ตรัง-“ย่านตาขาวโมเดล” ต้นแบบการพัฒนาชุมชนเข็มแข็งอย่างยั่งยืน โดยนักวิจัย ม.อ.ตรัง
มหาวิทยาลัยสงขลนครินทร์ วิทยาเขตตรัง ขับเคลื่อนโครงการ “ย่านตาขาวโมเดล” ภายใต้โครงการ “ม.อ. เพื่อชุมชนเข้มแข็ง” ยึดหลักศาสตร์พระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนอย่างยั่งยืน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาติ มณีมัย คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลนครินทร์ วิทยาเขตตรัง เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง โดยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ ร่วมกันดำเนินโครงการ “ม.อ. เพื่อชุมชนเข้มแข็ง” ตั้งแต่ปี 2559 โดยคัดเลือกอำเภอย่านตาขาว เป็นพื้นที่นำร่องโครงการ “ย่านตาขาวโมเดล”
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งได้ลงพื้นที่ไปศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา โดยใช้แนวคิดศาสตร์พระราชา “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนสร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ชุมชน
“ย่านตาขาวโมเดล” แบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การเข้าใจ นักวิจัยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ได้เข้าไปศึกษาชุมชนในมิติต่างๆ ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม พบว่า ย่านตาขาวเป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรทางธรรมชาติที่หลากหลาย มีมรดกทางวัฒนธรรมและสถาปัตกรรมที่มีคุณค่า รวมถึงวิถีชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ นำไปสู่การรวมกลุ่มของสมาชิกในชุมชน ภายใต้ชื่อ “กลุ่มย่านตาขาวโมเดล” การศึกษามุ่งเน้นการออกแบบและการพัฒนาพื้นที่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเกิดการจัดกิจกรรทางวัฒนธรรมของชุมชน โดยมีหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ให้การสนับสนุน
ต่อมาในระยะที่ 2 การเข้าถึง นักวิจัยคณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการเข้าร่วมดำเนินโครงการกับนักวิจัยจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เพื่อยกระดับมูลค่าทางเศรษฐกิจของชุมชนจากฐานมรดกทางวัฒนธรรม ทุนทางสังคม และทรัพยากรทางธรรมชาติ ในรูปแบบเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ (Creative Economy) เพื่อพัฒนาแบรนด์สถานที่ (Destination Brand) ในชื่อ “ย่านตาขาวแบรนด์” สำหรับการสื่อสารทางการตลาดของผลิตภัณฑ์และบริการ
และระยะที่ 3 การพัฒนา นักวิจัยและชุมชนย่านตาขาวร่วมกันพัฒนาศักยภาพชุมชนด้านธุรกิจต่อเนื่อง โดยมหาวิทยาลัยยังคงสนับสนุนองค์ความรู้ต่างๆ ในขณะที่หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ให้การสนับสนุนเรื่องงบประมาณและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ผศ. ดร.ปาริชาติ กล่าวต่อว่า คณะวิจัยยังเล็งเห็นถึงศักยภาพเรื่องของศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ซึ่งย่านตาขาวเป็นแหล่งรวมของศิลปะการแสดงพื้นบ้าน อาทิ โนราห์ หนังตะลุง ลิเกป่า รอแง็งชาวเล และกลองยาว โดยใช้องค์ความรู้ในการพัฒนาศิลปะการแสดงสร้างสรรค์ ขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจ สนับสนุนการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ในระดับจังหวัดและพื้นที่ภาคใต้ต่อไป
“พันธกิจหนึ่งที่สำคัญของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คือ การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อสังคม ที่มุ่งเน้นให้นักวิจัยเข้าไปมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความเข้มแข็งและความยั่งยืนให้แก่ชุมชนในพื้นที่ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศที่ต้องการสร้างโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันทางสังคม ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีกว่าเดิม” ผศ. ดร.ปาริชาติ กล่าว