25/12/2024

เชียงใหม่ – CAMT CMU ร่วมกับ สถาบันขงจื่อ และ สมาคมการค้าวิสาหกิจไทย-จีน จัดงานJob Fair “บุคลากรขั้นสูงภาษาจีนไทย+”

S__68223000_0

เชียงใหม่ – CAMT CMU ร่วมกับ สถาบันขงจื่อ และ สมาคมการค้าวิสาหกิจไทย-จีน จัดงานJob Fair “บุคลากรขั้นสูงภาษาจีนไทย+”

วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับสถาบันขงจื่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาคมการค้าวิสาหกิจไทย-จีน มีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมพัฒนาบุคลากรด้าน “ภาษาจีน ภาษาไทย+” ในประเทศไทย โดยเฉพาะเขตพื้นที่ภาคเหนือ มีการออกแบบหลักสูตรโครงการที่หลากหลายและพัฒนาบุคลากรขั้นสูง “ภาษาจีน ภาษาไทย+” ร่วมกับคณะและสาขาต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาบุคลากรขั้นสูงด้าน “ทักษะภาษาและทักษะอาชีพ” เพื่อส่งออกบุคลากรผู้มีทักษะทางด้านภาษาไทยและภาษาจีนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาควิสาหกิจ

จัดงาน Job Fair “บุคลากรขั้นสูงภาษาจีนไทย+” ( Thai-Chinese Talent Job Fair ) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2566 เวลา 9:00 – 16:00 น. ณ ลานชั้น 1 ศูนย์นวัตกรรมการสอนและการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วัตถุประสงค์การจัดงานเพื่อร่วมมือกับพันธมิตรเครือข่ายทั้งฝ่ายจีนและฝ่ายไทยในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเฟ้นหาบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถและฝึกประสบการณ์การประกอบอาชีพแก่บุคลากรด้าน “ภาษาจีน ภาษาไทย+” โดยมี Ms.Lian Chen ผู้อำนวยการฝ่ายจีน สถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวสนับสนุนโครงการ และมีบริษัทชั้นนำเข้าร่วม กว่า 30 บริษัท อาทิ เช่น บริษัท           เอสซีจี โลจิสติกส์ จำกัด, บริษัท แฟลชเอ็กซ์เพรส จำกัด, บริษัท ไทยเจียระไน กรุ๊ป จำกัด ( มหาชน ), BYD Thailand, Gogo Cargo Company, J&T Express Thailand, บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด, China state construction (Thailand) Co.,Ltd., ธนาคาร ICBC ประเทศไทย และศูนย์การแปล 4.0 ไฮฟัน  ทรานสเลชั่น เป็นต้น สามารถรับชมการถ่ายทอดสดออนไลน์ Bilibili ของศูนย์การแปล “4.0 ไฮฟัน ทรานสเลชั่น” ผ่านช่องทาง Facebook Fanpage และ Youtube ของสถาบันขงจื่อ

อ.ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ หัวหน้าศูนย์ China Intelligence Center (CIC) เผยว่า ปัจจุบันความต้องการบุคลากรที่มีทักษะภาษาจีน-ไทยที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระหว่างประเทศของบริษัทเอกชนจีนในประเทศไทย รวมถึงบริษัทเอกชนไทยที่มีการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ “ไทย-จีน” ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านโลจิสติกส์และการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน

CAMT จึงเล็งเห็นความจำเป็นในการทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง นำบริษัทเอกชนที่ต้องการบุคลากรฯ มาแนะนำตัวและรับสมัครพนักงานใหม่ ในรูปแบบกิจกรรม“Job Fair”ให้กับนักศึกษาในหลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษาของ CAMT ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตร “การจัดการความรู้และนวัตกรรม” หลักสูตร “การจัดการเทคโนโลยีดิจิทัล สาขาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน” ซึ่งนักศึกษามีทักษะสามารถสื่อสารได้ทั้งจีน-อังกฤษ หรือภาษาจีน-ไทย และทั้งสองหลักสูตรมีการผลิตบัณฑิตที่มีทักษะเชิงวิชาชีพและเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งเป็นจุดเด่นในหลักสูตรของ CAMT เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน รวมถึงได้ประชาสัมพันธ์การจัดงานไปสู่นักศึกษาระดับอุดมศึกษาในเชียงใหม่ให้มาร่วมงาน

นอกเหนือจากประโยชน์ในเชิงการเป็น“ตลาดนัดแรงงาน”แล้ว กิจกรรมที่จัดขึ้นยังช่วยสร้างเครือข่ายกลุ่มธุรกิจเอกชนที่เป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดใหญ่ เพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาทักษะและหลักสูตรที่ทันสมัย โดยมีการเก็บข้อมูลเพื่อรวบรวมทักษะสำคัญที่บริษัทเอกชนต้องการ นำไปใช้เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาบุคลากรในเขตพื่นที่ภาคเหนือให้สอดคล้องกับการทิศทางการส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าระหว่างประเทศระหว่างไทย-จีน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเชิงนโยบายซึ่งศูนย์ CIC ของ CAMT ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากแหล่งทุนสำคัญคือกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านบุคลากรในพื้นที่ภาคเหนือให้มีความพร้อมต่อการเป็นศูนย์กลางการค้าและโลจิสติกส์ของจีน-อาเซียนตามแนวระเบียงเศรษฐกิจภาคเหนือ หรือ Northern Economics Corridor
(NEC) ต่อไป

 

พัฒนชัย/เชียงใหม่

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป