สำคัญเพื่อการสร้างงาน สร้างรายได้ตลอดปี ตลอดไป
นางเฉลิมขวัญกล่าวอีกว่า ในส่วนของการจัดเวทีเสวนาผ้าไหมโบราณภูมิปัญญากาฬสินธุ์ 18 อำเภอ ในวันเปิดงานพระเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ บูชาพระประชาชนบาล เจ้าเมืองสหัสขันธ์ (คนแรก) ประจำปี 2566 หลังวันออกพรรษาครั้งนี้ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-11 พ.ย.นี้ ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการเปิดมหกรรมตลาดผ้าไหมแพรวา ราชินีแห่งไหม ของดีเมืองน้ำดำอีกครั้งหนึ่ง จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชน นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะผู้ชื่นชอบผ้าไหมแพรวา ได้มาเลือกช็อป ได้อย่างเต็มที่ ตลอด 9 วัน 9 คืน เพราะมีผู้ประกอบการสินค้าผ้าไหมแพรวา และผ้าผืนเมือง ได้นำผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแพรวาจาก 18 อำเภอมาออกร้านกว่า 50 บูธ โดยมาออกร้านด้วยตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นการซื้อขายระหว่างผู้ผลิต และผู้ประกอบการกับผู้ซื้อโดยตรง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งจะได้เลือกสรรและเลือกซื้อในราคาที่เป็นธรรม
ด้านนายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า งานมหกรรมสินค้าโอทอปของดีกาฬสินธุ์ ในงานประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ บูชาพระประชาชนบาล เจ้าเมืองสหัสขันธ์ (คนแรก) ประจำปี 2566 สำนักงานพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ ได้ร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จัดงานมหกรรมสินค้าโอทอปของดีกาฬสินธุ์ร่วมด้วย โดยเชิญชวนผู้ผลิต ผู้ประกอบการ นำผลงาน ผลิตภัณฑ์โอทอป ที่หลากหลาย เช่น ผ้าไหมแพรวา ผ้าพื้นเมือง ผลิตภัณฑ์คุณภาพอื่นๆ ระดับ 4-5 ดาวร่วมออกร้านจำหน่าย เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้า และกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยในปีนี้ซึ่งที่ปลอดจากสถานการณ์โควิด-19 และเศรษฐกิจเริ่มกระเตื้องขึ้น คาดว่ามีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าโอทอป โดยเฉพาะผ้าไหมแพรวาไม่น้อยนกว่า 20 ล้านบาท