รมว.พิพัฒน์ มอบนโยบาย สสปท ทำงานเชิงรุก เน้นสร้างวัฒนธรรมเชิงป้องกันให้สังคมไทย
รมว.พิพัฒน์ มอบนโยบาย สสปท ทำงานเชิงรุก เน้นสร้างวัฒนธรรมเชิงป้องกันให้สังคมไทย
วันที่ 28 กันยายน 2566 เวลา 14.00 น. นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายแก่ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) สสปท. ณ ห้องประชุมกองความปลอดภัยแรงงาน ชั้น 4 อาคารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ส่วนแยกตลิ่งชัน
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สสปท.เป็นองค์การมหาชน ที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมความรู้ด้านความปลอดภัยในการทำงานให้กับผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง ในการส่งเสริมความรู้ ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้กับแรงงานทุกระดับ โดยใช้งานวิชาการ จากการทำงานวิจัย การจัดทำมาตรฐาน และการพัฒนานวัตกรรม ในการทำงานเชิงรุก
และนำไปสู่การสร้าง “วัฒนธรรมความปลอดภัย”ในการทำงาน ซึ่งที่ผ่านมา สสปท.ได้เผยแพร่ความรู้จากงานวิจัยและการจัดทำมาตรฐานด้านความปลอดภัย โดยอบรมให้กับ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ด้านความปลอดภัย จำนวนกว่า 25,000 คนทั่วประเทศ จากสถานประกอบการ 6,000 แห่ง จัดทำคู่มือและแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัย จำนวน 28 เรื่อง และงานวิจัยด้านความปลอดภัยเพื่อต่อยอดเป็นแนวปฏิบัติจำนวน 5 เรื่อง ซึ่งมีผู้สนใจดาวน์โหลดจากเวปไวต์ สสปท.มากถึง 5 แสนกว่าครั้ง
“ภารกิจของ สสปท.เรียกได้ว่า มีบทบาทที่สำคัญกับสังคมไทยมาก ในการที่จะสร้างความตระหนักรู้ ปลุกจิตสำนึกด้านความปลอดภัย ในการทำงานให้เกิดขึ้นในภาคแรงงานและสังคมโดยรวม เพราะหากที่ไหนมีความปลอดภัย ที่นั่นย่อมลดการสูญเสียทั้งเศรษฐกิจ และชีวิต” นายพิพัฒน์กล่าว
จากนั้น นายพิพัฒน์ ได้มอบนโยบายให้กับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ สสปท. โดยขอให้ สสปท.ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ในการ คุ้มครองสิทธิแรงงาน ให้มีความปลอดภัยในการทำงาน นำไปสู่การลดสถิติการประสบอันตรายและโรคจากการทำงานได้ในระยะยาว และขอให้ สสปท. ประสานความร่วมมือกับหน่วยงาน ทั้งภายในกระทรวงแรงงาน และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อร่วมบูรณาการในการทำงานด้านความปลอดภัยให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ประชาชน ชุมชน โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ร่วมกัน ในการก่อให้เกิดความปลอดภัยเชิงป้องกันกับทุกภาคส่วนในสังคม