กสทช. ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทลายเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตามแนวชายแดนแม่สอด
กสทช. ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทลายเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ตามแนวชายแดนแม่สอด
เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 66 เวลา 11.00 น. พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช.ด้านกฎหมายและประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ, พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานด้านป้องกันและปราบปราม, พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช. สอท., นายสุธีระ พึ่งธรรม ผอ.สำนักกิจการภูมิภาค, นายจาตุรนต์ โชคสวัสดิ์ ผอ.สำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม, นายภาณุพงษ์ ชัยศรีทิพย์ ผู้อำนวยการสำนักงาน กสทช. เขต 31, พล.ต.ต.อำนาจ
ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท. และ พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย ผบก.สอท.4 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ สำนักงาน กสทช. และ สอท. ร่วมกันแถลงผลการจับกุมสถานีวิทยุคมนาคมและเสาสัญญาณผิดกฎหมายตามแนวชายแดน อ.แม่สอด จว.ตาก ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ามีการลักลอบส่งสัญญาณโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาอาชญากรรมด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์และเว็บพนันออนไลน์ ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในปัจจุบัน
ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ร่วมมือกับ สำนักงาน กสทช. ในการเดินหน้าปราบปรามสถานีโทรคมนาคมผิดกฎหมาย และจัดระเบียบเสาสัญญาณตลอดแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งแต่ อ.คลองใหญ่ จ.ตราด, อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อสกัดไม่ให้มีการเผยแพร่สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาได้มีการกวาดล้างจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์อย่างต่อเนื่อง ทำให้ขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์มีการย้ายฐานปฎิบัติการเข้าสู่พื้นที่ใหม่ๆ ที่ยังสามารถอาศัยสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตจากฝั่งไทยได้ และปลอดภัยจากการกวาดล้างจับกุม โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนด้าน อ.แม่สอด จว.ตาก ที่เป็นพื้นที่เศรษฐกิจและบางส่วนอยู่ภายใต้อิทธิพลของชนกลุ่มน้อย ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ชุดปฏิบัติการร่วมตำรวจและ กสทช. ได้มีการลงพื้นที่หาข่าวจนนำมาสู่การปฎิบัติการในครั้งนี้ โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
กรณีที่ 1 เข้าจับกุมสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต และหันทิศทางสายอากาศไปยังประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก จำนวน ๒ สถานี และในพื้นที่ อ.แม่สาย และ อ.เชียงของ
จ.เชียงราย จำนวน 4 สถานี เป็นความผิดฐาน “มีและใช้ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมและตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต” ตามมาตรา 6 และ 11 แห่ง พรบ.วิทยุคมนาคมฯ มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ และความผิดฐาน “ประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งต้องได้รับใบอนุญาตแบบที่หนึ่งโดยไม่ได้อนุญาต” ตามมาตรา 67 (1) แห่งพรบ.ว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท พร้อมทั้งจับกุมผู้กระทำผิด จำนวน 3 ราย ในการนี้ ได้ทำการรื้อถอนสถานีวิทยุคมนาคมผิดกฏหมายดังกล่าวทั้งหมด และทำการยึดอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ใช้กระทำความผิดได้เป็นจำนวนมาก นำส่งพนักงานสอบสวน เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
กรณีที่ 2 พบการตั้งสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ และหันทิศทางสายอากาศไปยังประเทศ
เพื่อนบ้าน ฝั่ง อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งทำให้คลื่นสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ข้ามเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้าน
เป็นเหตุให้พื้นที่การให้บริการผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเกินกว่าอาณาเขตพื้นที่ประเทศไทย และล่วงล้ำไปยังอาณาเขตประเทศข้างเคียง โดยตรวจสอบพบสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เข้าลักษณะดังกล่าวจำนวนหลายสถานี ในกรณีนี้ สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งหมด เร่งแก้ไขปรับปรุงหรือปฏิบัติให้ถูกต้อง โดยให้ถอนการติดตั้งสายอากาศบางจุด หรือ ปรับทิศทางสายอากาศ หรือ ดำเนินการด้วยวิธีอื่นใด มิให้แพร่สัญญาณคลื่นความถี่ออกนอกเขตพื้นที่ประเทศไทย เพื่อให้พื้นที่การให้บริการ อยู่ภายในอาณาเขตพื้นที่ประเทศไทย
นอกจากนี้ ตั้งแต่ พ.ค.66 – ปัจจุบัน ได้ตรวจพบการจำหน่ายซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลงทะเบียนการใช้งานโดยใช้ชื่อบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ใช้งานที่แท้จริงเพื่อจำหน่ายให้กับบุคคลอื่น จำนวน 7,668 ซิมการ์ด จับกุมผู้ต้องหา จำนวน 20 คน แบ่งเป็นคนไทย 12 คน และต่างชาติ 8 คน ดำเนินคดีตาม
พรก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กสทช. ได้มีการบูรณาการความร่วมมือในการเดินหน้าปราบปรามสถานีโทรคมนาคมผิดกฏหมาย ควบคู่ไปกับการจัดระเบียบเสาสัญณาณไม่ให้แพร่สัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน กวดขันจับกุมผู้ขายและผู้เป็นธุระจัดหา ซิมผี บัญชีม้า เพื่อตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์และพนันออนไลน์ไม่ให้ทำงานได้สะดวกเหมือนเคย ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการผู้รับใบอนุญาตเป็นอย่างดี พร้อมทั้งมีการหารือในการปรับปรุงระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อตีกรอบการใช้เทคโนโลยีให้เป็นไปตามที่ภาครัฐกำหนด สร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับพี่น้องประชาชน
ทั้งนี้ได้ฝากเตือนไปยังพี่น้องประชาชน ให้มีความระมัดระวังการใช้การใช้งานเทคโนโลยี เพราะปัจจุบันแก๊งมิจฉาชีพมีการพัฒนารูปแบบการหลอกลวงอยู่ตลอดเวลา มีการออกอุบายใหม่ๆ ที่เน้นสร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้เหยื่อตกใจตื่นตระหนก ตกหลุมพรางของแก๊งมิจฉาชีพ ขอให้ประชาชนตั้งสติ อย่าตกใจ ไม่เชื่อ ไม่โอน ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวโดยเด็ดขาด นอกจากนี้ยังพบว่า แก๊งมิจฉาชีพได้มีการจ่ายเงินซื้อโฆษณา เพื่อให้ลิงค์หรือเว็บไซด์ปลอมมาแสดงอยู่ในลำดับต้นๆ หรือสามารถเข้าถึงผู้ใช้แพลตฟอร์มเป็นจำนวนมาก มีการปลอมยอดติดตามหรือยอดไลท์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ทำให้เมื่อประชาชนที่ถูกหลอกลวงออนไลน์ต้องการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ กดเข้าไปในลิงค์หรือเว็บไซต์ปลอม ถูกหลอกซ้ำซ้อนสร้างความเสียหายมากขึ้นไปอีก ดังนั้น หากเกิดข้อสงสัยหรือต้องการติดต่อกับหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ขอให้สืบค้นข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้