กาฬสินธุ์-ปปท.-ดีเอสไอลุยเจาะลึกเปิดรายได้ธนารักษ์ขายไม้พะยูงส่วนต่างหายกว่า 7.6 ล้าน
กาฬสินธุ์-ปปท.-ดีเอสไอลุยเจาะลึกเปิดรายได้ธนารักษ์ขายไม้พะยูงส่วนต่างหายกว่า 7.6 ล้าน
ผู้อำนวยการ ปปท.เขต 4 ขอนแก่น และผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 4 ขอนแก่น (ดีเอสไอ) พร้อมคณะ ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเชิงลึกปัญหาการตัดไม้พะยูงขายราคาต่ำผิดปกติ ด้านหัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษป่าไม้กาฬสินธุ์ ระบุประเมินราคาต่ำกว่าตลาด 30-50 เท่า เบื้องต้นโรงเรียน 4 แห่ง 36 ต้น ได้เงินเข้าหลวง 312,500 บาท ขณะที่ราคาประเมินมาตรฐานของกรมป่าไม้ 7,960,750 บาท ส่วนต่างหายไปกว่า 7,648,250 บาท ไม่นับกับถูกลักลอบตัดและที่ไม่นำเข้ามารายงานอีกหลายต้น ทำให้ภาครัฐเสียหายเป็นจำนวนมาก
วันที่ 28 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงเรียนคำไฮวิทยา ต.หนองกุงศรี อ.หนองกุงศรี จ.กาฬสินธุ์ และที่โรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว ต.อิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นายจิรวัฒน์ สุภาพ ผู้อำนวยการ ปปท.เขต 4 ขอนแก่น พร้อมนายนพรัตน์ ปานเทศ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษเขตพื้นที่ 4 ขอนแก่น (ดีเอสไอ) และคณะ ลงพื้นที่ติดตามปัญหาการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนขาย และประเด็นการขออนุญาตตัด และการให้อนุญาตตัด ที่ฝ่าฝืนคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัด และขัดต่อคำสั่งของกรมธนารักษ์ ตาม ว 20 ลงวันที่ 1 ก.พ.60 โดยต้องมีเหตุผลและความจำเป็นเท่านั้น รวมทั้งมีการซื้อขายในราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง และมีข้าราชการเกี่ยวข้องทุกกระบวนการ
นายจิรวัฒน์ สุภาพ ผู้อำนวยการ ปปท.เขต 4 ขอนแก่น กล่าวว่าการลงพื้นที่ของ ปปท.และคณะเป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกลงพื้นที่เมื่อวันที่ 22 ส.ค.66 ที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุตัดไม้พะยูงในโรงเรียนคำไฮวิทยาเมื่อวันที่ 17 ส.ค.66 ซึ่งในครั้งนั้นเจ้าหน้าที่ ปปท.ก็ได้ลงพื้นที่ที่ศูนย์เพาะชำกล้าไม้กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ จุดที่เกิดเหตุคนร้ายลักลอบตัดและต่อมาไม้พะยูงของกลางหายไปด้วย โดยการลงพื้นที่รอบที่ 2 นี้ เพื่อรวบรวมพยานหลักฐานให้ละเอียด ครอบคลุมทุกด้าน ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก แต่ยังไม่อาจเปิดเผยในตอนนี้ อย่างไรก็ตาม มีกำหนดการที่จะลงพื้นที่ทุกโรงเรียน ที่มีปัญหาการตัดไม้พะยูงในลักษณะเดียวกัน เนื่องจากมีส่วนราชการเกี่ยวข้องหลายส่วน ทั้งเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน ธนารักษ์พื้นที่ และป่าไม้ เพื่อสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิด ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป โดยจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ด้านนายอดิศร คงสมกัน หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษป่าไม้กาฬสินธุ์ ในฐานะกรรมการตรวจชุดเฉพาะกิจตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียน กล่าวว่า ในส่วนของการตรวจสอบปริมาตรไม้ เพื่อประเมินราคา ตามมาตรฐานของกรมป่าไม้นั้น ตามที่ลงพื้นที่ประเมิน 3 โรงเรียน ประกอบด้วย (1) โรงเรียนคำไฮวิทยา 22 ต้นกับอีก 2 ตอ ซื้อขายราคา 153,000 บาท ขณะที่ราคาประเมินตามมาตรฐานกรมป่าไม้ 4,500,000 บาท (2) โรงเรียนหนองโนวิทยา 9 ต้น ซื้อขายราคา 104,000 บาท ขณะที่ราคาประเมินตามมาตรฐานกรมป่าไม้ 1,515,750 บาท และ (3) โรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ 3 ต้น ซื้อขายราคา 30,000 บาท ขณะที่ราคาประเมินตามมาตรฐานกรมป่าไม้สูงถึง 2,232,000 บาท เนื่องจากขนาดลำต้นสูงใหญ่
นายอดิสรกล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนข้อสังเกตส่วนต่างที่หายไป คงเป็นประเด็นที่ฝ่าย ป.ป.ท.-ป.ป.ช. และดีเอสไอ จะได้ดำเนินการตรวจสอบตามหน้าที่ ทั้งนี้ ในส่วนของชุดเฉพาะกิจติดตามปัญหาตัดไม้พะยูงในโรงเรียน ที่ทำงานควบคู่กับคณะกรรมการติดตามเชิงลึก ก็ได้รวบรวมพยานหลักฐานและสรุปผลเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
“สำหรับหลักฐานล่าสุด ภาพท่อนไม้พะยูงกองใหญ่ ในพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด ที่ระบุว่าเป็นไม้พะยูง 9 ต้น จากโรงเรียนหนองโนวิทยา ต.หัวหิน อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ ซื้อขายราคา 104,000 บาท นั้น ถือเป็นหลักฐานชัดเจนว่าประมูลขายราคาต่ำผิดปกติ เพราะดูลักษณะท่อนไม้ใหญ่ สวยงาม จากการประเมินราคาด้วยสายตา สอดคล้องกับที่ลงพื้นที่ประเมินจากตอและภาพถ่าย แสดงให้เห็นถึงการส่อทุจริตตัดไม้พะยูงขายราคาถูก โดยอาศัยช่องโหว่กฎหมาย มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปร่วมขบวนการ ใช้อำนาจหน้าที่พิจารณาให้ตัด แล้วประมูลขายราคาถูก” นายอดิสรกล่าวในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ในส่วนคดีการตัดไม้พะยูงในโรงเรียนขาย ที่เจ้าหน้าที่ชุดรวบรวมและตรวจสอบข่าว กอ.รมน.จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้รับแจ้งจากชาวบ้าน ประกอบด้วย (1) โรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี 22 ต้น (2)โรงเรียนหนองโนวิทยาคม อ.ห้วยเม็ก 9 ต้น (3) โรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ อ.ห้วยเม็ก 3 ต้น (4) โรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว อ.ยางตลาด 6 ต้น (5) โรงเรียนหนองกุงไทย อ.ห้วยเม็ก 7 ต้น (6) โรงเรียนหมูม่นเม็กวิทยาสรรพ์ อ.สมเด็จ 9 ต้น (รายการที่ 4-5-6 ยังไม่ทราบราคาประเมินมาตรฐานกรมป่าไม้) (7) โรงเรียนกมลาไสย (ไม่ระบุจำนวน) รวมจำนวน 56 ต้น ซึ่งหากนับรวมกับที่ถูกลักลอบตัดในรอบ 2 เดือน ส.ค.-ก.ย. 66 รวม 12 แห่ง คือ (8) ศูนย์นววัฒนวิจัย 1 ต้น (9) ศูนย์เพาะชำกล้าไม้กาฬสินธุ์ 1 ต้น (10) โรงเรียนชุมชนดอนยูงวิทยา 1 ต้น (11) โรงเรียนบ้านสร้างแก้ว 1 ต้น และ (12) โรงเรียนโนนศิลาสว่างวิทย์ 1 ต้น จะพบว่าไม้พะยูงในที่ราชพัสดุถูกลักลอบตัดไปไม่น้อยกว่า 61 ต้น
ขณะที่ธนารักพื้นที่กาฬสินธุ์ แจ้งในที่ประชุมคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าจังหวัดกาฬสินธุ์ (คปป.จว.) เมื่อวันที่ 13 ก.ย.66 ที่ผ่านมา ว่ามีหนังสือการขออนุญาตตัดต้นไม้และจำหน่ายไม้ในที่ราชพัสดุในสถานศึกษาทุกแห่ง ยืนยันตามเอกสาร 4 แห่ง คือโรงเรียนคำไฮวิทยา โรงเรียนหนองโนวิทยาคม โรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว และโรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์เท่านั้น ไม่มีรายชื่อโรงเรียนหนองกุงไทย โรงเรียนหมูม่นเม็กวิทยาสรรพ์ และโรงเรียนกมลาไสย โดยระบุว่าได้รับเงินเข้าแผ่นดินจำนวน 312,500 บาท ทั้งนี้ หากเทียบราคาประเมินตามมาตรฐานกรมป่าไม้ 3 โรงเรียนคือโรงเรียนคำไฮวิทยา โรงเรียนหนองโนวิทยาและโรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ จะได้ราคาถึง 7,960,750 บาท ซึ่งหากเทียบตามราคาประเมินมาตรฐานกรมป่าไม้ จะทราบว่าส่วนต่างหายไปถึง 7,648,250 บาททีเดียว