ชลบุรี-อำเภอบางละมุงจัดพิธี MOU มุ่งขับเคลื่อนโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ฯ สร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน
ชลบุรี-อำเภอบางละมุงจัดพิธี MOU มุ่งขับเคลื่อนโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ฯ สร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกัน
(20 ต.ค.66) ที่ห้องประชุมศาลาประชาคม ที่ว่าการอำเภอบางละมุง นายพิสิษฐ สิริสวัสดินุกูล นายอำเภอบางละมุง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักทางศาสนาขยายผลสู่หมู่บ้าน/ชุมชนศีลธรรม อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี การประชุมครั้งนี้มี พระมหาถาวร ฐานวโร เจ้าคณะอำเภอบางละมุง เจ้าอาวาสวัดสุทธาวาส นายวินัย อินทร์พิทักษ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองหนองปรือ หัวหน้าส่วนราชการ ตำรวจ ทหาร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนาทั้ง 5 ศาสนา ประกอบด้วย ศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ฮินดู และซิกข์ เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเพื่อดำเนินการขับเคลื่อนโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักทางศาสนาขยายผลสู่หมู่บ้าน/ชุมชนศีลธรรม ระดับอำเภอ
ตามที่กระทรวงมหาไทยได้กำหนดนโยบายการดำเนินโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีล 5 ขยายผลสู่ หมู่บ้านศีลธรรม” ในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน โดยยึดหลักทางศาสนา และนำมาปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต เพื่อสร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันด้วยความปรองดอง สมานฉันท์ ก่อให้เกิดสันติสุขในหมู่บ้าน/ชุมชน พัฒนาไปสู่หมู่บ้านศีลธรรม ภายใต้ภารกิจของกระทรวงมหาดไทย
ทั้งนี้ในที่ประชุมได้ลงนามบันทึกข้อตกลง ระหว่างนายอำเภอบางละมุง กับผู้นำศาสนาในพื้นที่อำเภอบางละมุง และเมืองพัทยา เพื่อร่วมกันขับเคลื่อน โครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยใช้หลักธรรมทางศาสนาขยายผลสู่หมู่บ้านศีลธรรม ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม ศาสนาอื่นหรือความเชื่ออื่น ได้มีความปรองดองสมานฉันท์ ลดปัญหาความขัดแย้ง สร้างความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ของประชาชน ใช้หลักทางศาสนาที่เคารพนับถือ โดยยึดหลักศาสนาและนำมาปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิต เพื่อสร้างวัฒนธรรมการอยู่ร่วมกันด้วยความปรองดองสมานฉันท์ก่อให้เกิดสันติสุขในหมู่บ้าน/ชุมชน พัฒนาไปสู่หมู่บ้านศีลธรรมภายใต้ภารกิจของกระทรวงมหาดไทย
ซึ่งมีพันธกิจที่เกี่ยวข้องกับประชาชน สมดังพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ที่หวังให้ “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธานภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อให้บรรลุ 5 ตัวชี้วัดหลัก 20 ตัวชี้วัดย่อย 47 กิจกรรม ตามโครงการฯ ดังกล่าวข้างต้น