25/12/2024

ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัยแก๊ง Call Center อ้างเป็นตำรวจ แจ้งว่าเป็นผู้เช่าบ้านที่มีการตรวจค้นพบยาเสพติด และพัวพันกับการฟอกเงิน ให้โอนมาตรวจสอบเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ

3C269C26-1762-475D-B9FE-D99C6A344BF5

ตำรวจไซเบอร์ เตือนภัยแก๊ง Call Center อ้างเป็นตำรวจ แจ้งว่าเป็นผู้เช่าบ้านที่มีการตรวจค้นพบยาเสพติด และพัวพันกับการฟอกเงิน ให้โอนมาตรวจสอบเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก บช.สอท. กล่าวว่า ได้รับรายงานจากศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า ในช่วงที่ผ่านมาตรวจสอบพบแผนประทุษกรรมของมิจฉาชีพแก๊ง Call Center โทรศัพท์ไปยังผู้เสียหายจำนวนหลายรายแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจธุรการคดี สังกัดสถานีตำรวจต่างๆ ทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่จะเป็นสถานีตำรวจในพื้นที่ห่างไกล เริ่มจากสร้างความน่าเชื่อถือโดยการแจ้งชื่อ-นามสกุล เลขประจำตัวประชาชน หรือแจ้งข้อมูลตัวของผู้เสียหายได้อย่างถูกต้อง ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจริง จากนั้นมิจฉาชีพจะแจ้งว่าผู้เสียหายมีชื่อเป็นผู้เช่าบ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งจากการตรวจค้นบ้านหลังดังกล่าวพบยาเสพติด และสิ่งของผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก เมื่อผู้เสียหายปฏิเสธว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับบ้านหลังดังกล่าว มิจฉาชีพจะให้ผู้เสียเพิ่มเพื่อนทางแอปพลิเคชันไลน์กับสถานีตำรวจเพื่อทำการสอบสวนปากคำ ระหว่างนั้นมิจฉาชีพจะส่งเอกสารราชการปลอมให้ตรวจสอบ รวมถึงสวมเครื่องแบบตำรวจเปิดกล้องโทรศัพท์วิดีโอคอลกับผู้เสียหาย ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจริง นอกจากนี้จะแจ้งผู้เสียหายว่าเพื่อไม่การสอบสวนปากคำถูกเสียงภายนอกรบกวน ให้อยู่เพียงตัวคนเดียวในสถานที่ที่ไม่มีผู้อื่นอยู่ ต่อมามิจฉาชีพจะสอบถามว่าผู้เสียหายมีบัญชีธนาคารกี่บัญชี แต่ละบัญชีมีจำนวนเงินเท่าใดบ้าง กระทั่งแจ้งผู้เสียหายว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน เพื่อเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจให้โอนเงินมาตรวจสอบถึงแหล่งที่มา โดยเมื่อการตรวจสอบเสร็จสิ้นจะคืนเงินให้ผู้เสียหาย
ทั้งนี้ จากสถิติศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 – วันที่ 30 ก.ย.66 พบว่า การข่มขู่ทางโทรศัพท์ (Call Center) มีผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์กว่า 24,601 เรื่อง หรือคิดเป็น 7.34% จากเรื่องการรับแจ้งความทั้งหมด สูงเป็นลำดับที่ 5 รองจากการหลอกลวงซื้อขายสินค้าออนไลน์ หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน หลอกให้กู้เงิน และการหลอกลวงให้ลงทุน โดยมีมูลค่าความเสียหายกว่า 5,449 ล้านบาท สูงเป็นลำดับที่ 2 ของมูลค่าความเสียหายทั้งหมด รองจากการหลอกลวงให้ลงทุน
ที่ผ่านมา บช.สอท. โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้เร่งรัดขับเคลื่อนของนโยบายของรัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ รวมถึงการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ส่งข้อความสั้น (SMS) หรือโทรศัพท์ไปหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชนสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ทั้งนี้นอกจากการระดมกวาดล้างจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดในหลายๆ ปฏิบัติการแล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ยังได้ร่วมกันแสวงหาแนวทาง และวางมาตรการป้องกันในการแก้ไขปัญหาภัยออนไลน์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นโครงการเตือนภัยไซเบอร์วัคซีน การทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับสถาบันการเงิน การบังคับกฎหมายตาม พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 การแก้ไขการรับจ้างการเปิดบัญชีธนาคาร การครอบครองซิมโทรศัพท์มือถือ การอายัดบัญชีธนาคารอย่างรวดเร็วให้ทันท่วงที การตรวจจับบัญชี หรือการทำธุรกรรมการเงินที่ต้องสงสัย และการยืนยันตัวตนก่อนทำธุรกรรมการเงินที่มีวงเงินสูง เป็นต้น
การกระทำลักษณะดังกล่าวเข้าข่ายความผิดฐาน “ ร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น, ร่วมกันเป็นอั้งยี่, ร่วมกันเป็นซ่องโจร, ร่วมกันมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ, ร่วมกันโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน และร่วมกันฟอกเงิน ” หรือกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า สิ่งแรกที่มิจฉาชีพมักจะทำคือการสร้างความน่าเชื่อถือต่อผู้เสียหาย โดยการทราบชื่อนามสกุลของผู้เสียหาย ใช้จิตวิทยาเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของเหยื่อ มีการเขียนบทสนทนาให้มิจฉาชีพใช้พูดคุยกับเหยื่อ มีการแต่งกายเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และสร้างสภาพแวดล้อมให้เหมือนจริง เพื่อทำให้เหยื่อคล้อยตามหลงเชื่อ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยในการหลอกลวง เช่น การใช้ระบบตอบรับอัตโนมัติ IVR (Interactive Voice Response) หรือเทคโนโลยี Deepfake เป็นต้น เพราะฉะนั้นประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชน ให้พึงระมัดระวังการรับสายโทรศัพท์หมายเลขที่ไม่คุ้นเคย ทั้งหมายเลขที่โทรมาจากในประเทศ หรือโทรมาจากต่างประเทศ ขอให้ท่านอย่าตื่นตระหนก อย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว อย่าหลงเชื่อเปิดเผยข้อมูลทางการเงิน และโอนให้กับผู้ใดโดยเด็ดขาด
พร้อมขอประชาสัมพันธ์แนวทางป้องกันภัยจากมิจฉาชีพแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ดังนี้
1.หน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานเอกชน ไม่มีนโยบายที่จะต้องโทรศัพท์ไปยังประชาชน เพื่อแสดงเอกสารราชการ กล่าวอ้างว่าท่านเกี่ยวข้องกับกระทำความผิดกฎหมาย หากท่านได้รับสายในลักษณะดังกล่าวสันนิษฐานได้ว่าเป็นมิจฉาชีพอย่างแน่นอน
2.ไม่ตกใจกลัว ไม่เชื่อเรื่องราวต่างๆ จากบุคคลที่ไม่รู้จัก ให้วางสายการสนทนาดังกล่าว ตรวจสอบก่อนโดยการโทรศัพท์ไปยังหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ของหน่วยงานนั้นๆ โดยตรง หรือโทรศัพท์สอบถามไปยังสายด่วนตำรวจไซเบอร์ หมายเลข 1441
3.ไม่เพิ่มเพื่อนทางแอปพลิเคชันไลน์เพื่อติดต่อกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ โดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานีตำรวจ หรือหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างๆ
4.อย่าโอนเงินเด็ดขาด หากมีคำพูดว่าให้โอนเงินมาตรวจสอบเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ หรือเพื่อสิ่งใดก็ตาม นั่นคือแก๊งคอลเซ็นเตอร์มิจฉาชีพ
5.ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลการเงินกับผู้ใดทั้งนั้น เช่น เลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร รหัสหลังบัตร รหัส OTP เป็นต้น
6.ท่านสามารถบล็อกสายเรียกเข้าที่มาจากต่างประเทศได้ ด้วยการกด *138*1# แล้วโทรออก
7.ติดตั้งแอปพลิเคชัน Whos Call เพื่อแจ้งเตือนระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จัก ป้องกันภัยจากมิจฉาชีพที่อาจโทรศัพท์มาหลอกลวง

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป