23/11/2024

ธรรมนัส พร้อม ไชยา ลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง เปิดพิธี ส่ง -รับ พร้อมนำตู้สินค้าซากหมู ตกค้างและของกลาง 161 ตู้ เผาทำลาย

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ดร.ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง เปิดพิธี ส่ง -รับ พร้อมนำตู้สินค้าซากหมูตกค้าง และของกลาง 161 ตู้ เผาทำลาย

 

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2566 ที่ศูนย์เอกซเรย์ตู้สินค้า (ขาออก) ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดร.ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนศูนย์ปฏิบัติที่ 4 กองอำนวยการรักษา ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เรือเอกกานต์ เมนะรุจิ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง คณะทำงานโครงการท่าเรือสีขาว นายอำนาจ เจริญศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DS) ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนตำรวจสอบสวนกลาง ผู้แทนกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ปคบ.) ผู้แทนศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในพิธี


ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวว่า พิธีในวันนี้ ถือเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จ จากการร่วมมือกันระหว่าง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรมศุลกากร และกรมปศุสัตว์ ที่มุ่งมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ ร่วมกันบังคับใช้กฎหมาย สืบสวน ตรวจสอบ จับกุมและสามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้อย่างถึงที่สุด นับเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร ได้รับความเป็นธรรม ไม่ถูกทำลายกลไกราคาสุกรในประเทศ ทั้งยังเป็นการลดความเสี่ยงด้านโรคระบาดสัตว์ ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจในอาชีพ ตลอดจนช่วยป้องกันอันตรายให้พี่น้องประชาชน ผู้บริโภคปลอดภัยจากสารปนเปื้อนตกค้างต่างๆ ที่อาจติดมากับหมูเถื่อน


ที่ผ่านตนเองได้ ประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรเถื่อน และให้นโยบายทุกกรม กองนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ในการมุ่งปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตร ที่ผิดกฎหมาย ต้องขอชื่นชมกรมปศุสัตว์ที่ได้เร่งดำเนินการตามนโยบาย พร้อมประสาน ความร่วมมือกับ DSI และกรมศุลกากร ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเห็นผลเป็นที่น่าพอใจ ดังที่ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมในวันนี้ และขอเน้นย้ำ กำชับให้ เจ้าหน้าที่ และผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เร่งดำเนินการปราบปรามการลักลอบนำเข้า ส่งออก สินค้าการเกษตรอย่างเข้มงวด เพื่อปกป้องพี่น้องเกษตรให้มีความมั่นใจในอาชีพ พร้อมที่จะเพิ่มผลผลิตด้านการเกษตร เติมเต็มความมั่นคงทางอาหาร สร้างประโยชน์เพื่อคนไทย และประเทศชาติต่อไป


ด้านนายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่กรมศุลกากรได้ตรวจยึดซากสัตว์แช่แข็งตกค้าง โดยตรวจพบเป็นสินค้าประเภทซากสุกรแช่แข็ง จำนวน 161 ตู้ ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้น พบว่า ซากสัตว์ดังกล่าวมาจากประเทศที่ไม่ผ่านการตรวจรับรองแหล่งผลิตซากสัตว์จากกรมปศุสัตว์ หรือมาจากประเทศที่กรมปศุสัตว์ มีประกาศชะลอการนำเข้าซากสุกร เนื่องจากประเทศต้นทางมีการระบาดของโรคระบาดสัตว์ และบางส่วนไม่ทราบแหล่งที่มาที่ชัดเจน ประกอบกับไม่พบเอกสารใด ๆ ที่รับรองสุขศาสตร์ซากสัตว์ (Health Certificate) จากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ไม่ผ่านการตรวจจากสัตวแพทย์ประจำท้องที่ต้นทางหรือพนักงานตรวจโรคสัตว์ ซึ่งถือว่าซากสัตว์ดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดหรือเป็นพาหะของโรคระบาดสัตว์ ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ อันจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้


ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์ได้กำหนดจัดพิธีดังกล่าว เพื่อเป็นการ Kick off ตัดซีลและเผาทำลายซากสุกรของกลาง จำนวน 10 ตู้ เป็นการนำร่อง โดยเครื่องกำจัดซากสัตว์ติดเชื้อเพื่อควบคุมโรคชนิดเคลื่อนที่ ประสิทธิภาพของเครื่องกำจัดซากสัตว์ติดเชื้อเพื่อควบคุมโรคระบาดสัตว์ เป็นเตาเผาชนิด 2 ห้องเผา ห้อกแรกใช้สำหรับเผาซากสัตว์ ห้องเผาที่ 2 ใช้สำหรับเผาซากสัตว์ ความสามารถในการเผาสามารถเผาได้ในปริมาณ ชั่วโมงละกว่า 1,000 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับชนิดและคุณภาพของซากสัตว์ที่ทำการเผา เตาสามารถทำความร้อนได้ในขณะเผา 700 – 1,000 องศาเซลเซียส ใช้น้ำมันดีเซลเป็นแหล่งพลังงาน โดยใช้ไม่เกินชั่วโมงละ 60 ลิตร และระบบเผาทำลายซากจะเป็นระบบปิด ที่สำนักชลประทานที่ 9 ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี


โดยในส่วนที่เหลือ จะนำไปทำลายในลักษณะฝังกลบ แต่เนื่องจากสภาพอากาศที่ยังคงมีมรสุมเข้าสู่ประเทศไทย ส่งผลให้เกิดปัญหาฝนตกหนักในช่วงการฝังกลบ จึงทำให้เกิดอุปสรรคและมีความเสี่ยง ทำให้เกิดอันตรายต่อการทำลายลักษณะฝังกลบ จึงมีความจำเป็นที่ต้องฝังกลบในภายหลัง ในการฝังกลบจะใช้สถานที่ของศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ จังหวัดสระแก้ว โดยกรมปศุสัตว์ได้จัดเตรียมพื้นที่สำหรับฝังกลบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ด้าน เรือเอกกานต์ เมนะรุจิ ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ในฐานะเจ้าของพื้นที่ เผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า สินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบังมีจำนวนหลายพันตู้ เราตรวจพบสินค้าซากสุกรในครั้งนี้ ที่บางส่วนมีการการละเมิด พ.ร.บ. ต่าง ๆ ถือเป็นนิมิตใหม่ เพราะมีผลต่อธุรกิจ การเลี้ยงสัตว์ในประเทศที่ส่งผลต่อเรื่องของราคาสินค้า ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเกษตรกรโดยตรง ซึ่งครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือ ไม่ว่าจะเป็นของทางศุลกากร กรมปศุสัตว์ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเรื่องของการสกัดกั้น การลักลอบนำสินค้าประเภทซากสุกรเข้ามา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าของประเทศไทย เป็นความเดือดร้อนของเกษตรกร


“หลังจากที่ได้ ดำเนินการแล้วก็ได้บูรณาการความร่วมมือกันจากหลายส่วน จนมาถึง วันนี้ ในล็อตแรกประมาณสิบตู้คอนเทนเนอร์ ที่นำไปทำลาย การท่าเรือฯ เอง มีเจ้าหน้าที่การท่าเรือฯ คือ คณะทำงานท่าเรือสีขาว เข้าร่วมในการอำนวยความสะดวก เพื่อจะผลักดันกิจกรรมต่างๆ พร้อมทั้งสกัดกั้น สิ่งของที่ไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ. ต่างๆ และให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการกับทุกหน่วยงาน คณะกรรมการชุดนี้ ประกอบด้วยหลายภาคส่วน ที่ร่วมมือกันทำงาน ส่วนในเรื่องของการดำเนินดคี หรือตรวจสอบ เป็นภาระหน้าที่ของทางศุลกากร การท่าเรือฯ เป็นเพียงเจ้าของพื้นที่ ที่พร้อมจะให้ความร่วมมือในเรื่องของการอ่านวยความสะดวกต่างๆ เพื่อลดผลกระทบของผู้ประกอบการในพื้นที่”


จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ พร้อมผู้บริหารกระทรวงเกษตรฯ ได้เดินทางไปยังสำนักชลประทานที่ 9 ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อ KICK OFF เผาทำลายซากสุกรของกลางฯ ชุดแรกจำนวน 10 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยวิธีการเผาในเตาเผาระบบปิด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับของกลางส่วนที่เหลือจะทยอยนำไปเผาทำลายเป็นชุด ๆ ด้วยการฝังกลบที่จังหวัดสระแก้วจนครบ 161 ตู้คอนเทนเนอร์ ตามที่ได้วางแผนไว้ ซึ่งได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้องตามมาตรฐานขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) และดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นไปตามกฎหมาย และตรวจสอบได้ต่อไป

นิราช/นันทพล ทิพย์ศรี ชลบุรี 0909535645

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป