14/11/2024

กาฬสินธุ์-สรุปสำนวนชง สตง.แท็คทีม ป.ป.ช.-ป.ป.ท.-ดีเอสไอ ชุดใหญ่ลากไส้ธนารักษ์ขายไม้พะยูงในโรงเรียน

กาฬสินธุ์-สรุปสำนวนชง สตง.แท็คทีม ป.ป.ช.-ป.ป.ท.-ดีเอสไอ ชุดใหญ่ลากไส้ธนารักษ์ขายไม้พะยูงในโรงเรียน
อึ้งจนเจ็บอก! พบเอกสารชิ้นสำคัญ ตอกย้ำชัดเจนกรรมการประเมินราคากลางโรงเรียน ตีราคาขายไม้พะยูงต่ำ ห่างกับราคามาตรฐานกรมป่าไม้ลิบลับปานฟ้ากับเหว ทำรัฐเสียหายยับ ด้านประธานกรรมการตรวจสอบเชิงลึก และหัวหน้าชุดเฉพาะกิจตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีตัดไม้พะยูงเผยคืบหน้า ฝ่ายปกครองร่วมกับป.ป.ท.-ป.ป.ช.-สตง.และดีเอสไอ แท็คทีมชุดใหญ่จัดเต็ม ระดึมกึ๋นเดินหน้าสางปมร้อน สพป.กาฬสินธุ์เขต 2 และธนารักษ์ตัดไม้พะยูงขายผิดกฎหมาย
จากกรณีไม้พะยูงของกลาง 7 ท่อน มูลค่า 1 ล้านบาท หายไปจากเทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เมื่อต้นเดือน ส.ค.66 ที่ผ่านมา ต่อเนื่องด้วยการพบเหตุตัดไม้พะยูงขายในโรงเรียนและที่ราชพัสดุจำหน่ายหลายแห่ง โดยทุกแห่งเป็นการตัดไม้พะยูงโดยใช้ช่องว่างทางกฎหมาย ประเมินราคาขายต่ำกว่าความเป็นจริง นอกจากนี้ยังส่อเอื้อประโยชน์ให้บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐบางคน ขณะที่เจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจตรวจสอบข้อเท็จจริง และคณะกรรมการตรวจสอบเชิงลึก กรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียน กำลังดำเนินการตรวจสอบเส้นทางการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนอย่างเข้มข้น ล่าสุด 3 องค์กรอิสระ ป.ป.ช.-ป.ป.ท.-ดีเอสไอ ลงพื้นที่ร่วมตรวจสอบ ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น
ล่าสุด วันที่ 29 กันยายน 2566 ที่ห้องปฏิบัติงาน นายธวัชชัย รอดงาม รองผวจ.กาฬสินธุ์ ในฐานะประธานกรรมการตรวจสอบเชิงลึก และหัวหน้าชุดเฉพาะกิจตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีตัดไม้พะยูงโรงเรียน กล่าวว่า ในส่วนของการตรวจสอบของคณะทำงาน ทั้งในส่วนของคดีไม้พะยูงหายที่เทศบาลตำบลอิตื้อ และขายไม้พะยูงในโรงเรียนหลายแห่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 มีความคืบหน้าไปมาก นอกจากจะมี ป.ป.ท.เขต 4 ขอนแก่น และ ดีเอสไอ เขต 4 ขอนแก่น มาร่วมประสานการทำงานกับทางจังหวัดและ ป.ป.ช.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ยังมี สตง.เข้ามาร่วมตรวจสอบ หาแนวทางทำงานร่วมกัน เพื่อหาข้อสรุป รวมทั้งการป้องกันและแก้ไขปัญหา
นายธวัชชัยกล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าคดีดังกล่าว ในส่วนของ อ.ห้วยเม็ก กรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียนหนองโนวิทยาคม ก็มีรายงานเพิ่มเติมเข้ามา มีข้อสังเกตในเรื่องการขออนุญาตตัด การให้อนุญาตตัด การประเมินราคา และในส่วนผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยพบว่ามีความผิดปกติ ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลสำคัญ กรรมการตรวจสอบเชิงลึก และชุดเฉพาะกิจตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็ได้สรุปสำนวนนำเสนอนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ ซึ่งก็ได้ลงนามในสำนวน แจ้งไปส่วนราชการ และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง เช่น เลขาธิการ สพฐ., อธิบดีกรมป่าไม้, ผู้อำนวยการ ป.ป.ช., ผู้อำนวยการ ป.ป.ท., ผู้อำนวยการดีเอสไอ และผู้อำนวยการ สตง.ประจำ จ.กาฬสินธุ์ ร่วมทำการตรวจสอบด้วย
นายธวัชชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วน อ.ยางตลาด กรณีไม้พะยูงหายที่เทศบาลตำบลอิตื้อ ซึ่งพนักงานสอบสวนนำสำนวนส่ง ป.ป.ช.แล้ว รวมทั้งกรณีตัดไม้พะยูงโรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว และ อ.หนองกุงศรี กรณีตัดไม้พะยูงโรงเรียนคำไฮวิทยา ก็คงจะสรุปสำนวนในเร็วๆนี้ สำหรับพื้นที่อื่นๆ ถ้ามีกรณีตัดไม้พะยูงในที่ราชพัสดุหรือในโรงเรียน หากภาคประชาชนหรือใครมีข้อมูล ก็สามารถแจ้งเบาะแสเข้ามาได้ เบื้องต้นจะได้มอบหมายให้นายอำเภอท้องที่เข้าไปดู และตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง ทั้งนี้ ในส่วนความคืบหน้าของคดีตัดไม้พะยูงในที่ราชพัสดุหรือในโรงเรียนนั้น ยืนยันว่าทางจังหวัดดำเนินการอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
ด้านนายอดิศร คงสมกัน หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษป่าไม้กาฬสินธุ์ ในฐานะคณะทำงานชุดเฉพาะกิจตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีตัดไม้พะยูงโรงเรียน กล่าวว่า ตามที่ตนและเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันและรักษาป่าที่ กส.1(ดงมูล) ร่วมกันประเมินปริมาตรไม้ตามรายการ ที่ทางโรงเรียนและธนารักษ์ให้ตัดขาย ได้ยึดตามเกณฑ์มาตรฐานของกรมป่าไม้ จะเห็นว่ามีราคาที่แตกต่างกันมาก เช่น ไม้พะยูงบางต้น คณะกรรมการโรงเรียนประเมินราคาขายเพียง 11,700 บาท แต่ตามมาตรฐานกรมป่าไม้ราคาสูงถึง 292,500 บาท หรือไม้พะยูงบางต้น คณะกรรมการโรงเรียนประเมินราคาขายเพียง 14,200 บาท แต่ตามมาตรฐานกรมป่าไม้ราคาสูงถึง 355,000 บาททีเดียว โดยเฉลี่ยราคาประเมินแตกต่างกันถึง 25 เท่าตัว
ทั้งนี้ หลังจากทราบราคาประเมินที่แตกต่างกัน ตามหลักฐานที่พบดังกล่าว เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ทั่วไปว่า ทำไมคณะกรรมการประเมินราคาที่ทางโรงเรียน หรือ สพป.กาฬสินธุ์ เขต 2 แต่งตั้ง โดยมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ธนารักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียน และครูเป็นกรรมการ จึงประเมินราคาต่ำ แตกต่างกับราคามาตรฐานของกรมป่าไม้เป็นอย่างมาก ยอดรวมจากการขายไม้พะยูงโรงเรียน 4 แห่ง จำนวน 36 ต้น ที่ได้เงินเข้าหลวง 312,500 บาท ขณะที่ราคาประเมินมาตรฐานของกรมป่าไม้ 7,960,750 บาท ส่วนต่างจึงหายไปกว่า 7,648,250 บาทตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น ทำให้ภาครัฐได้รับความเสียหายจำนวนมหาศาล จึงเป็นข้อสงสัยว่าคณะกรรมการประเมินราคาของโรงเรียน ใช้เกณฑ์อะไรมาประเมิน ใครเป็นคนกำหนดราคา ทั้งนี้ ยังไม่มีคำตอบจากคณะกรรมการประเมินราคากลางของโรงเรียนที่เกิดเหตุตัดไม้พะยูงขาย ขณะที่ฝ่ายตรวจสอบและองค์กรอิสระ ก็จะได้แสวงหาข้อเท็จจริงในส่วนนี้อีกประเด็นหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม หลังจากภาคประชาชนและเครือข่ายรักษ์ไม้พะยูง ทราบแนวทางที่ชัดเจนและจริงจังของทางจังหวัด ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา เพื่อได้นำไปสู่การสรุปข้อมูล และเอาผิดกับข้าราชการ รวมทั้งบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเป็นความร่วมมือของฝ่ายปกครองและองค์กรอิสระทั้ง ป.ป.ช.-ป.ป.ท.-สตง.และดีเอสไอ ถือเป็นการแท็คทีมสางปัญหาแบบจัดเต็ม ชุดใหญ่ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทั้งนี้เพื่อร่วมกันตรวจสอบทุกกระบวนการ ในกรณีตัดไม้พะยูงในที่ราชพัสดุอย่างละเอียด รวมทั้งเส้นทางการเงินและรายได้ จากการจำหน่ายไม้พะยูงของธนารักษ์ในช่วงที่ผ่านมา จึงเชื่อว่าจะสามารถดำเนินคดีกับกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งข้าราชการ ขบวนการมอดไม้ และต่อจิ๊กซอว์ไปถึงพ่อค้าไม้ นายทุนจีน ที่ทำให้เกิดปัญหาลักลอบตัดไม้พะยูง และการใช้ช่องว่างทางกฎหมายทำให้ภาครัฐเสียหายอีกด้วย

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป