ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย ใช้บริการนายหน้าหาคู่รักชาวต่างชาติออนไลน์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก เสี่ยงสูญเงินฟรี
ตำรวจไซเบอร์เตือนภัย ใช้บริการนายหน้าหาคู่รักชาวต่างชาติออนไลน์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก เสี่ยงสูญเงินฟรี
พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษก กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กล่าวว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ และได้รับรายงานจากศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ตรวจสอบพบมีผู้เสียหายซึ่งเป็นหญิงหลายรายใช้บริการหาคู่รักผ่านเพจที่มีชื่อเสียงเพจหนึ่ง มีผู้ติดตามกว่า 150,000 ราย ถูกผู้ต้องหาที่อ้างตัวว่าเป็นโค้ช หรือนายหน้า ช่วยเหลือทำการติดต่อหาคนรักเป็นชายชาวต่างชาติให้ โดยมีการคิดค่าบริการแบ่งออกเป็นระดับตามสาขาอาชีพต่างๆ ได้แก่ คนรักชาวต่างชาติแบบธรรมดา อาชีพรับราชการ วิศวกร ราคา 20,000 บาท คนรักชาวต่างชาติแบบพิเศษ อาชีพนักธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ ราคา 30,000 บาท คนรักชาวต่างชาติแบบพิเศษ อาชีพแพทย์ เภสัชกร ราคา 50,000 บาท คนรักชาวต่างชาติแบบ Exclusive อาชีพเจ้าของไร่องุ่น ฟาร์มโคนม ราคา 100,000 บาท เป็นต้น รวมไปถึงการบริการสร้างโปรไฟล์ภาษาอังกฤษ เพื่อแนะนำตัว ในราคา 7,000 บาท และสอนวิธีการหาคนรักชาวต่างชาติแบบส่วนตัว (Private Coaching) ในราคา 5,000 บาท แต่สุดท้ายผู้ต้องหาก็ไม่ได้ติดต่อชายชาวต่างชาติให้ผู้เสียหายแต่อย่างใด หรือได้รับการติดต่อจากผู้ต้องหาว่ามีชายชาวต่างชาติสนใจผู้เสียหาย แต่ภายหลังกลับพบว่ารูปภาพบุคคลที่ส่งมาให้เป็นดารา นักกีฬา และนักธุรกิจที่มีชื่อเสียง จึงเชื่อว่าตนถูกหลอกลวงได้รับความเสียหาย จึงได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้ต้องหาดังกล่าวให้ได้รับโทษตามกฎหมาย
ทั้งนี้ที่ผ่านมานับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.65 – 17 ก.ย.66 มีประชาชนถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว หรือในลักษณะใกล้เคียงกันกว่า 2,621 เรื่อง หรือคิดเป็น 0.80% สูงเป็นลำดับที่ 12 ของจำนวนเรื่องการรับแจ้งความออนไลน์ทั้งหมด ความเสียหายรวมกว่า 881 ล้านบาท
การกระทำในลักษณะดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายความผิดฐาน “ ฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนฯ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1) ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และความผิดฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ที่ผ่านมากองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดย พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. ได้ขับเคลื่อนตามนโยบายของ รัฐบาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ ซึ่งได้ให้ความสำคัญและมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดอย่างต่อเนื่องและจริงจัง พร้อมประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้แนวทางป้องกันให้ประชาชนไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า ในการใช้บริการในลักษณะดังกล่าวผ่านสื่อสังคมออนไลน์ควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อน เพราะอาจเป็นช่องทางหนึ่งของมิจฉาชีพที่ใช้ในการหลอกลวงเอาทรัพย์สินของประชาชน ควรพิจารณาอย่างรอบคอบว่าทรัพย์สินที่อาจจะต้องสูญเสียไปคุ้มค่าแล้วหรือไม่ นอกจากนี้แล้วยังมีการหลอกลวงในอีกรูปแบบที่เรียกว่า Romance Scam คือ การหลอกลวงให้ผู้เสียหายหลงรัก มีความเชื่อใจ หลอกลวงว่าเป็นชายชาวต่างชาติหน้าตาดี จะเดินทางมาใช้ชีวิตในบั้นปลายด้วยกัน แต่ภายหลังก็หลอกลวงให้โอนเงินไปให้เป็นค่าต่างๆ เช่น ค่าภาษีสิ่งของที่มีมูลค่าสูงอ้างส่งมาให้จากต่างประเทศ หลอกลวงว่าพ่อแม่ป่วยขอให้โอนเงินไปให้ เป็นต้น โดยหากท่านได้รับความเสียหายจากการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวสามารถแจ้งความออนไลน์ได้ที่ https://thaipoliceonline.com พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบจะได้ดำเนินการสืบสวนสอบสวนนำผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ ขอฝากประชาสัมพันธ์แนวทางการป้องกันการถูกหลอกลวงในลักษณะดังกล่าว ดังต่อไปนี้
1.ระมัดระวังการหาคนรักผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะดังกล่าว ควรพิจารณาให้รอบคอบถึงความเสี่ยง ไม่พิจารณาเพียงเพราะช่องทางดังกล่าวมีผู้ติดตามจำนวนมาก หรือมีการรีวิวไปในทิศทางที่ดี
2.การสูญเสียทรัพย์สินในการใช้บริการหาคนรักในลักษณะดังกล่าว ไม่ได้ยืนยันว่าจะได้รับบริการตามที่มีการกล่าวอ้าง หรือโฆษณาเสมอไป
3.การพูดคุยกับคนแปลกหน้าบนโลกออนไลน์ ต้องตรวจสอบข้อมูลให้ดีเสียก่อนว่าบุคคลนั้นมีตัวตนจริงหรือไม่ มิจฉาชีพมักใช้รูปบุคคลอื่นปลอมโปรไฟล์มาหลอกลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรูปชาวต่างชาติหน้าตาดี มีหน้าที่การงานดี เป็นต้น
4.ไม่หลงเชื่อบุคคลที่เพิ่งรู้จัก หรือบุคคลไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน รวมถึงไม่โอนเงินให้ผู้ใดโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นชื่อบุคคลอื่นที่เราไม่ได้ต้องการจะโอนให้ (บัญชีม้า)
5.ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวกับบุคคลอื่น ไม่กรอก หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวลงบนสื่อสังคมออนไลน์
6.ไม่นัดพบเจอบุคคลที่รู้จักผ่านสื่อสังคมออนไลน์ หากจำเป็นควรนัดพบในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน หรือพาเพื่อน หรือบุคคลที่ไว้ใจติดตามไปด้วย
7.หากเป็นมิจฉาชีพมักจะไม่ยอมเปิดกล้องให้เราเห็นใบหน้า แต่ก็ต้องระมัดระวังมิจฉาชีพใช้คลิปวิดีโอที่บันทึกภาพของผู้อื่นมา
8.เบื้องต้นท่านสามารถนำภาพบุคคลที่ได้รับไปตรวจสอบก่อนว่าเป็นภาพบุคคล หรือดารานักแสดง หรือผู้มีชื่อเสียงหรือไม่ ผ่านเว็บไซต์การค้นหาทั่วไป