24/12/2024

กาฬสินธุ์ แฉโครงการก่อสร้างท่อระบายน้ำสุดมาราธอนเดือดร้อนทั่วเมือง 7 จุด น้ำไม่เคยท่วมก็ท่วม ชาวบ้านซัดฝีมือก่อสร้างมาตรฐานต่ำ เรียกร้องเจ้าของงานชี้แจงว่าจะเสร็จจริงเมื่อไหร่ วอนรัฐหยุดเอื้อผู้รับเหมา

0_0

กาฬสินธุ์ แฉโครงการก่อสร้างท่อระบายน้ำสุดมาราธอนเดือดร้อนทั่วเมือง 7 จุด น้ำไม่เคยท่วมก็ท่วม ชาวบ้านซัดฝีมือก่อสร้างมาตรฐานต่ำ เรียกร้องเจ้าของงานชี้แจงว่าจะเสร็จจริงเมื่อไหร่ วอนรัฐหยุดเอื้อผู้รับเหมา

 


ย้อนรอยโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลัก บรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ งบประมาณกว่า 148 ล้านบาท ก่อสร้าง 7 จุด ทำชาวบ้าน ผู้ใช้รถใช้ถนน เดือดร้อนทั่วเมือง ตัวแทนชาวบ้านในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ แฉซ้ำคนงานรับเหมาทำงานต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่เชื่อว่าจะทำงานได้แล้วเสร็จ เพราะเห็นอย่างนี้ตลอด 4 ปี ชี้ร้องเรียนทีเห็นมาทำงาน 1 วันหยุดไปหลายวัน ยิ่งทำยิ่งแย่ น้ำไม่เคยท่วมก็ท่วม ปัญหาจึงเรื้อรังมาถึงทุกวันนี้
จากกรณีตัวแทนชาวบ้านชุมชนหัวโนนโก เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ เรียกร้องผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมฯ เร่งดำเนินการก่อสร้าง หลังก่อสร้างมาตั้งแต่เดือน เม.ย.62 ผ่านมา 4 ปีครึ่งยังไม่เสร็จ สุดทนเขียนป้ายประจาน “ถนนสายอัปยศ ชั่วโคตรที่ 7…ไม่รู้จะเสร็จหรือเปล่า” และอยากให้กรมโยธาฯ เปลี่ยนผู้รับเหมาใหม่ เพราะไม่เชื่อจะทำงานเสร็จ ขณะที่สื่อโซเชียล ยังมีการนำเสนอข่าวปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน จากโครงการดังกล่าวตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น


วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ที่บริเวณถนนชุมชนหัวโนนโก-เกษตร เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ จุดก่อสร้างโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมฯ ที่ได้เกิดปัญหาการก่อสร้างล่าช้า ส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนในชุมชน ตลอดจนผู้ใช้รถใช้ถนนมากว่า 4 ปี ชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อน ได้ออกมาร้องเรียน สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นและประสบในชีวิตประจำวัน
โดยนางหอมหวน มณีวงษ์ แม่ค้าขายของชำ อายุ 53 ปี บ้านเลขที่ 2/2 ถนนหัวโนนโก-เกษตร กล่าวว่าตนได้รับความทุกข์ใจจากโครงการดังกล่าวมาก เนื่องจากร้านค้าอยู่ปากซอย เคยมีลูกค้าเข้าร้านและมีรายรับต่อเดือนถึง 10,000 บาท แต่ทุกวันนี้อย่างมากไม่เกิน 2,000 บาท ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจากการลงมาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งมาเป็นระยะ ไม่ต่อเนื่อง ตนและชาวบ้านไม่เชื่อว่าจะทำแล้วเสร็จ ก็รู้สึกสงสัยอยู่เหมือนกันว่าถ้าผู้รับเหมาขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงิน แล้วมารับจ้างทำงานโครงการใหญ่ได้ยังไง ส่วนกลางปล่อยให้บริษัทนี้เข้ามาประมูลรับงานได้ยังไง


นางหอมหวนกล่าวอีกว่า เมื่อขาดสภาพคล่อง ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเข้าใจว่าผู้รับเหมาที่มาทำงานเป็นการรับช่วงมา และตามที่เห็นน่าจะขาดสภาพคล่องจริงๆ เพราะเห็นคนงานหลายคนบ่น ผู้รับเหมาค้างค่าจ้างแรงงาน จึงไม่มีแม้เงินจะกินข้าว จนบางครั้งตนต้องแบ่งอาหารให้คนงานกินด้วยความสงสารเห็นใจ ทั้งนี้ขอขอบคุณส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ที่ลงพื้นที่ให้กำลังใจ และพยายามแก้ไขปัญหาตลอดมา อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านยังเรียกร้องให้เร่งดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ เพราะเดือดร้อนมาก ทั้งการค้าขาย การใช้ชีวิตประจำวัน และยังเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งอีกด้วย
ด้านนายโกสินทร์ กล้าขยัน อายุ 41 ปี ชาวบ้านในชุมชนหัวโนนโก ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบกล่าวว่า เริ่มตั้งแต่มีโครงการดังกล่าวลงมาในปี 2562 ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาทำให้การใช้ชีวิตของชาวชุมชนเปลี่ยนแปลงมาก จากที่เคยใช้ชีวิต ทำมาหากินโดยปกติสุขก็เริ่มมีปัญหา และได้รับความเดือดร้อนต่างๆนานา เริ่มจากถนนสายนี้ซึ่งเป็นเส้นทางหลักอีกเส้นทางหนึ่ง ผู้ใช้รถใช้ถนนสามารถสัญจรไปมาได้สะดวก ลดความแออัดการจราจรเข้าสู่ตัวเมือง และติดต่อสถานที่ราชการต่างๆ ทั้งจะเดินทางไปที่พิพิธภัณฑ์สิรินธร อ.สหัสขันธ์ เขื่อนลำปาว และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ แต่กลับมีอุปสรรค จากการก่อสร้างของโครงการดังกล่าว


นายโกสินทร์กล่าวอีกว่า ถนนสายนี้จากเดิมที่ดีอยู่แล้ว พอมีโครงการก่อสร้าง น้ำไม่เคยท่วมก็ท่วม ยิ่งทำยิ่งแย่ ร้านขายของ ธุรกิจบ้านพัก ห้องเช่า ต้องปิดตัวลงหมด เพราะลูกค้าเข้าออกลำบาก ปัญหาดังกล่าวสะสมเรื้อรังมากว่า 4 ปี ตนเกิดมา 41 ปี น้ำไม่เคยท่วมก็ท่วม ความเสียหายไม่ต้องพูดถึง นอกจากนี้ นับวันความเสียหายยังขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้รับเหมาทำงานไม่ต่อเนื่อง คนงานเปลี่ยนหน้าบ่อย เห็นฝีมือต่ำเหมือนเอาเด็กมาทำงาน หากทำแค่นี้เด็กประถมก็ทำได้ ชาวบ้านแถวนี้ทำได้ดีกว่าอีก นี่มันเกิดอะไรขึ้น ที่อ้างว่าปัญหามาจากโควิด-19 ตนและชาวบ้านไม่เชื่อ หรือเกิดจากสภาพคล่องของผู้รับเหมา ก็ไม่น่าจะใช่ มันเป็นปัญหาของคุณ แต่ทำไมต้องมาสร้างปัญหาให้กับชาวบ้านด้วย ร้องเรียนทีก็มีเจ้าหน้าที่มาพูดคุย ทั้ง ปปช.-.สตง.-ศูนย์ดำรงธรรม-โยธาธิการ-ตัวแทนผู้รับเหมามาหมด สุดท้ายก็เป็นอย่างที่เห็น ปัญหายังมีอยู่ ไม่มีการฟ้องร้อง ไม่มีการเยียวยา ที่ชาวบ้านต้องการในตอนนี้ก็คือขอให้ทำงานพื้นฐานให้แล้วเสร็จ ส่วนการก่อสร้างจะเสร็จสมบูรณ์ไหม ตนไม่อยากเชื่อ อย่างไรก็ตาม ขอให้รีบลงมือมาทำเถอะ เพราะชาวบ้านเดือดร้อนมาก


ขณะที่นายวิจิตร งามชื่น โยธาธิการและผังเมือง จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าสำหรับโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ งบประมาณกว่า 148 ล้านบาทดังกล่าว ดำเนินการในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์จำนวน 7 จุด ดำเนินการเสร็จแล้ว 4 จุด ส่วนที่ยังเหลืออีก 3 จุดคือ 1.บริเวณตรงข้ามห้างโลตัส-สะพานข้ามลำปาวเก่า, 2. บริเวณถนนชัยสุนทรช่วงวงเวียนโปงลางถึงซอยฉายจรุง และ 3. บริเวณถนนกรมโยธาธิการและผังเมืองถึงแก่งดอนกลาง ซึ่งจุดนี้ผ่านชุมชนหัวโนนโก ที่มีปัญหาชาวบ้านร้องเรียน
นายวิจิตรกล่าวอีกว่าโครงการดังกล่าว กรมโยธาธิการได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 148,200,000 บาท เริ่มทำสัญญากับผู้รับจ้างวันที่ 12 เม.ย. 62 กำหนดในสัญญาแล้วเสร็จ 26 มิ.ย.64 แต่ที่ผ่านมาประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และผู้รับจ้างขาดสภาพคล่อง ต่อมาโครงการดังกล่าว ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ทำให้แผนงานได้รับการขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปถึงเดือน ก.พ.68 ทั้งนี้ ตนและเจ้าหน้าที่ยังลงพื้นที่ทุกวัน เพื่อให้รับฟังปัญหาและสร้างความมั่นใจกับชาวบ้านว่า กรมโยธาธิการ ได้ติดตาม เร่งรัด ให้ผู้รับจ้างทำงานโดยเร่งด่วน เพื่อให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดและแล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน


อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างของโครงการดังกล่าว ที่เมื่อย้อนไทม์ไลน์มาตั้งแต่เริ่มโครงการปี 2562 ถึงปัจจุบัน จะพบว่ามีเรื่องร้องเรียนเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นการดำเนินการหลายจุด ในใจกลางเมืองและย่านเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เกิดมลพิษ การจราจรติดขัด เกิดอุบัติเหตุมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต กระทบต่อธุรกิจการค้าขาย เสียหายมูลค่ามหาศาล ร้านค้า ร้านอาหาร สถานประกอบในแนวเขตการก่อสร้างต้องปิดตัวลง เพราะขาดทุยย่อยยับ ชาวบ้านจึงเรียกร้องให้เร่งดำเนินการ เพื่อจบปัญหาที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้ผู้รับเหมาออกมาแสดงความรับผิดชอบ ต่อความเสียหายและความเดือดร้อนของชาวเมืองกาฬสินธุ์ นอกจากนี้ ยังเรียกร้องเจ้าของงานชี้แจงว่าจะเสร็จจริงเมื่อไหร่ และวอนรัฐหยุดเอื้อผู้รับเหมาด้วย

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป