13/11/2024

กาฬสินธุ์ สตง.ตั้งโต๊ะแจกงานเชือด ขรก.เอี่ยวค้าไม้พะยูง

กาฬสินธุ์ สตง.ตั้งโต๊ะแจกงานเชือด ขรก.เอี่ยวค้าไม้พะยูง
ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ย้ำ สรุปสำนวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น ส่งถึงมือองค์กรอิสระครบถ้วนที่ สตง.-ปป.ช-ปปท.-ดีเอสไอ รวมถึงอธิบดีกรมป่าไม้-เลขาธิการ สพฐ. ขณะที่แหล่งข่าวภายในระบุ สตง.เตรียมตั้งโต๊ะแจกแจงงาน และประสานองค์กรอิสระทุกหน่วยงาน เดินหน้าตรวจสอบเชิงลึกในสัปดาห์หน้า เอาผิดข้าราชการที่เกี่ยวข้องในขบวนการค้าไม้พะยูงในโรงเรียน ทั้งทางวินัย ทางแพ่ง และทางอาญา
จากกรณีไม้พะยูงของกลาง 7 ท่อน มูลค่า 1 ล้านบาท หายไปจากเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เมื่อต้นเดือน ส.ค.66 ที่ผ่านมา ต่อเนื่องด้วยการพบเหตุตัดไม้พะยูงขายในโรงเรียนและที่ราชพัสดุจำหน่ายหลายแห่ง โดยทุกแห่งเป็นการตัดไม้พะยูงโดยใช้ช่องว่างทางกฎหมาย ประเมินราคาขายต่ำกว่าความเป็นจริง นอกจากนี้ยังส่อเอื้อประโยชน์ให้บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐบางคน ขณะที่เจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจตรวจสอบข้อเท็จจริง และคณะกรรมการตรวจสอบเชิงลึก กรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียน กำลังดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนอย่างเข้มข้น ล่าสุด 4 องค์กรอิสระ สตง.-ป.ป.ช.-ป.ป.ท.-ดีเอสไอ ลงพื้นที่ร่วมตรวจสอบ ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น
ล่าสุด วันที่ 30 กันยายน 2566 นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่าความคืบหน้าของคดีดังกล่าว ทั้งในส่วนไม้พะยูงหายที่เทศบาลตำบลอิตื้อ และตัดไม้พะยูงในโรงเรียนหลายแห่ง ซึ่งหลังจากได้รับรายงาน ที่ได้ข้อสรุปข้อมูลการตรวจสอบ จากกรรมการตรวจสอบเชิงลึก และชุดเฉพาะกิจตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ได้ลงนามในหนังสือ และส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งเลขาธิการ สพฐ., อธิบดีกรมป่าไม้, ผู้อำนวยการ ป.ป.ช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์, ผู้อำนวยการ ป.ป.ท.เขต 4 ขอนแก่น, ผู้อำนวยการดีเอสไอ เขต 4 ขอนแก่น และผู้อำนวยการ สตง.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อบูรณาการเดินหน้าตรวจสอบตามกรอบหน้าที่ของหน่วยงานตน
นายศุภศิษย์กล่าวอีกว่า ประเด็นหลักที่ให้มีการตรวจสอบก็คือ ในส่วนของการขออนุญาตตัด การให้อนุญาตตัด ซึ่งหลักฐานจากการตรวจสอบเบื้องต้น เป็นการตัดไม้พะยูงที่ฝ่าฝืนคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด และฝ่าคืนคำสั่งกรมธนารักษ์ ตาม ว 20 ลงวันที่ 1 ก.พ.60 โดยต้องมีเหตุผลและความจำเป็นเท่านั้น แต่กลับพบว่ามีการตัดโดยทั่วไป รวมทั้งในประเด็นการประเมินราคาขายที่ต่ำกว่าราคาประเมินมาตรฐานของกรมป่าไม้ ทำให้ภาครัฐได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะในประเด็นที่มีข้าราชการเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยการใช้ช่องว่างทางกฎหมาย นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของบุคคลที่เข้ามาติดต่อซื้อไม้ ทั้งพ่อค้าในพื้นที่ พ่อค้าต่างจังหวัด ที่จะต้องถูกเรียกตัวมาสอบปากคำทุกคน เพื่อเชื่อมโยงไปถึงแหล่งที่ไปของไม้พะยูง และต่อจิ๊กซอว์ให้ถึงตัวนายทุนจีน ซึ่งมีใบสั่งซื้อไม้พะยูงและไม้หวงห้ามเข้ามา จนทำให้เกิดเหตุลักลอบตัดไม้เป็นคดีบ่อยครั้ง
“ทั้งนี้ ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรีบดำเนินการ เนื่องจากสังคมกำลังจับตามองอยู่ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นการประทำที่ผิดกฎหมาย และกฎหมายไม่ได้อนุญาตให้มีการจดทะเบียนค้าขายไม้หวงห้ามหรือส่งออกไม้เศรษฐกิจแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยได้มอบให้นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบเชิงลึก และหัวหน้าชุดเฉพาะกิจตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อประสานงานกับองค์กรอิสระ รายงานความคืบหน้าเป็นระยะ” นายศุภศิษย์ กล่าวในที่สุด
ขณะที่แหล่งข่าวภายในสำนักงาน สตง.จ.กาฬสินธุ์กล่าวว่า หนังสือลงนามขอความร่วมมือจากทางจังหวัดเพื่อให้มีการตรวจสอบและติดตามปัญหาตัดไม้พะยูงดังกล่าว ทาง สตง.จ.กาฬสินธุ์ ได้ลงรับหนังสือเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 66 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เนื่องจากผู้อำนวยการ สตง.จ.กาฬสินธุ์ ยังติดภารกิจที่ต่างจังหวัด มีกำหนดเดินทางมาปฏิบัติงานตามปกติในสัปดาห์หน้า หลังจากนั้นก็จะมีการประชุมหารือ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจกแจงงาน และประสานกับองค์กรอิสระหน่วยงานอื่น คือ ป.ป.ช.-ป.ป.ป.-ดีเอสไอ รวมทั้งคณะกรรมการตรวจสอบเชิงลึก และเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียน เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก่อนลงพื้นที่ตรวจสอบเชิงลึกโดยละเอียด เพื่อหาข้อสรุป และเอาผิดข้าราชการที่เกี่ยวข้องในขบวนการค้าไม้พะยูงในโรงเรียน ทั้งทางวินัย ทางแพ่ง และทางอาญาต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของทางโรงเรียน โดยผู้อำนวยการโรงเรียน ที่ขออนุญาตตัดไม้พะยูงในโรงเรียนทุกแห่ง ระบุว่า เรื่องที่เกิดขึ้น มีสาเหตุตามลำดับดังนี้ (1) คนร้ายลักลอบตัดไม้พะยูงโรงเรียนบ่อยครั้ง (2) มีเจ้าหน้าที่ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ และผู้บริหารระดับสูงใน สพป.กาฬสินธ์ เขต 2 เข้ามาแนะนำให้ทำหนังสือขออนุญาตตัดไม้พะยูง (3) มีหนังสือโต้ตอบขออนุญาตตัด และให้อนุญาตตัดระหว่างผู้อำนวยการเขตการศึกษากับธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ (4) มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินราคากลาง ระบุรายชื่อกรรมการ 3 คนคือเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ธนารักษ์ และผู้อำนวยการโรงเรียน (5) มีพ่อค้าซื้อไม้มาทำสัญญาซื้อขาย
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ผู้อำนวยการโรงเรียนทุกแห่งยืนยัน ไม่มีความรู้เรื่องการประเมินราคาไม้พะยูง เรื่องที่เกิดขึ้น ถูกกดดันจากผู้บังคับบัญชา เหมือนมีการสร้างสถานการณ์ มีชื่อ 1 ใน 3 คณะกรรมการประเมินราคา โดยตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น ขณะที่ผู้อำนวยการโรงเรียนอีกแห่งหนึ่งระบุ แค่เพียงมีชื่อในคำสั่งแต่งตั้ง แต่ไม่มีส่วนรู้เห็นเรื่องของการประเมินราคา และไม่ทราบว่าซื้อขายราคาเท่าไหร่ เงินที่ขายได้ไปไหน เป็นเรื่องของผู้อำนวยการเขตและธนารักษ์เท่านั้น

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป