13/11/2024

รมช.เกษตรคิดนอกกรอบดันภูมิปัญญาอีสานจุดบั้งไฟ ทำฝนเทียม

“ไชยา พรหมา” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คิดนอกกรอบ ดันภูมิปัญญาอีสาน”จุดบั้งไฟทำฝนเทียม” มีผลวิจัยรองรับ ยกเป็น SOLF POWER เผยผลปฏิบัติการฝนหลวง ทั่วไทย เติมน้ำเต็มอิ่มเข้าเป้า 100%

 


เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 ที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ อ.เมือง จ.ตาก นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดตาก มีนายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผวจ.ตาก และนายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นายวีรวัฒน์ อังศุพาณิชย์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงฯ ส่วนราชการ ให้การต้อนรับและรายงานสถานการณ์ ในพื้นที่และผลการปฏิบัติการฝนหลวง ทั่วประเทศ ประจำปี 2566 กับการเตรียมการปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ภาคอีสาน และการขอใช้พื้นที่สนามบินที่กระทรวงคมนาคมดูแล


นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ผลการปฏิบัติการฝนหลวง ปี 2566 ภาพรวมทั่วประเทศไทย ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ได้แก่ ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ปัญหาพายุลูกเห็บ ไฟไหม้ป่า และปัญหาขาดแคลนน้ำตามลุ่มน้ำต่างๆ เนื่องจากปีนี้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เอลนิโญ หลายพื้นที่มีฝนตกน้อย ทำให้เกษตรกรและประชาชนขอรับบริการฝนหลวงเป็นจำนวนมาก


“กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้เปิดปฏิบัติการ โดยจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ รวม 20 หน่วย ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึง 15 ตุลาคม 2566 ปฏิบัติการฝนหลวง 193 วัน รวม 4,097 เที่ยวบิน มีฝนตก 186 วัน คิดเป็น 96.37% มีรายงานฝนตก 67 จังหวัด มีพื้นที่ได้รับประโยชน์จากปฏิบัติการฝนหลวง 193.94 ล้านไร่ มีฝนตกในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ 272 แห่ง แบ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ 34 แห่ง และขนาดกลาง 238 แห่ง เกิดปริมาณน้ำสะสม 615.21 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งชุดเคลื่อนที่เร็วหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 3 หน่วย ปฏิบัติการระหว่างวันที่ 17 ตุลาคม ถึง 31 ตุลาคม 2566 รวม 14 วัน จำนวน 91 เที่ยวบิน ทำให้มี ฝนตกทั้ง 14 วัน คิดเป็น 100 % ในพื้นที่ 11 จังหวัด มีพื้นที่รับประโยชน์ 17.5 ล้านไร่ มีฝนตกน้ำเข้าเขื่อนขนาดใหญ่ 6 แห่ง และอ่างเก็บน้ำ 57 แห่ง รวมปริมาณน้ำสะสม 21.55 ล้าน ลบ.ม.” นายสุพิศ กล่าวฯ


ด้าน นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวชื่นชมปฏิบัติการฝนหลวง สามารถเติมน้ำแบบเต็มอิ่มมั่นใจบรรเทาปัญหาเอลนิโญได้ แต่ในช่วงฤดูแล้งยังห่วงว่าน้ำจะไม่พอใช้ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีการปรับวิธีให้ได้ผลมากยิ่งขึ้น ปกติ การทำฝนทั่วไป วิธีปฏิบัติการ จะทำสามขั้นตอน คือ 1.การก่อเมฆ 2.เลี้ยงเมฆให้อ้วน 3.โจมตี แต่ในภาคอีสาน จะเพิ่มขั้นตอนซ้ำ ในขั้นตอนที่ 1 คือการก่อเมฆ 2 ครั้ง แล้วเลี้ยงให้อ้วนและโจมตี ที่เชื่อว่าจะได้ผลมากยิ่งขึ้น


“ในสนามรบศัตรูคือข้าศึก แต่ปัญหาปากท้องคนไทย ศัตรูของเราคือความแห้งแล้ง ขณะนี้ทราบว่า กรมฝนหลวงฯ มีงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้จรวดเพื่อทำฝนเทียม ส่วนตัวมองว่าวันนี้ควรคิดนอกกรอบ เพราะในช่วงบุญเดือน 6 ทางภาคอีสานทุกหมู่บ้านจะมีการทำบั้งไฟเพื่อจุดบั้งไฟขอฝนกับพญาแถนตามความเชื่อของคนอีสานและบั้งไฟเองปัจจุบันก็มีความสูงพอๆกับเครื่องบินที่โปรยสารเคมีเพื่อทำฝนหลวง จะเป็นไปได้หรือไม่ หากบั้งไฟที่จุดขอฝน จะบรรจุหรือนำเอาสารเคมีขึ้นฟ้าไปด้วย เพื่อให้ไประเบิดบนฟ้าโปรยสารเคมีไปในตัว เมื่องานวิจัยเรื่องจรวดรองรับ หากเทียบกับภูมิปัญญาหากทำได้จริงต้นทุนก็จะน้อยกว่า จึงขอให้กรมฝนหลวงฯทำการศึกษาวิธีการใช้วิทยาศาสตร์ควบคู่กับภูมิปัญญาเพื่อยกเป็นหนึ่งใน SOLF POWER”
นายไชยา กล่าวต่อไปว่าในส่วนการขอใช้สนามบินที่ จ.ตาก ซึ่งอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม จะทำหน้าที่ประสานงานและสนับสนุนในการขอใช้พื้นที่ให้กับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป