กาฬสินธุ์-แฉคดีตัดต้นพะยูงโรงเรียนหลักฐานเพียบแต่เงียบสงสัยปล่อยวิ่งคดี
กาฬสินธุ์-แฉคดีตัดต้นพะยูงโรงเรียนหลักฐานเพียบแต่เงียบสงสัยปล่อยวิ่งคดี
ชุดเฉพาะกิจตรวจสอบข้อเท็จจริงตัดไม้พะยูงโรงเรียน จ.กาฬสินธุ์ หวั่นคดีล้ม เพราะมีข้าราชการหลายส่วนเอี่ยว แฉหลักฐานเพียบแต่ส่วนกลางเงียบย้ำการประมูลไม้พะยูงโรงเรียนขายฝ่าฝืนคำสั่งผู้ว่าฯ และฝ่าฝืนคำสั่งกรมธนารักษ์ พร้อมยังเดินหน้าเก็บหลักฐานพิสูจน์ความจริง ขณะที่ ปปช.กาฬสินธุ์ ร่อนหนังสือเปิดแถลงผลงานรอบเดือนต่อสื่อมวลชนพรุ่งนี้ คาดจะมีคืบหน้าคดีตัดไม้พะยูงขายตามโรงเรียน
จากกรณีลักลอบตัดไม้พะยูงที่สถานีเพาะชำกล้าไม้กาฬสินธุ์ ต.อิตื้อ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 25 ก.ค.66 ต่อมาไม้พะยูงของกลาง จำนวน 7 ท่อน มูลค่า 1 ล้านบาท หายไปจากเทศบาลตำบลตื้อ สืบเนื่องด้วยเหตุการณ์ตัดไม้พะยูงที่โรงเรียนหลายแห่ง ที่เชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้อง เช่น ที่โรงเรียนคำไฮวิทยา อ.หนองกุงศรี 22 ต้น และจากการตรวจสอบพบว่ามีการตัดไม้พะยูงอีกในหลายโรงเรียน เช่น โรงเรียนหนองโนวิทยาคม อ.ห้วยเม็ก 9 ต้น ลักลอบตัดที่โรงเรียนห้วยเม็กวิทยา อ.ห้วยเม็ก 1 ต้น, ลักลอบตัดที่สถานีวนวัฒนวิจัยกาฬสินธุ์ อ.ยางตลาด 1 ต้น ขออนุญาตตัดที่โรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ อ.ห้วยเม็ก 3 ต้น ลักลอบและขออนุญาตตัดที่โรงเรียนหนองแวงบ่อแก้ว อ.ยางตลาด 6 ต้น ลักลอบตัดที่โรงเรียนชุมชนดอนยูงวิทยายน อ.ยางตลาด 1 ต้น ลักลอบตัดที่โรงเรียนบ้านสร้างแก้ว อ.สมเด็จ 1 ต้น ขออนุญาตตัดที่โรงเรียนหนองกุงไทย อ.ห้วยเม็ก 7 ต้น ล่าสุด ขออนุญาตตัดที่โรงเรียนกมลาไสย อ.กมลาไสย สังกัด สพม.กาฬสินธุ์ รวมทุกแห่งจำนวน 51 ต้น
นอกจากนี้ ยังมีเหตุคนร้ายลักลอบตัดไม้พะยูงที่หนองทึง ต.หัวนาคำ 2 ต้น ที่โรงเรียนโนนศิลาสว่างวิทย์ ต.โนนศิลา 1 ต้น รวมทั้งตัดไม้ประดู่ ไม้ยูคา ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่ สป.ก. ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น ซึ่งห้วงเวลาผ่านมาเกือบ 2 เดือน จะเห็นว่ามีความพยายามของขบวนการตัดไม้ ที่ยังคงมีอยู่ในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์และจังหวัดใกล้เคียง พยายามจะก่อเหตุ ด้วยเจตนาและสร้างสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีบุคคลภายในวงการข้าราชการ ใช้ช่องว่างทางกฎหมาย ดำเนินการขออนุญาตตัดไม้พะยูงในโรงเรียนหลายแห่ง ตามข่าวที่แล้วนั้น
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 นายอดิศร คงสมกัน หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษป่าไม้กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในฐานะได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมเป็นคณะกรรมการชุดเฉพาะกิจตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหาการตัดไม้พะยูงในโรงเรียน เพื่อทำการวัดปริมาตรไม้ ตามมาตรฐานกรมป่าไม้ โดยได้ร่วมกับนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ นายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ ในฐานะหัวหน้าชุดเฉพาะกิจตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยที่ผ่านมาได้ทำการวัดปริมาตรไม้ที่โรงเรียนคำไฮวิทยา โรงเรียนหนองโนวิทยา และโรงเรียนคุรุชนประสิทธิ์ศิลป์ ซึ่งทราบว่าราคาที่ทางโรงเรียน โดยสำนักงานเขตพื้นที่ศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 และธนารักษ์ จำหน่ายให้กับพ่อค้านั้น แตกต่างต่ำไปจากราคาประเมินของกรมป่าไม้มาก
“อย่างเช่น ที่โรงเรียนคำไฮวิทยา ไม้พะยูงจำนวน 22 ต้นกับอีก 2 ตอ ราคาขายในใบเสร็จรับเงิน 153,000 บาท แต่ราคาประเมินของไม้ท่อนหวงห้ามของกรมป่าไม้ 4,500,000 บาท
“ขณะที่โรงเรียนหนองโนวิทยาคม ไม้พะยูงจำนวน 9 ต้น ราคาขายในใบเสร็จรับเงินจำนวน 104,000 บาท ขณะที่ราคาประเมินของไม้ท่อนหวงห้ามของกรมป่าไม้ รวมเป็นเงิน 1,512,750 บาท และที่โรงเรียนคุรุชนปนระสิทธิ์ศิลป์ ไม้พะยูง 3 ต้น ขนาดสูงใหญ่ ราคา 30,000 บาท ขณะที่ราคาประเมินของไม้ท่อนหวงห้ามของกรมป่าไม้ เป็นเงิน 2,232,000 บาท ทั้งนี้ ได้นำผลจากการวัดปริมาตรไม้แต่ละโรงเรียน รวบรวมส่งให้ทางจังหวัดดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อประกอบการพิจารณาว่ามีราคาสูง-ต่ำ แตกต่างกันเพราะสาเหตุใด ส่วนต่างหายไปไหน มีใครเกี่ยวข้องอะไรบ้าง ยังไง ทั้งนี้ เพื่อให้คณะทำงานเชิงลึก ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายอดิศรกล่าว
ด้านนายนิยม กิตติวงศ์ตระกูล ผู้อำนวยการส่วนทรัพยากรธรรมชาติ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการชุดเฉพาะกิจตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหาการตัดไม้พะยูงในโรงเรียน กล่าวว่า ปัญหานี้เริ่มจากตัดไม้พะยูงที่ศูนย์เพาะชำกล้าไม้กาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 25 ก.ค.66 จากนั้นทราบว่ามีการขนย้ายท่อนไม้พะยูงมาเก็บรักษาที่บริเวณหน้าเสาธง เทศบาลตำบลอิตื้อ อ.ยางตลาด เมื่อวันที่ 26 ก.ค.66 โดยทุกคืนจะมีผู้นำชุมชนอยู่เวรเฝ้า ก่อนที่ต่อมาในตอนเย็นของวันที่ 5 ส.ค.66 ไม้พะยูงหายไป ต่อมามีการแจ้งความและตรวจสอบตามไทม์ไลน์ ทั้งนี้ตนและชุดเฉพาะกิจฯ ได้ลงพื้นที่สอบปากคำผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และพยานหลายปาก ประสานข้อมูลกับพนักงานสอบสวน สภ.โนนสูง พื้นที่เกิดเหตุ จากนั้นนำมาสู่กระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งพนักงานสอบสวน สภ.โนนสูง ได้รวบรวมพยานหลักฐานและส่งสำนวนฟ้องผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 8 ราย โดยมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ 3 ราย ผู้บริหารท้องถิ่นและผู้นำชุมชนอีก 5 ราย ทั้งนี้ส่งสำนวนต่อ ปปช.กาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 21 ส.ค.66 ที่ผ่านมา
“การทำงานของชุดเฉพาะกิจตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหาตัดไม้พะยูงในโรงเรียน โดยการอำนวยการของนายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผวจ.กาฬสินธุ์ และนายธวัชชัย รอดงาม รองผวจ.กาฬสินธุ์ ในฐานะหัวหน้าชุดเฉพาะกิจฯ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยการอำนวยการของ พล.ต.ต.สุวรรณ์ เชี่ยวนาวินธวัช ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ ดำเนินการอย่างตรงไป ตรงมา ตามพยานหลักฐาน และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จึงสามารถสรุปรายงานเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป แต่สำหรับกรณีตัดไม้พะยูงในโรงเรียนหลายแห่ง พบพยานหลักฐาน ทั้งเอกสาร และพยานบุคคลยืนยันค่อนข้างชัดเจน ว่ากลุ่มที่เข้ามาทำการค้ากับไม้พะยูงโรงเรียนมีใครเป็นใครบ้าง แต่ถึงปัจจุบันกว่าสองเดือนก็ยังไม่มีการรายงานผลความคืบหน้าจากองค์กรอิสระ อย่าง ปปท.จ.ขอนแก่น ที่ควรจะมีข้อมูลหรือการเคลื่อนไหวให้ทราบบ้าง และยังพบว่าจำเลยสังคมก็คือธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ รวมถึง สำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 ก็ปฏิเสธมาโดยตลอด ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ว่ามีการใส่เกียร์ว่างหรือเปล่า ในความล่าช้าที่เกิดขึ้นนี้ สำหรับมุมมองส่วนตัว เชื่อว่าจะมีการวิ่งเต้นของข้าราชการประจำบางคน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้” นายนิยม กล่าวฯ
มีรายงานเพิ่มเติมว่า ปปช.ประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ จะได้มีการแถลงข่าวในรอบเดือนที่ผ่านมาในวันพรุ่งนี้ (20 ก.ย.66) โดยมีการส่งหนังสือเชิญสื่อทุกสาขาร่วมงาน จึงเป็นที่แน่ชัดว่าสื่อมวลชนในจ.กาฬสินธุ์ และประชาชนให้ความสนใจ ที่จะได้รับฟังความคืบหน้าการพิจารณาคดีไม้พะยูงที่เกิดขึ้นใน จ.กาฬสินธุ์ 2 คดี คือ (1) กรณีไม้พะยูงของกลางหายที่เทศบาลตำบลอิตื้อ คดีนี้มีข้าราชการเกี่ยวข้อง 8 ราย และ (2) กรณีที่ข่าวเกาะติดรายวัน เกี่ยวกับการตัดไม้พะยูงตามโรงเรียนในพื้นที่จัวหวัดกาฬสินธุ์ไปประมูลขาย โดยมีเจ้าหน้าที่ธนารักษ์พื้นที่กาฬสินธุ์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษากาฬสินธุ์ เขต 2 และผู้อำนวยการโรงเรียน มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นขัดต่อคำสั่งผู้ว่าราชการจังหวัด และคำสั่งของกรมธนารักษ์ ตาม ว20 ซึ่งคาดว่า ปปช.กาฬสินธุ์ จะแถลงความคืบหน้าบ้างเพื่อสร้างความกระจ่างให้กับสังคม ที่รอคอยคำตอบอยู่