24/11/2024

กาฬสินธุ์-กันผอ.-กรรมการโรงเรียนเป็นพยานปมฉาวตัดไม้พะยูง

กาฬสินธุ์-กันผอ.-กรรมการโรงเรียนเป็นพยานปมฉาวตัดไม้พะยูง
ตกผลึกแล้ว สำนวนปมฉาวตัดไม้พะยูงโรงเรียน รอบแรก 2 แห่งจำนวน 500 หน้า เผยข้อสรุปผู้อำนวยการโรงเรียนและคณะกรรมการสถานศึกษา อ้างถูกขบวนการตัดไม้สร้างสถานการณ์ กดดัน มัดมือชก ล่าสุดคณะกรรมการตรวจสอบเตรียมกันตัวเป็นพยาน เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ เชื่อมโยงขบวนการมอดไม้ใช้อุบายแยบยลทุกขั้นตอน ทั้งก่อนการขออนุญาต และให้อนุญาตตัด แม้กระทั่งจ้างชาวบ้านมาเป็นพ่อค้า “นอมินี” ซื้อไม้
จากกรณีไม้พะยูงของกลาง 7 ท่อน มูลค่า 1 ล้านบาท หายไปจากเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เมื่อต้นเดือน ส.ค.66 ที่ผ่านมา ต่อเนื่องด้วยการพบเหตุตัดไม้พะยูงขายในโรงเรียนและที่ราชพัสดุจำหน่ายหลายแห่ง โดยทุกแห่งเป็นการตัดไม้พะยูงโดยใช้ช่องว่างทางกฎหมาย ประเมินราคาขายต่ำกว่าความเป็นจริง นอกจากนี้ยังส่อเอื้อประโยชน์ให้บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐบางคน ขณะที่เจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจตรวจสอบข้อเท็จจริง และคณะกรรมการตรวจสอบเชิงลึก กรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียน กำลังดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนอย่างเข้มข้น ล่าสุด องค์กรอิสระ ป.ป.ช.-ป.ป.ท.-ดีเอสไอ ลงพื้นที่ร่วมตรวจสอบ และ สตง. ร่วมสางคดี ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น
วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ผู้สื่อข่าว ได้รับการเปิดเผยจากนายกิตติภูมิชัย วงศ์สนิท นายอำเภอห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบเชิงลึก กรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียนระดับอำเภอ กล่าวว่าหลังจากได้รับแนวทางการปฏิบัติทำหน้าที่ตรวจสอบดังกล่าว โดยคำสั่งการของนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ และนายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และฝ่ายป่าไม้ ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียนหนองโนวิทยาคม ต.หัวหิน จำนวน 9 ต้น ราคา 104,000 บาท ขณะที่ราคาประเมินตามมาตรฐานกรมป่าไม้ 1,515,750 บาท และโรงเรียนคุรุชุนประสิทธิ์ศิลป์ ต.คำเหมือดแก้ว จำนวน 3 ต้น ราคา 30,000 บาท ขณะที่ราคาประเมินตามมาตรฐานกรมป่าไม้สูงถึง 2,232,000 บาท เนื่องจากขนาดลำต้นสูงใหญ่ ทั้งนี้ เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงในประเด็นการขออนุญาตตัด ให้อนุญาตตัด การประเมินราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาด และพฤติกรรมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ทั้งหมด โดยได้สรุปสำนวนจำนวน 500 หน้า ส่งทางจังหวัดเป็นที่เรียบร้อยแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา
นายกิตติภูมิชัยกล่าวอีกว่า สำหรับผลการตรวจสอบกรณีตัดไม้พะยูงทั้ง 2 โรงเรียนนั้น พบว่าพฤติการณ์เป็นไปในลักษณะเดียวกันคือ เกิดเหตุลักลอบตัดไม้พะยูงโรงเรียนบ่อยครั้ง, มีเจ้าหน้าที่ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ และผู้บริหารระดับสูงใน สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 เข้ามาแนะนำให้ทำหนังสือขออนุญาตตัดไม้พะยูง, มีหนังสือขออนุญาตตัด และให้อนุญาตตัดระหว่างผู้อำนวยการเขตการศึกษากับธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์, มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินราคากลาง ระบุรายชื่อกรรมการ 3 คนคือเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ธนารักษ์ และผู้อำนวยการโรงเรียน และมีพ่อค้าซื้อไม้มาทำสัญญาซื้อขาย
“ข้อมูลที่พบ บุคคลที่เข้ามาเป็นผู้ประสานงานทั้งหมดนั้น เป็นบุคคลคนเดียวกับหลายโรงเรียน มีการนัดหมาย พบปะ พูดคุย หว่านล้อม ชักจูง กดดัน ด้วยสายบังคับบัญชา เพื่อให้มีการขออนุญาตตัดไม้พะยูงขาย จากนั้นหานอมินีมาเป็นผู้ประสานงาน วางแผนซื้อขายและทำการตัด เมื่อตกลงขายตามแผนการที่วางไว้ ก็มีนายหน้าเข้ามาวางเงิน มีพ่อค้ามาทำสัญญาซื้อขาย เป็นอันเข้าใจว่าทำการตัดและซื้อขายไม้พะยูงอย่างถูกต้อง เนื่องจากมีทั้งเจ้าหน้าที่ธนารักษ์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และลายเซ็นของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์รับรอง” นายกิตติภูมิชัยกล่าวในที่สุด
อย่างไรก็ตาม สำนวนที่คณะกรรมการตรวจสอบเชิงลึกสรุปออกมา สอดคล้องกับข้อมูลของเจ้าหน้าที่ชุดรวบรวมและตรวจสอบข่าว กอ.รมน.จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งระบุว่าต้นเหตุของการการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนและในที่ราชพัสดุนั้น ทำเป็นขบวนการ มีผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย คือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ธนารักษ์ และเจ้าหน้าที่ป่าไม้บางคน ที่ใช้ช่องว่างทางกฎหมาย และใช้อำนาจสั่งการผู้ใต้บังคับบัญชา เช่น หากเกิดเหตุคนร้ายลักลอบไม้พะยูง ครูเวร ต้องถูกสอบวินัยร้ายแรง และคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้นำชุมชน ต้องเสี่ยงเกิดอันตรายในการป้องกันรักษา เนื่องจากแก๊งมอดไม้มีอาวุธปืน ซึ่งเป็นอุบายของขบวนการตัดไม้ในโรงเรียน จึงต้องมีการประชุมเพื่อขออนุญาตตัด จากการตรวจสอบระยะเวลาการขออนุญาตและให้อนุญาตตัด พบว่ารวบรัดเวลามาก ทุกขั้นตอนดำเนินการแล้วเสร็จภายในเวลาไม่กี่วัน
โดยที่โรงเรียนหนองโนวิทยาคม เริ่มต้นหลังเกิดเหตุคนร้ายลักลอบตัด วันที่ 30 มี.ค.66 มีการประชุมของกรรมการสถานศึกษา แจ้งความจำนงต้องการตัดไม้พะยูง, วันที่ 3 เม.ย.66 ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองโนวิทยาคม ทำหนังสือขออนุญาตไปที่ผู้อำนวยการ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 เพื่อขออนุญาตตัดไม้พะยูง, วันที่ 11 เม.ย.66 ได้รับการอนุญาตให้ตัด โดยธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ธนารักษ์เป็น 1 ใน 3 กรรมการประเมินราคาไม้พะยูง, วันที่ 12 เม.ย.66 มีการรายงานผลการประเมินราคา พร้อมทำสัญญาซื้อขาย จ่ายเงินปรากฏตามใบเสร็จรับเงิน 9 ต้น เป็นจำนวนเงิน 104,000 บาท และวันที่ 15 เม.ย.66 พ่อค้าซื้อไม้ก็นำรถบรรทุกพร้อมเลื่อยยนต์เข้ามาตัดไม้พะยูงไป
ขณะที่โรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์นั้น หลังจากเกิดเหตุคนร้ายลักลอบตัดวันที่ 31 ม.ค.66 ทางโรงเรียนได้ประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อขอมติอนุมัติตัดต้นไม้พะยูง, วันที่ 24 ก.พ.66 โรงเรียนส่งหนังสือถึงธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ เรื่องขออนุญาตตัดต้นไม้พะยูง, วันที่ 27 ก.พ.66 โรงเรียนส่งหนังสือถึงผู้อำนวยการ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 เรื่องขออนุญาตตัดต้นไม้พะยูง จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ เข้ามาประเมินราคาต้นไม้พะยูง โดยครูยืนยันทำตามคำแนะนำของผู้อำนวยการ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 ซึ่งการประเมินราคาเกิดขึ้นระหว่าง สพป.กาฬสินธุ์กับธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ก่อนที่จะมีพ่อค้าเข้ามาตัดต้นไม้พะยูง ในวันที่ 1 มี.ค.66 โดยเอกสารการประเมินราคา การอนุญาต และจ่ายเงิน 3 ต้น จำนวนเงิน 30,000 บาท เสร็จสิ้นในวันเดียวกัน
ทั้งนี้ ไทม์ไลน์ทั้งหมด ผู้อำนวยการโรงเรียนและครู รวมทั้งคณะกรรมการสถานศึกษา ผู้นำชุมชน ให้การตรงกันและยืนยันถูกผู้ใหญ่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกดดัน มัดมือชก จึงเกิดเหตุการณ์ขออนุญาตตัดไม้พะยูงดังกล่าว ซึ่งทางฝ่ายตรวจสอบ จะได้เตรียมกันตัวไว้เป็นพยาน เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ต่อทางราชการ ขณะที่ผลการสรุปสำนวนตรวจสอบเชิงลึก ได้ส่งไปที่ทางจังหวัด เพื่อส่งต่อ ป.ป.ช.-ป.ป.ท.-สตง. และอีเอสไอ ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
อย่างไรก็ตาม จากเอกสารการซื้อขาย พ่อค้าซื้อไม้พะยูงแต่ละแห่งเป็นคนละคน ซึ่งพ่อค้าบางคนเป็นเพียงชาวบ้าน บางคนเป็นนอมินีที่ถูกจ้างมา แต่เบื้องหลังลายเซ็นต์ทั้งหมด การขออนุญาต และการให้อนุญาตคือลายมือของผู้อำนวยการ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 และธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ ขณะที่สำนวนการตรวจสอบเชิงลึกของโรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี และโรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว อ.ยางตลาด อยู่ในระหว่างรวบรวมของคณะกรรมการตรวจสอบระดับอำเภอ