22/12/2024

พิจิตร-ชลประทานพิจิตรเปลี่ยนวิกฤตฝนตกหนักน้ำท่วมเป็นโอกาสกักเก็บน้ำรับมือภัยแล้งจากผลกระทบเอลนีโญ

977C6A06-E075-4FB8-ACAD-0F1245382907

พิจิตร-ชลประทานพิจิตรเปลี่ยนวิกฤตฝนตกหนักน้ำท่วมเป็นโอกาสกักเก็บน้ำรับมือภัยแล้งจากผลกระทบเอลนีโญ

ชลประทานพิจิตรยอมรับในช่วง 7 วันที่ผ่านมามีฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขาวังทอง-เทือกเขาเพชรบูรณ์ รวมถึงน้ำที่ไหลหลากมาจากคลองที่เชื่อมติดต่อกลับแม่น้ำปิงจังหวัดกำแพงเพชรไหลเข้าพื้นที่เกษตรกรรมของพิจิตร แต่หลังจาก 2 วันที่ผ่านมาไม่มีฝนในพื้นที่จึงทำให้ระดับน้ำที่เคยท่วมนาข้าวและบ้านเรือนในที่ลุ่มต่ำวันนี้น้ำลดลงแล้ว ดังนั้นเพื่อเป็นการบริหารจัดการน้ำจึงประสานกับ Joint Management Committee for Irrigation (JMC) หรือคณะกรรมการจัดการชลประทาน ซึ่งเป็นผู้นำเกษตรกรและภาคประชาชนมีมติเห็นชอบให้ปิดประตูระบายน้ำทั้งลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านเพื่อกักเก็บน้ำไว้รับมือวิกฤตภัยแล้งจากสภาวะเอลนีโญ อีกทั้งเร่งส่งน้ำเข้าแม่น้ำพิจิตรสายเก่าเพื่อให้เป็นแก้มลิง รวมถึงจะเติมน้ำเข้าบึงสีไฟให้ได้ 100% คือ 12 ลบ.ม.

วันที่ 20 กันยายน 2566 นายเอกฉัตร เอี่ยมตาล ผอ.โครงการชลประทานพิจิตร ลงพื้นที่ดูสถานการณ์ปริมาณน้ำที่เกิดจากช่วง 7 วันที่ผ่านมา มีพายุดีเปรสชั่นพาดผ่านในภาคเหนือ ส่งผลให้มีฝนตกหนักในเขตพื้นที่จังหวัดพิจิตร มีฝนตกหนักน้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขาวังทอง-เทือกเขาเพชรบูรณ์ คือจาก ต.บ้านมุง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก น้ำป่าได้ไหลหลากเข้ามายังพื้นที่ อ.สากเหล็ก และไหลหลากเข้ามาทาง อ.เมืองพิจิตร ทางด้านฝั่งตะวันออกเพื่อที่น้ำจะไหลลงลำคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำน่านแถว ต.ท่าฬ่อ ต.ท่าหลวง ต.หัวดง

นอกจากนี้ก็ยังมีน้ำที่ไหลหลากมาจากคลองที่เชื่อมติดต่อกลับแม่น้ำปิง จ.กำแพงเพชร ไหลเข้าพื้นที่เกษตรกรรมของพิจิตร แถบ ต.หนองโสน อ.สามง่าม และแถบ อ.บึงนาราง อ.วชิรบารมี ส่งผลให้น้ำเอ่อล้นคลองในหลายเส้นทางแต่หลังจาก 2 วันที่ผ่านมาเขตพื้นที่ จ.พิจิตร ไม่มีฝนตกในพื้นที่แล้ว จึงทำให้ระดับน้ำที่เคยท่วมนาข้าวและบ้านเรือนในที่ลุ่มต่ำวันนี้น้ำลดลงแล้ว รวมถึงน้ำก็ได้ไหลหลากเข้าคลองซอยที่เป็นคลองสาขาของคลองต่างๆ อีกทั้งก็เป็นน้ำซึมน้ำซับลงใต้ดิน ทำให้มีน้ำลดลงในพื้นที่ลุ่มต่ำต่างๆอัตราเฉลี่ย 3-5 ซม./วัน ซึ่งน้ำที่ซึมลงใต้ดินจะเป็นผลดีในอนาคตในการที่จะสูบน้ำบาดาลมาทำนาปรังหรือการเกษตรในฤดูกาลถัดไปได้อีกด้วย

สำหรับการบริหารจัดการน้ำจึงประสานกับ Joint Management Committee for Irrigation (JMC) หรือคณะกรรมการจัดการชลประทาน ซึ่งเป็นผู้นำเกษตรกรและภาคประชาชนมีมติเห็นชอบให้ปิดประตูระบายน้ำทั้งลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านเพื่อกักเก็บน้ำไว้รับมือวิกฤตภัยแล้งจากสภาวะเอลนีโญ รวมยังได้ผันน้ำจากคลอง ซี 1 ซึ่งเป็นคลองชลประทานสายหลักของพิจิตร ส่งน้ำเข้าแม่น้ำพิจิตรสายเก่าเพื่อให้เป็นแก้มลิงกักเก็บน้ำตลอด 127 กม. ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ไหลผ่าน 4 อำเภอ คือ อ.เมืองพิจิตร อ.ตะพานหิน อ.โพธิ์ประทับช้าง อ.โพทะเล ครอบคลุมพื้นที่ 13 ตำบล 42 หมู่บ้าน เกษตรกรจะได้รับประโยชน์จากแม่น้ำพิจิตรแห่งนี้ 4.5 หมื่นไร่ อีกด้วย

อีกทั้งภายในช่วง 3-4 วันนี้ ก็จะเติมน้ำเข้าบึงสีไฟให้ได้ 100% คือ 12.64 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรักษาระบบนิเวศและส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวของจังหวัดพิจิตรอีกช่องทางหนึ่ง ดังนั้นในวิกฤตฝนตกหนักน้ำท่วมในระยะสั้นๆกลับกลายเป็นโอกาสในการกักเก็บน้ำสู้ภัยแล้งในปี 66/67 อีกด้วย

สิทธิพจน์/พิจิตร/

 

 

 

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป