23/11/2024

รมว.แรงงาน “พิพัฒน์” สั่งกรมพัฒน์ ผลิตเชฟอาหารไทย ป้อนตลาดแรงงานภาคการท่องเที่ยว

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงานเร่งผลิตแรงงานด้านอาหารไทยป้อนภาคการท่องเที่ยว พร้อมโชว์ฝีมือทำ “ต้มข่าไก่” เมนูเด็ดของไทยหลังคว้ารางวัลซุปอร่อยระดับโลก มีศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือด้านอาหารไทยทั่วประเทศ 71 แห่ง

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ร่วมสาธิตการทำอาหารไทยในเมนู “ต้มข่าไก่” พร้อมเปิดเผยหลังมอบนโยบายให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานว่า ได้สั่งการให้เร่งดำเนินการพัฒนาทักษะให้แก่แรงงาน โดยเฉพาะการผลิตแรงงานป้อนภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีหลายตำแหน่งและหลายอัตรา ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวมีความต้องการปีละกว่า 400,000 คน ซึ่งทักษะด้านอาหารไทยในตำแหน่งเชฟอาหารไทยหรือกุ๊กตามร้านอาหาร เป็นตำแหน่งงานที่ผู้ประกอบการร้านอาหาร ภัตตาคารหรือโรงแรมที่พักตามแหล่งท่องเที่ยวมีความต้องการผู้ที่มีทักษะการทำอาหารเพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่กำลังฟื้นตัว

และปัจจุบันเริ่มมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น อีกทั้ง ผู้ที่มีทักษะในการทำอาหารไทย มีโอกาสในการประกอบอาชีพทั้งส่วนตัวหรือเข้าทำงานในสถานประกอบกิจการ เมื่อพูดถึงด้านรายได้ของเชฟมีหลายระดับ เชฟในประเทศไทย จะมีรายได้เริ่มต้นตั้งแต่ 18,000 – 32,000 บาท/เดือน เชฟที่ทำงานในโรงแรมระดับ 3-4 ดาว มีรายได้ประมาณ 70,000 – 90,000 บาท/เดือน ถ้าเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาวจะมีรายได้ถึงหลักแสนบาทขึ้นไป จึงให้ความสำคัญและให้เร่งผลิตแรงงานในด้านดังกล่าวป้อนภาคการท่องเที่ยวให้มากขึ้น และย้ำว่าแรงงานต้องมีคุณภาพได้มาตรฐาน มีใบรับรองด้านฝีมือเพื่อยืนยันความสามารถเพื่อรับค่าจ้างอย่างเหมาะสมตามฝีมือด้วย

ด้านนางสาวบุปผา เรืองสุด อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ในการพัฒนาทักษะแรงงานด้านการท่องเที่ยวนั้น ในปี 2567 มีเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรภาคการท่องเที่ยวปีละกว่า 30,000 คน กระจายเป้าหมายไปยังหน่วยฝึกทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัดและในกรุงเทพมหานคร หลักสูตรการฝึกด้านอาหาร เช่น การประกอบอาหารไทยประยุกต์ การประกอบอาหารไทยฮาลาล การประกอบอาหารว่างเพื่อส่งเสริมสุขภาพและการบริการ อาหารไทยสำหรับร้านคาเฟ่ เป็นต้น สำหรับเมนูต้มข่าไก่นั้น เป็น 1 ในเมนูที่กรมจัดฝึกอบรมและทดสอบด้านอาหารไทย นอกจากนี้ กรมยังส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการและสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อม ร่วมเป็นผู้ดำเนินการจัดอบรม หรือขออนุญาตเป็นศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติด้วย ปัจจุบันมีศูนย์ทดสอบฯ สาขาผู้ประกอบอาหารไทย ทั่วประเทศรวม 71 แห่ง อยู่ในเขตกรุงเทพและปริมณฑลมีทั้งหมด 27 แห่ง ภูมิภาคต่าง ๆ 44 แห่ง

“ดังนั้นการฝึกอบรมให้มีทักษะด้านอาหารไทยเพื่อประกอบอาชีพในตำแหน่งเชฟหรือกุ๊ก จึงเป็นตำแหน่งที่น่าสนใจที่สามารถสร้างรายได้สูงแก่ผู้ที่ทำงานในด้านนี้ กรมจึงมอบหมายให้หน่วยฝึกเร่งดำเนินการตามนโยบายและข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมกับประสานงานกับกรมการจัดหางานแจ้งตำแหน่งงานว่างหรือข้อมูลที่สถานประกอบกิจการมีความประสงค์รับคนเข้าทำงานในตำแหน่งดังกล่าวเพื่อให้แรงงานกลุ่มนี้ มีงานทำต่อไป” อธิบดีบุปผา กล่าวในท้ายสุด

 

นายปรีชา สถิตย์เรืองศักดิ์ / หาดใหญ่ จ.สงขลา

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป