11/01/2025

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย วันฮาโลวีน (Halloween Day) อ้างแจกของฟรี หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว หลอกโอนเงินค่าประกัน

4FC730E3-39C8-4CA6-9AD0-21D8262B984E

ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย วันฮาโลวีน (Halloween Day) อ้างแจกของฟรี หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว
หลอกโอนเงินค่าประกัน

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า จากสถิติการรับแจ้งความผ่านศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์พบว่า ในช่วงที่ผ่านมายังคงมีผู้เสียหายหลายรายถูกมิจฉาชีพหลอกลวงขายสินค้า และบริการออนไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ ซึ่งในวันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันฮาโลวีน (Halloween) นั้น เหล่ามิจฉาชีพมักฉวยโอกาสใช้ช่วงวันสำคัญดังกล่าวจัดโปรโมชันต่างๆ เพื่อหลอกลวงขายสินค้า หรือบริการให้แก่ประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเพจร้านค้าปลอม หรือเพจที่พักปลอม โดยจะมีการขายสินค้า หรือบริการในราคาต่ำกว่าปกติอ้างเป็นโปรโมชันในช่วงดังกล่าว กระทั่งเมื่อหลอกลวงได้ทรัพย์สินของผู้เสียหายแล้ว ก็จะปิดเพจ หรือบล็อกบัญชีผู้เสียหายหลบหนีไป รวมไปถึงการใช้บัญชีสื่อสังคมออนไลน์ปลอมโพสต์ข้อความ หรือส่งข้อความไปยังอีเมลในลักษณะในสิทธิพิเศษเช่น เป็นผู้โชคดีได้รับโทรศัพท์ฟรีวันฮาโลวีน Halloween Get Free เป็นต้น พร้อมแนบลิงก์ให้เหยื่อติดต่อ หรือให้กรอกข้อมูลส่วนตัวผ่านเว็บไซต์อันตราย ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขบัตรประชาชน หรือข้อมูลทางการเงิน เช่น หมายเลขบัญชีธนาคาร เลขบัตรเดบิตหรือบัตรเครดิต รหัสหลังบัตร รหัสใช้ครั้งเดียว (OTP) เป็นต้น เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางมิชอบ ไม่ว่าจะเป็นการนำข้อมูลที่ได้ไปขายให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หรือนำข้อมูลไปสุ่มแฮ็กเข้าบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ หรือใช้รหัสบัตรเดบิต บัตรเครดิตชำระค่าสินค้า หรือนำไปแอบอ้างทำเรื่องที่ผิดกฎหมายต่างๆ นอกจากนี้แล้วยังมีการหลอกลวงให้เหยื่อโอนเงินค่าประกันสินค้าก่อนอีกด้วย

ทั้งนี้ จากสถิติศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 – วันที่ 25 ต.ค.66 พบว่า การหลอกลวงซื้อขายสินค้าหรือบริการ มีผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์กว่า 140,045 เรื่อง หรือคิดเป็น 40.27% จากเรื่องการรับแจ้งความทั้งหมด สูงเป็นลำดับที่ 1 โดยมีมูลค่าความเสียหายกว่า 2,041 ล้านบาท สูงเป็นลำดับที่ 4 ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด รองลงมาจากการหลอกลวงให้ลงทุน การหลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงาน และการข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center)

บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนตามนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ในด้านการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงขายสินค้าหรือบริการผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ

โฆษก บช.สอท. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปัจจุบันการใช้งาน หรือเข้าถึงบริการต่างๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ ควรระมัดระวังตรวจสอบให้ดี ตระหนักถึงการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งมิจฉาชีพมักจะใช้ความโลภของเหยื่อเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง ใช้สถานการณ์สำคัญๆ สับเปลี่ยนหมุนเวียนไปตามวันเวลาเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ หลอกเอาข้อมูลส่วนตัวสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง รวมไปถึงการซื้อสินค้าหรือบริการผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มิจฉาชีพฉวยโอกาสเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ หลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชนโดยมิชอบ
จึงขอฝากประชาสัมพันธ์แนวทางการป้องกันการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว ดังนี้

1.ระมัดระวังการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลหรือวันสำคัญๆ ควรหลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ไม่มีหน้าร้าน ควรติดต่อซื้อจากบริษัท หรือตัวแทนจำหน่ายโดยตรง รวมถึงการจองที่พักควรจองผ่านช่องทางที่เป็นทางการ หรือผ่านผู้ให้บริการออนไลน์ที่น่าเชื่อถือเท่านั้น
2.ระมัดระวังการซื้อสินค้าหรือบริการที่ราคาถูกกว่าปกติ หรือมีการจัดโปรโมชัน ลด แลก แจก แถม
3.หากจะซื้อสินค้าหรือบริการใดๆ ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ต้องระมัดระวังเพจปลอม หรือเพจลอกเลียนแบบ โดยเพจจริงจะได้รับเครื่องหมายยืนยันตัวตน มีผู้ติดตามสูงกว่าเพจปลอม สร้างมาเป็นเวลานาน และมีรายละเอียดการติดต่อที่ชัดเจน อย่างน้อยต้องสามารถโทรศัพท์ติดต่อไปสอบถามข้อมูลได้ นอกจากนี้ยังต้องตรวจสอบความโปร่งใสของเพจ ว่ามีการเปลี่ยนชื่อมาก่อนหรือไม่ ผู้จัดการเพจอยู่ในประเทศหรือไม่
4.ระวังการเข้าสู่เว็บไซต์ปลอมหลอกลวงเอาข้อมูลส่วนบุคคล ในการเข้าใช้งานเว็บไซต์ใดๆ ขอให้พิมพ์ หรือกรอกชื่อเว็บไซต์ด้วยตนเอง
5.ไม่คลิกลิงก์ที่แนบมากับอีเมล หรือข้อความสั้น (SMS) ไม่ทราบเเหล่งที่มาและไม่น่าเชื่อถือ โดยเฉพาะที่เป็นการสำรวจข้อมูล กรอกแบบสอบถามต่างๆ เพราะอาจเป็นการดักรับข้อมูลของมิจฉาชีพ

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป