กาฬสินธุ์ก่อสร้างมาราธอน โยธาแจงทำระบบระบายน้ำล่าช้า เหตุรับเหมาขาดสภาพคล่อง ชาวบ้านถามหากไม่พร้อมมารับงานทำไม อยากให้เปลี่ยนตัวผู้รับเหมา
กาฬสินธุ์ก่อสร้างมาราธอน โยธาแจงทำระบบระบายน้ำล่าช้า เหตุรับเหมาขาดสภาพคล่อง ชาวบ้านถามหากไม่พร้อมมารับงานทำไม อยากให้เปลี่ยนตัวผู้รับเหมา
ชาวบ้านในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ยังคงได้รับความเดือดร้อน จากโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลักเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ งบประมาณกว่า 148 ล้านบาท เนื่องจากการก่อสร้างล่าช้า สร้างปัญหารอบด้าน กระทบต่อการดำรงชีวิต เศรษฐกิจเจ๊งระนาว สุดทนขึ้นป้ายประจาน “ถนนสายอัปยศ ชั่วโคตรที่ 7” ขณะที่โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด แจงที่ผ่านมาได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ยืนยันผู้รับเหมา “ชั้นพิเศษ” ไม่ทิ้งงาน แต่ขาดสภาพคล่อง รอหลังสิ้นฤดูฝนลงมือทำงาน ชาวบ้านสวนกลับหากไม่พร้อมมารับงานทำไม และอยากให้เปลี่ยนตัวผู้รับเหมา
จากกรณีตัวแทนชาวบ้านชุมชนหัวโนนโก เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ เรียกร้องผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองกาฬสินธุ์ เร่งดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ หลังจากได้รับผลกระทบหนัก และเผชิญกับปัญหามากว่า 3 ปี ระบุสาเหตุเกิดจากผู้รับเหมาทำงานทิ้งงาน ปล่อยชาวบ้านทนทุกข์ทรมานด้านความเป็นอยู่ การจราจร การประกอบอาชีพ และเกิดอุบัติเหตุบ่อย สุดทนเขียนป้ายประจาน ข้อความ “ถนนสายอัปยศ ชั่วโคตรที่ 7…ไม่รู้จะเสร็จหรือเปล่า” และ “หนูเดือดร้อนนะเนี้ย…เมื่อไหร่จะทำให้เสร็จๆ บ้านร้าว ดินทรุด ฝุ่น…มลพิษ # กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย (โครงการสร้างระบบระบายน้ำ 7 ชั่วโคตร) ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น
วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ที่สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.กาฬสินธุ์ นายวิจิตร งามชื่น โยธาธิการและผังเมือง จ.กาฬสินธุ์ ในฐานะกรรมการตรวจรับงานโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ได้รับทราบปัญหาดังกล่าวมาตั้งแต่ต้น ซึ่งได้ติดตาม ประสานงานกับผู้รับเหมาตลอด ขณะเดียวกันยังได้ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้าน พร้อมแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเร่งปิดฝาท่อ ซ่อมกำแพง เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ และบรรเทาความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน ผู้ใช้รถใช้ถนน
นายวิจิตรกล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าว กรมโยธาธิการได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 148,200,000 บาท ถือเป็นโครงการใหญ่ ผู้รับจ้างที่ได้งานนี้ต้องเป็นผู้รับเหมาชั้นพิเศษ และเป็นคู่สัญญากับกรมโยธาธิการ เริ่มทำสัญญาก่อสร้างเมื่อวันที่ 12 เม.ย. 62 กำหนดในสัญญาแล้วเสร็จ 26 มิ.ย.64 แต่ที่ผ่านมาประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และผู้รับจ้างประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง จึงทำให้งานก่อสร้างล่าช้า
“ต่อมาโครงการดังกล่าว ได้รับการช่วยเหลือจากมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 โดยผ่อนผันให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ 0 จึงทำให้แผนงานได้รับการขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไปถึงเดือน ก.พ.68 ทั้งนี้กรมโยธาธิการ ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้รับจ้าง และได้ติดตาม เร่งรัด ให้ผู้รับจ้างทำงานโดยเร่งด่วน เพื่อให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดและแล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ ผู้รับจ้างได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง โดยทำการปิดฝาท่อระบายน้ำทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว พร้อมซ่อมแซมกำแพงบ้านที่ได้รับความเสียหายจากการก่อสร้าง ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 5 หลัง อยู่ระหว่างดำเนินการซ่อมแซม จำนวน 2 หลัง อย่างไรก็ตาม หากสิ้นฤดูฝน ผู้รับเหมาจะเข้ามาทำงานต่อ เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรได้ตามปกติโดยเร็ว” นายวิจิตรกล่าว
ด้านนายเศรษฐชัย ธารชัย อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 26 ถนนหัวโนนโก-เกษตร ชุมชนหัวโนนโก ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนกล่าวว่า หลังทราบสาเหตุปัญหา ถ้าเป็นในกรณีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ชาวบ้านก็พอจะรับฟังได้ แต่ถ้าอ้างว่าผู้เหมาขาดสภาพคล่อง ชาวบ้านไม่เชื่อและรับไม่ได้ เพราะในเมื่อเป็นผู้รับเหมารายใหญ่ “ชั้นพิเศษ” ขนาดนี้ ต้องมีความพร้อมทุกด้าน ทั้งเงิน เครื่องจักร วัสดุ อุปกรณ์ ถ้าไม่พร้อมจะมารับงานนี้ทำไม รู้ไหมทำชาวบ้านเค้าเดือดร้อน ซึ่งเป็นความเดือดร้อนสะสมกว่า 3 ปีมาแล้ว ไม่สงสารชาวบ้านตาดำๆ ที่ส่วนใหญ่หาเช้ากินค่ำหรือ เพราะทุกวันนี้ชาวบ้านโดยเฉพาะผู้สูงอายุ อยู่กันอย่างระทมทุกข์ทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นความทุกข์ร้อนที่ประเมินค่าแล้วมากกว่างบประมาณที่นำมาก่อสร้างโครงการนี้เสียอีก
นายเศรษฐชัยกล่าวีกว่า เมื่อปัญหาเกิดขึ้น และเมื่อรู้ว่าผู้เหมารายนี้ขาดสภาพคล่อง อยากจะถามกรมโยธาฯ ว่าทำไมไม่หาคนอื่นมาทำแทน มีหลักการยังไงจึงยังให้ผู้รับเหมารายนี้ทำต่อไป และมีความมั่นใจแค่ไหนว่าจะไม่เกิดปัญหา สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านอีก เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่าไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานเลย ไม่มีการติดตั้งสัญญาณใดๆ ทั้งป้ายบอกโครงการ ป้ายไฟ สัญญาณจราจรอื่นๆ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ทางกรมโยธาฯ เปลี่ยนตัวผู้รับเหมาจะดีกว่า เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้าน เพราะหากเป็นเจ้าเดิมความรู้สึกของชาวบ้านก็คงจะรู้สึกแย่ ไม่มั่นใจ ดังนั้นหากเปลี่ยนได้เปลี่ยนเลยผู้รับเหมางานนี้
ขณะที่นายโกสินทร์ กล้าขยัน อายุ 41 ปี อยู่บ้านเลขที่ 3/1 ถนนหัวโนนโก-เกษตร ชุมชนหัวโนนโก เขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบกล่าวว่า ตามที่ทราบผู้รับเหมาโครงการนี้คือห้างหุ้นส่วนจำกัด ประชาพัฒน์ แต่ที่ผ่านมาการทำงานไม่ต่อเนื่อง เกิดปัญหากระทบต่อการจราจร การดำเนินชีวิต การค้าขาย ของชาวบ้าน ที่มีที่พักและสถานประกอบการตามแนว 2 ฝั่งถนนเป็นอย่างมาก เจ้าของบ้านเช่า หอพัก ร้านอาหารบางคนถึงกับจะคิดสั้น ฆ่าตัวตาย เนื่องจากกิจการเจ๊ง ไม่มีเงินชำระหนี้ธนาคาร ขณะที่ชาวบ้านดำเนินชีวิตอย่างทุกข์ทรมาน ตัวบ้านทรุด แตกร้าว วันที่มีฝนตกน้ำท่วมสูง วันที่ฝนไม่ตกเกิดฝุ่นละออง อุบัติเหตุ สารพัดปัญหาที่รุมเร้า ทำให้การดำเนินชีวิตยากลำบากมาก
นายโกสินทร์กล่าวอีกว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ที่ชาวบ้านรับรู้กันคือผู้รับเหมาที่มารับช่วงทิ้งงาน และมีการขายงานเป็นทอดๆ การก่อสร้างจึงสะดุด ยังดีที่มีเจ้าหน้าที่โยธาการ จ.กาฬสินธุ์ หมั่นออกมาสอดส่องดูแล คอยประสานงานให้ผู้รับเหมา เข้ามาแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ อย่างไรก็ตาม หากจะดีที่สุด ให้รีบเร่งก่อสร้างให้เสร็จโดยเร็วไวด้วย เพราะทุกวันนี้ ชาวบ้านได้รับความทุกข์ทรมานมาก เนื่องจากโครงการยังล่าช้า และยังเกิดปัญหารอบด้านดังกล่าว
******หมายเหตุ ภาพ 6-14 แฟ้มภาพ