14/11/2024

ปทุมธานี รมต.เกษตรฯ เตรียมศึกษาและพัฒนา Gene Bank เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าว

ปทุมธานี รมต.เกษตรฯ เตรียมศึกษาและพัฒนา Gene Bank เพื่อเพิ่มศักยภาพการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าว

 

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 เวลา 14.00 น. ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ (ศขช.) หรือ Gene Bank โดยมี นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี พลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี เข้าร่วม ณ ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ตำบลรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี

Gene Bank หรือธนาคารเชื้อพันธุ์ เป็นการรักษาและอนุรักษ์ความหลากหลายทางพันธุกรรม (Genetic Diversiy) ของพืชหรือสัตว์ ที่มีลักษณะพันธุกรรมที่น่าสนใจ เช่น มีความต้านทานโรคสูง เป็นชนิดพันธุ์ดั้งเดิม รวมทั้งเป็นชนิดพันธุ์ที่กำลังจะสูญหายไป เพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคต สำหรับศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ (ธนาคารเชื้อพันธุ์ข้าว) เป็นศูนย์วิจัยข้าวแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2524 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น มีหน้าที่ในการพัฒนาและปรับปรุงการผลิตข้าว รวบรวม อนุรักษ์ ทรัพยากรพันธุกรรมข้าวไทย รวบรวมข้อมูลประวัติและลักษณะประจำพันธุ์ข้าว ศึกษา ค้นคว้า และวิจัย ด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรพันธุกรรมข้าว

พร้อมให้บริการข้อมูลและเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าว มีการดำเนินงานในการฟื้นฟูเชื้อพันธุ์ข้าว 2,000 เชื้อพันธุ์ต่อปี บริการเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าว เชื้อพันธุ์ละ 5 กรัม ปี โดยในปี 2561 – 2566 ให้บริการ 106 ราย รวม 2,388 เชื้อพันธุ์ ส่งเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวไปฝากเก็บที่ธนาคารเมล็ดพันธุ์พืชโลกสวาลบาร์ด ราชอาณาจักรนอร์เวย์ 7 ครั้ง รวม 1,239 เชื้อพันธุ์ ปัจจุบันมีเชื้อพันธุ์ข้าวเก็บรักษาไว้ประมาณ 24,000 เชื้อพันธุ์ แบ่งเป็น ข้าวพื้นเมือง 18,000 เชื้อพันธุ์ ข้าวสายพันธุ์ดี 2,000 เชื้อพันธุ์ ข้าวพันธุ์รับรอง 100 เชื้อพันธุ์ ข้าวสายพันธุ์ต่างประเทศ 3,000 เชื้อพันธุ์ และข้าวป่า 1,000 เชื้อพันธุ์ ใน Gene Bank แห่งนี้ มีห้องเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าว 2 ระยะคือ 1) ห้องอนุรักษ์ระยะสั้น (อุณหภูมิ 15 °C ความชื้นสัมพัทธ์ไม่เกิน 60%) เก็บรักษาได้ประมาณ 3 – 5 ปี และ 2) ห้องอนุรักษ์ระยะปานกลาง (อุณหภูมิ 5 °C ความชื้นสัมพัทธ์ไม่เกิน 60%) เก็บรักษาได้ประมาณ 20 ปี


โอกาสนี้ ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าวว่า “Gene Bank เป็นส่วนสำคัญที่ตั้งอยู่ที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี มีความสำคัญในการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าว แต่เนื่องจากมีอายุการใช้งานที่เก่าแก่ และมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ทำให้ไม่สามาถดำเนินการได้เต็มศักยภาพ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาการผลิต ทั้งด้านงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้สามารถแข่งขันด้านการส่งออก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาศูนย์แห่งนี้ให้มีความทันสมัย สามารถปฏิบัติการได้เต็มศักยภาพ จะส่งผลให้ได้พันธุ์ที่มีผลผลิตสูง เพิ่มรายได้ให้ชาวนาต่อไป”

ทั้งนี้ จังหวัดปทุมธานีมีพื้นที่เกษตรกรรม 353,308.17 ไร่ (36.66% ของพื้นที่ทั้งหมด) เป็นพื้นที่เพาะปลูกพืช 332,992.02 ไร่ ได้แก่ ข้าว 248,536.81 ไร่ ไม้ผล 35,895.55 ไร่ ไม้ยืนต้น 15,418.63 ไร่ พืชผัก 21,445 ไร่ ไม้ดอกไม้ประดับ 6,093.14 ไร่ พืชไร่ 3,837.77 ไร่ สมุนไพร 1,765.13 ไร่ และพื้นที่ประมง 20,316.15 ไร่ มีพื้นที่ชลประทาน 501,937 ไร่ และไม่มีพื้นที่เกษตรกรรมนอกเขตชลประทาน อย่างไรก็ตาม จังหวัดปทุมธานีได้ยกย่องให้ข้าวหอมปทุมธานี (ข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1) เป็นสินค้าเกษตรที่สำคัญ และเป็นสินค้า GI ของจังหวัดปทุมธานี มีลักษณะเด่น คือ เป็นพันธุ์ข้าวที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ ณ ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี มีลักษณะทางกายภาพ คือ เปลือกข้าวข้าวสีฟาง รูปทรงเมล็ดข้าวเรียว ยาว จมูกข้าวเล็ก เนื้อเมล็ดข้าวมีสีขาว ผิวค่อนข้างมัน เมื่อสุกแล้วข้าวนุ่มค่อนข้างเหนียวและมีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ปลูกและผลิตในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี

 

ภาพ/ข่าว ประภาพรรณ ขาวขำ/รายงาน

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป