25/12/2024

ขอนแก่น-“อาชีวศึกษาเอกชน” 19 แห่ง ร้อง ไม่ได้รับเงินอุดหนุน จากรัฐ ต้องยืมเงินจ่ายเงินเดือนครู

S__2883647_0

โรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชน 19 แห่งในขอนแก่น ร้อง ไม่ได้รับเงินอุดหนุน ทำโรงเรียนแย่ ไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนให้ครู ต้องยืมเงินดอกมา สำรองจ่ายก่อน ส่งเรื่องให้กรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เสนอเรื่องพิจารณาการทำงานของ ผอ.สนง.อาชีวศึกษา ทำไมไม่อนุมัติและไม่ดำเนินการในเรื่องเงินอุดหนุนให้ทางโรงเรียน

 

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 15 ตุลาคม 2566 ที่สำนักงาน สส.เอกราช ช่างเหลา ริมถนนเลี่ยงเมือง ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น ได้มี นายพยัต ชาญประเสริฐ ผู้รับใบอนุญาตวิทยาลัยเทคโนโลยีพิมพ์ไทย และ อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ,ผศ.ดร.ดำรงพล ดอกบัว ผู้อำนวยการวิยาลัยเทคโนโลยีภูเวียงพณิชยการ พร้อมด้วย ดร.ปกรณ์ ขันช้อน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีอมตะ,ผศ.ดร.เกรียงไกร ปัญญาประเสริฐกุล ผู้ก่อตั้ง / ผู้รับใบอนุญาต ผู้จัดการวิทยาลัยเทคโนโลยีชุมแพ ไทย – เยอรมัน (จีเทค) ขอนแก่น,

ดร.อัษฎางค์ แสวงการ ผู้รับใบอนุญาต และผู้อำนวยการโรงเรียนเอกชนในระบบ ในฐานะตัวแทนโรงเรียนเอกชนในระบบ 19 โรงเรียน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียน ร้องทุกข์กับนายเอกราช ช่างเหลา สส.ขอนแก่น พรรคภูมิใจไทย ในฐานะ กรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ตรวจสอบการทำงานของผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดขอนแก่น ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้โรงเรียนเอกชนในระบบ ประเภทอาชีวศึกษาไม่ได้รับเงินอุดหนุน ประจำเดือนกันยายน 2566


ดร.ปกรณ์ ขันช้อน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีอมตะ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเรื่องของเงินอุดหนุนไม่เคยมีปัญหา และได้ย้ายมาในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาหรือ สอศ.มีการจ่ายเงินอุดหนุนเป็นไตรมาส และมีการตรวจสถานศึกษาปีละ 2 ครั้ง คือตรวจในช่วงเทอมที่ 1 และเทอมที่ 2 ให้เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติ โดยมีคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจังหวัดขอนแก่นควบคุมดูแล ซึ่งการจ่ายเงินอุดหนุนนั้นจะจ่ายให้โรงเรียนเอกชนในระบบทั้ง 19 โรงเรียน ประมาณวันที่ 25-26 เงินก็เข้าในระบบแล้ว


แต่ในเดือนกันยายน 2566 ซึ่งอยู่ในไตรมาสสุดท้ายของปี ทุกโรงเรียนยังไม่ได้รับเงินอุดหนุน ทั้งที่มีการตรวจผ่านไปแล้ว ซึ่งทราบว่ามี 12 โรงเรียนที่ผ่านตามระเบียบส่วนที่เหลือจะมีการตรวจรอบที่ 2 แต่ก็ไม่เข้าใจว่า ทำไมผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดขอนแก่น ไม่อนุมัติจ่ายเงินอุดหนุนให้โรงเรียนที่ผ่านมาตราฐานแล้ว แต่กลับเหมารวมไม่จ่ายทั้งจังหวัด รวม 19 แห่ง และเป็นเพียงจังหวัดเดียวเท่านั้นที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุน ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเพราะสาเหตุใด เพราะไม่มีการแจ้งรายละเอียดให้ทางโรงเรียนทราบ


จึงเห็นว่าไม่มีความเป็นธรรมกับโรงเรียนทั้ง 19 แห่ง เพราะเงินอุดหนุนนั้นเป็นเงินภาษีของประชาชน ที่รัฐบาลจัดสรรมาอุดหนุนโรงเรียน ให้จัดการศึกษาให้นักเรียนที่ต้องการเรียนหนังสือ โรงเรียนบางแห่งไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนครู ไม่มีเงินจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ต้องไปกู้ยืมเงินดอกมาจ่ายแทน ทุกอย่างเกิดปัญหาโดยรวมทั้งหมด จึงได้รวมตัวกันเขียนหนังสือร้องเรียน มาร้องเรียนกับ กรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร เพื่อนำเรื่องเสนอต่อคณะกรรมการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้พิจารณาการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดขอนแก่นว่าเหมาะสมหรือไม่ เพื่อแก้ไขปัญหาให้โรงเรียนเอกชนในระบบทั้ง 19 แห่ง


ทางด้าน ผศ.ดร.ดำรงพล ดอกบัว ผู้อำนวยการวิยาลัยเทคโนโลยีภูเวียงพณิชยการ กล่าวถึงปัญหาของโรงเรียนเอกชนในระบบ 19 โรงเรียน ในขณะนี้ว่า เกิดจากผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดขอนแก่น ไม่อนุมัติและไม่ดำเนินการในเรื่องเงินอุดหนุนให้ทางโรงเรียน เพราะถ้าคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่ลงพื้นที่ตรวจสถานศึกษาจนเสร็จเรียบร้อยรายงานไปยังผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการก็ต้องอนุมัติเรื่องไปยังกระทรวง แล้วกระทรวงก็จะจ่ายเงินมาให้ทางโรงเรียน แต่ไม่มีการจ่ายของเดือนกันยายน 2566 ทั้ง 19 แห่งของจังหวัดขอนแก่น


“ในส่วนของการตรวจสถานศึกษานั้น หากพบว่าในวันตรวจ นักเรียนมาไม่ครบตามจำนวนที่แจ้งไป ทางโรงเรียนก็สามารถแจ้งหรือรายงานเข้าระบบในภายหลังได้ และถ้าโรงเรียนใดบกพร่อง คณะกรรมการการอาชีวศึกษาก็จะต้องแจ้งให้ปรับปรุงแก้ไข ไม่ใช่เหมารวมไม่จ่ายทั้งจังหวัดเช่นนี้ เพราะทำแบบนี้ปัญหามันเกิดกับทางโรงเรียน ไม่มีเงินใช้จ่ายภายใน จึงอยากให้มีการแก้ไขการบริหารงานในสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดขอนแก่นด้วย เพราะขณะนี้ทั้ง 19 โรงเรียนเดือดร้อนกันทั้งหมด”


ท้ายสุด นายเอกราช ช่างเหลา สส.ขอนแก่น ในฐานะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า วันนี้พึ่งทราบรายละเอียดจากทางผู้ร้องเรียน ในเบื้องต้นจะทำการประสานกับผู้อำนวยการสำนักงานอาชีวศึกษาจังหวัดขอนแก่น เพื่อขอทราบข้อเท็จจริงและขอทราบเหตุผลการไม่จ่ายเงินอุดหนุนให้โรงเรียนเอกชนทั้ง 19 แห่งว่า เกิดจากอะไร ถ้าคุยกันรู้เรื่องก็จบกัน ถ้าคุยไม่รู้เรื่อง ก็จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร และหากเรื่องไม่จบอีกก็จะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการต่อไปตามขั้นตอน.

 

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป