22/12/2024

ตรัง-ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง พัฒนาเส้นทางรถไฟสายอันดามัน ดันท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

S__69861413

ตรัง-ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง พัฒนาเส้นทางรถไฟสายอันดามัน ดันท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

 

 

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จัดโครงการวิจัย “เส้นทางวัฒนธรรมทางรถไฟสายอันดามัน” ภายใต้โครงการวิจัย “มหาวิทยาลัยกับการขับเคลื่อนศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่” โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งครอบคลุม 3 หัวเมืองสำคัญในจังหวัดตรัง ได้แก่ ห้วยยอด ทับเที่ยง และกันตัง เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดตรัง อนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งมรดกทางสถาปัตยกรรม กระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนสร้างงาน สร้างรายได้แก่คนในพื้นที่

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ตรีชาติ เลาแก้วหนู อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า เส้นทางรถไฟสายอันดามัน คือ เส้นทางรถไฟที่ต่อจากชุมทางทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ขยายแยกออกมาเป็นเส้นทางย่อย และสุดทางที่ท่าเรือกันตัง จ.ตรัง โดยได้ดำเนินโครงการวิจัย “เส้นทางวัฒนธรรมทางรถไฟสายอันดามัน” ตั้งแต่การศึกษามรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่ ศักยภาพความเป็นไปได้ของการพัฒนาเส้นทางรถไฟให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยว ความคาดหวังของนักท่องเที่ยวในการท่องเที่ยวทางรถไฟ สภาพเดิมของรถไฟ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวระหว่างเส้นทาง
ที่ผ่านมาได้ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าตรังอย่างต่อเนื่อง

โดยมีการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่ โดยเฉพาะที่กันตัง เนื่องจากเป็นเมืองท่าที่สำคัญในอดีต มีความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม มีแหล่งมรดกทางสถาปัตยกรรมที่หลากหลาย ทั้งสถาปัตยกรรมจีน สถาปัตยกรรมจีนผสมยุโรป และสถาปัตยกรรมยุโรป จึงเริ่มทำการศึกษาอาคารที่ทรงคุณค่าของเมืองกันตัง และเผยแพร่ในรูปแบบหนังสือและสื่อดิจิทัลแก่ประชาชนในพื้นที่ นักท่องเที่ยว และผู้สนใจให้ได้ศึกษาและเห็นความสำคัญของมรดกทางสถาปัตยกรรมเมืองกันตัง รวมทั้งพัฒนาสื่ออื่นๆ ด้านสถาปัตยกรรม เช่น การทำโมเดลจำลอง เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้แบบด้านสถาปัตยกรรม และตระหนักถึงความสำคัญของสถาปัตยกรรมในพื้นที่เมืองเก่ากันตัง

นอกจากนี้ ยังขยายผลไปสู่การพัฒนาเมืองสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ซึ่งเมืองกันตังมีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สามารถจับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ทั้งสถาปัตยกรรมบ้านเรือน อาหาร พิธีกรรม ประเพณีท้องถิ่น ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้ ปัจจุบันเมืองกันตังมีความพร้อมทั้งเส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม บุคลากรที่ตอบโจทย์การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว มัคคุเทศก์ท้องถิ่นที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งในอนาคตเมืองกันตังจะกลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของนักท่องเที่ยวทั่วประเทศ ที่ต้องการเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่มีคุณค่าของเมืองท่าที่สำคัญในอดีตของประเทศ

นายพิพิธ จรุงเกียรติกุล หัวหน้ากลุ่มกันตังเมืองเก่า หนึ่งในภาคีเครือข่าย กล่าวว่า ม.อ. มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวจังหวัดตรัง โดยเฉพาะกันตังเมืองเก่า ทำให้กันตังมีฐานที่เข้มแข็ง เป็นที่รู้จักในระดับจังหวัดมากขึ้น สิ่งสำคัญของการขับเคลื่อนคือกระบวนการทำงาน ซึ่ง ม.อ. เข้ามาสนับสนุนองค์ความรู้ พัฒนาบุคลากร ดึงทรัพยากรท้องถิ่นที่มีอยู่ของชุมชนมาต่อยอด แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปรับทัศนคติ และสร้างการมีส่วนร่วมชองคนในชุมชน

นายวิสุทธิ์ อรุณเวชกุล มัคคุเทศก์ท้องถิ่น กล่าวว่า เส้นทางท่องเที่ยวกันตังเมืองเก่าเริ่มต้นด้วยการนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองกันตัง และร่วมกิจกรรมทำขนมและอาหารโบราณ ที่ ศาลเจ้าเก่งจิวโฮยก้วน (ศาลเจ้าไหหลำ) จากนั้นไปต่อที่มัสยิดปากีสถาน ชมงานหัตถกรรมเตียงเชือก ซึ่งมีเฉพาะที่กันตังเท่านั้น ต่อที่อาคารชิโนโปรตุกีส “บั่นเซ่งหิ้น” ที่ส่งออกยางพาราก้อนแรก ชมภาพศิลปะการก่อสร้างของคนฮกเกี้ยน ที่ ศาลเจ้าฮกเกี้ยน ต่อด้วยสถานีรถไฟสุดสายอันดามัน

“สถานีรถไฟกันตัง” ที่เชื่อมสงขลากับกันตัง อ่าวไทยกับอันดามัน เรียนรู้ประวัติศาสตร์พระยารัษฎา ที่ พิพิธภัณฑ์บ้านพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) บ้านเลขที่ 1 ชมต้นยางพาราต้นแรก พระพุทธรูปที่แกะสลักจากหินอ่อนองค์ใหญ่ที่สุดในพม่า “พระหยกขาว” ที่ วัดตรังคภูมิพุทธาวาส ชมถ้ำประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ที่ สวนสาธารณะตำหนักจันทร์ ไปต่อที่ ศิลปินแห่งชาติอาจารย์ณรงค์ จันทร์พุ่ม และชมวิวบนหอคอย ที่ ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์เมืองกันตัง ปิดท้ายที่ศาลเจ้าไหหลำอีกครั้ง ถือเป็นการสิ้นสุดโปรแกรมท่องเที่ยวเมืองกันตัง

นายยิ่งยศ แก้วมี สถาปนิก และกรรมาธิการฝ่ายกิจกรรมเมืองและนโยบายสาธารณะ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกหนึ่งในภาคีเครือข่าย กล่าวว่า เริ่มดำเนินงานร่วมกับ ม.อ. ตั้งแต่ปี 2558 ในการขับเคลื่อนงานด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ และพัฒนาย่านเมืองเก่าของจังหวัดตรัง อาทิ โครงการ 100 ปีเมืองทับเที่ยง โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์สนับสนุนการทำโมเดล และโครงการทับเที่ยง Vernadoc เป็นการเขียนแบบเพื่อการอนุรักษ์ ซึ่งความสำเร็จที่ได้จากการทำงานร่วมกับ ม.อ. คือความต่อเนื่องของการทำงาน อาจารย์และนักศึกษาตั้งใจทำงานได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ตระหนักและเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนมากขึ้น

“งานวิจัย “เส้นทางวัฒนธรรมทางรถไฟสายอันดามัน” ส่งผลให้หน่วยงานรัฐในพื้นที่สามารถถอดบทเรียนเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการท่องเที่ยว ฟื้นฟูเมือง และกระตุ้นการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่กำลังเลือนหายไปกลับมา” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ตรีชาติ กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป