07/09/2024

กระบี่-รองผู้ว่าฯกระบี่ลงพื้นที่สำรวจการระบาดของโรคโคนลำต้นเน่าปาล์มน้ำามัน พื้นที่อำเภอปลายพระยาและพื้นที่อำเภอเขาพนม

กระบี่-รองผู้ว่าฯกระบี่ลงพื้นที่สำรวจการระบาดของโรคโคนลำต้นเน่าปาล์มน้ำามัน พื้นที่อำเภอปลายพระยาและพื้นที่อำเภอเขาพนม

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 นายอนุวรรตน์ โหมดพริ้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ พร้อมด้วยนางเพ็ญประภา จันทร์คง หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ เกษตรอำเภอและเจ้าหน้าที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดกระบี่ ได้ร่วมกันลงพื้นที่สำรวจการระบาดของโรคโคนลำต้นเน่าปาล์มน้ำามัน พื้นที่อำเภอปลายพระยา แปลงนายสมปอง รอดโพธิ์ทอง และแปลงนายหมอก มุสาลี ม.6 ต.คีรีวง อ.ปลายพระยา จ.กระบี่และพื้นที่อำเภอเขาพนม แปลงของนายมณฑา คงกระพันธ์ ต.สินปุน อ.เขาพนม

นายอนุวรรตน์ โหมดพริ้ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า จังหวัดกระบี่มีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ยางพาราและปาล์มน้ำมัน ปัจจุบันจังหวัดกระบี่มีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน 1,197,809 ไร่ พบมีการระบาดของโรคโคนลำต้นเน่าปาล์มน้ำามัน ประมาณ 6,331.05 ไร่
เป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของการปลูกปาล์มน้ำมัน มีสาเหตุจากเชื้อเห็ด Ganoderma spp. ซึ่งเป็นเห็ดในตระกูลเดียวกับเห็ดหลินจือ และยังพบว่าเชื้อเห็ดทำความเสียหายในหลายประเทศที่ปลูกปาล์มน้ำมันเป็นการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเพื่อนบ้านของเรา อย่างประเทศมาเลเซีย เชื้อเห็ดจะเข้าทำลายต้นปาล์มน้ำมันที่มีอายุ 25-30 ปี เป็นโรคโคนลำต้นเน่าตายถึง 85% และเมื่อทำการปลูกแทนในที่เดิมก็พบว่าปาล์มน้ำมันที่ปลูกแทนนั้นเป็นโรค โดยแสดงอาการของโรคได้ตั้งแต่อายุ 4-5 ปี และความรุนแรงของโรคจะเพิ่มขึ้นถึง 40-50% เมื่อปาล์มน้ำมันอายุ 15 ปี ปัญหาดังกล่าวนับว่า เป็นปัญหาที่สำคัญอย่างยิ่งในการปลูกปาล์มน้ำมัน

โดยก่อนหน้านี้ศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชชีวินทรีย์แห่งชาติ ภาคใต้ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลา ได้ลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ทำการวิจัยโดยการนำสารชีวภัณฑ์ B-palm มาใช้ในการควบคุมโรคโคนลำต้นเน่า ในการควบคุมเชื้อเห็ดกาโนเดอร์มาไม่ให้เกิดการลุกลาม โดยในต้นที่พบมีการทำลายมากกว่า 50% และต้นที่พบมีการทำลายไม่เกิน 50% ผลจากการทดลองนำสารชีวภัณฑ์ดังกล่าวมาใช้ในแปลงตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 ที่ระบาดรุนแรงกว่า 247 ต้น พบว่าสามารถรักษาหายได้ร้อยละ 67 และต้น ที่ต้องรักษาต่อร้อยละ 26.5 และพบต้นใหม่ที่แสดงอาการ ร้อยละ 6.5 ผลจากการเก็บข้อมูลต้นที่ตายที่ได้ทำการควบคุมเชื้อด้วยสารชีวภัณฑ์ B-palm จำนวน 67 ต้น พบว่า ต้นที่ตายไม่พบเชื้อเห็ด ร้อยละ 67.7 ต้นที่ตายยังเกิดเชื้อเห็ด ร้อยละ 24.2
. จังหวัดกระบี่จะเร่งแก้ปัญหาโรคโคนลำต้นเน่าในปาล์มน้ำมัน โดยใช้สารชีวภัณฑ์ B-palm โดยความร่วมมือจากศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชชีวินทรีย์แห่งชาติ ภาคใต้ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จังหวัดสงขลาในการควบคุมโรคโคนลำต้นเน่า

 

ข้อมูลข่าว / ภาพ
มโนธรรม ใจหาญ จ.กระบี่ รายงาน

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป