22/12/2024

กาฬสินธุ์เร่งสำรวจเตรียมเยียวยาพื้นที่น้ำท่วม 1.4 แสนไร่หนักสุดเป็นประวัติการณ์

891345

เกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์เผย เร่งสำรวจพื้นที่ได้รับผลกระทบอุทกภัยทั้ง 18 อำเภอ พบเสียหาย 17 อำเภอ ระบุน้ำท่วมมากสุดเป็นประวัติการณ์ กว่า 140,000 ไร่ คาดมีพื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 1200,000 ไร่ วงเงินชดเชยความเสียหายภาคการเกษตรไม่น้อยกว่า 130 ล้านบาท

 


วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยที่ผ่านมา ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ 18 อำเภอ ซึ่งประสบภัยในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. เนื่องจากภาวะฝนตกชุก ต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน และระดับน้ำในเขื่อนลำปาวเอ่อสูงเกินปริมาณกักเก็บ ที่นอกจากจะส่งผลกระทบต่ออาคารบ้านเรือน ที่พักอาศัย คอกสัตว์ ได้รับความเสียหายแล้ว จากการสำรวจพื้นที่หลังน้ำลด ยังพบว่าพื้นที่การเกษตร เช่น นาข้าว พืชสวน พืชไร่ ได้รับความเสียหายเป็นบริเวณกว้างอีกด้วย


ขณะที่สำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ โดยนายสันติภาพ โทนหงส์สา เกษตร จ.กาฬสินธุ์ นางสาวอรนุช เกษสัญชัย หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ และนายพนมกร เวชกามา นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ร่วมกันสรุปผลการสำรวจพื้นที่เสียหายเบื้องต้น ซึ่งเป็นข้อมูลที่เจ้าหน้าที่เกษตรของแต่ละอำเภอรายงานเข้ามา


นายสันติภาพ โทนหงส์สา เกษตร จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า พื้นที่จ.กาฬสินธุ์ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในฤดูฝนปีนี้มี 2 รอบ โดยรอบแรกเมื่อช่วงเดือน ก.ย.พื้นที่โซน อ.ดอนจาน อ.เขาวง อ.นาคู อ.กุฉินารายณ์ อ.สมเด็จ และในรอบต่อมาในเดือน ต.ค. พื้นที่โซน อ.ห้วยผึ้ง อ.สามชัย อ.หนองกุงศรี อ.ห้วยเม็ก อ.ยางตลาด อ.ท่าคันโท อ.เมือง อ.ร่องคำ อ.กมลาไสย อ.ฆ้องชัย อ.สหัสขันธ์ และ อ.นามน รวม 17 อำเภอ 88 ตำบล 597 หมู่บ้าน โดยมีพื้นที่ประสบภัย 145,697 ไร่ คาดว่าได้รับความเสียหายสิ้นเชิงประมาณ 120,000 ไร่ เกษตรกรที่ประสบภัย 18,699 ราย ซึ่งมีเพียง อ.คำม่วง อำเภอเดียวที่ไม่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมในครั้งนี้


นายสันติภาพกล่าวอีกว่า สำหรับผลกระทบจากสถานการณ์อุกทกภัยปีนี้ ซึ่งทางจังหวัดได้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติน้ำท่วม ถือเป็นครั้งแรกที่ได้รับความเสียหาย ขยายวงกว้างเป็นประวัติการณ์ มากที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นใน จ.กาฬสินธุ์ และจำนวนเงินที่จะให้ความช่วยเหลือมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมทั้งหมด 17 อำเภอ จาก 18 อำเภอดังกล่าว ได้รับความเสียหาย แยกเป็นนาข้าว 115,000 ไร่ นอกนั้นเป็นพืชสวน พืชไร่ มันสำปะหลัง จำนวน 5,000 ไร่


“โดยพื้นที่นาข้าว จะได้รับการชดเชยความเสียหายอัตราไร่ละ 1,340 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่ พืชไร่ พืชผัก อัตราไร่ละ 1,980 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่ และไม้ผล ไม้ยืนต้นอัตราไร่ละ 4,048 บาท ทั้งนี้ คำนวณตามตามอัตราต้นทุนการผลิตร้อยละ 25 อย่างไรก็ตาม หลังจากผ่านขั้นตอนการตรวจสอบของคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) ก็จะได้เสนอต่อคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) จากนั้นเสนอขอรับความช่วยเหลือด้านเงินชดเชยจากรัฐบาล ตามระเบียบของทางราชการต่อไป” นายสันติภาพกล่าวในที่สุด

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป