ตรัง-ม.อ. ตรัง ขับเคลื่อนศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (Universal Design Center) รองรับสังคมสูงวัย-ผู้พิการ
ตรัง-ม.อ. ตรัง ขับเคลื่อนศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (Universal Design Center) รองรับสังคมสูงวัย-ผู้พิการ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง จัดตั้งศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (Universal Design Center) ภายใต้โครงการพัฒนากลไกส่งเสริมนวัตกรรมสภาพแวดล้อมสังคมสูงวัย โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีภาคีร่วม 5 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการออกแบบกายภาพที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุและผู้พิการ เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลด้านงานวิจัย และนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการ อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ ความเข้าใจในการออกแบบเพื่อทุกคน เป็นแหล่งศึกษาดูงานด้านอุปกรณ์นวัตกรรมและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงวัยและผู้พิการ ตลอดจนเป็นศูนย์รับการปรึกษาให้กับหน่วยงานในท้องถิ่นที่ต้องการปรับปรุงอาคารสาธารณะให้เหมาะสมกับผู้สูงวัยและผู้พิการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ตรีชาติ เลาแก้วหนู อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า Universal Design มีความสำคัญอย่างมากต่องานสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชน โดยเฉพาะการออกแบบอาคารสาธารณะ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้นำแนวคิด Universal Design มาบูรณาการร่วมกับการเรียนการสอน เพื่อให้นักศึกษาได้รับองค์ความรู้ และเป็นแนวทางเพื่อต่อยอดในการประกอบอาชีพในอนาคต ในงานออกแบบเพื่อผู้สูงอายุ ผู้พิการ และคนทั่วไป ซึ่งทุกคนสามารถใช้ได้
ที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการพัฒนากลไกส่งเสริมนวัตกรรมสภาพแวดล้อมสังคมสูงวัย โดยการเปิดศูนย์ออกแบบสภาพแวดล้อมเพื่อทุกคน (Universal Design Center) มีห้องตัวอย่างเพื่อการศึกษาดูงาน ให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในพื้นที่จังหวัดตรัง อาทิ เทศบาล อบต. อสม. รพ. รพ.สต. และหน่วยงานที่ต้องการองค์ความรู้เพื่อนำไปปฎิบัติต่อในพื้นที่จริง รวมทั้งลงพื้นที่สำรวจอาคารสาธารณะ สร้างวัดต้นแบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัย
และได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตรัง ลงพื้นที่สำรวจบ้านพักอาศัยเพื่อปรับสภาพแวดล้อม ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของการรองรับสังคมสูงวัย เนื่องจากผู้สูงอายุและผู้พิการมักจะอยู่ติดบ้าน การปรับสภาพแวดล้อมบ้านพักอาศัยให้ปลอดภัยจึงเป็นเป้าหมายสำคัญ โดยได้ทำการสำรวจบ้านพักอาศัยแล้วกว่า 100 หลัง ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่จัดตั้งศูนย์ นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมอบรมเสวนาเพื่อให้ความรู้แก่ช่างท้องถิ่นและผู้รับเหมาก่อสร้าง กลุ่มผู้นำที่ทำงานร่วมกับผู้สูงอายุ เช่น อสม. ชมรมผู้สูงอายุ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่อีกด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ตรีชาติ กล่าวต่ออีกว่า จากการดำเนินโครงการได้รับผลตอบรับที่ดี คนในพื้นที่ให้ความสำคัญในการเตรียมพร้อมและปรับปรุงบ้านพักอาศัยมากขึ้น สำหรับเป้าหมายต่อไปของโครงการคือการขยายพื้นที่ครอบคลุมทั่วทุกจังหวัดในภาคใต้ ขยายผลองค์ความรู้ ประเมินผลการใช้งานและความพึงพอใจของบ้านพักอาศัยที่ได้ทำการปรับปรุงตามคำแนะนำ จัดทำคู่มือการปรับปรุงบ้านเพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการ อีกทั้งการผลิตสื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ จากการลงพื้นที่ เพื่อประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางออนไลน์ต่อไป