เชียงใหม่-อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ อุทยานวิทย์ มช. ติดอาวุธผู้ประกอบการในโครงการ Begin to Tech Startup เตรียมพร้อมก้าวสู่โลกธุรกิจด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม
เชียงใหม่-อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับ อุทยานวิทย์ มช. ติดอาวุธผู้ประกอบการในโครงการ Begin to Tech Startup เตรียมพร้อมก้าวสู่โลกธุรกิจด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม
https://youtu.be/ghxbk4-J9do
วันที่ 12 กันยายน 2566 อุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ผสานกำลัง อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) จัดกิจกรรม Chiangmai Startup Driven Economy ในรอบ Pitch Demo ของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ Begin to Tech Startup ภายใต้กิจกรรมเร่งการเติบโตของผู้ประกอบการ จากกระบวนการ Spin-out และวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ที่มีศักยภาพสูง (SMEs Spin-out to Tech Startup) โดยมีผู้ประกอบการ SMEs ในจังหวัดเชียงใหม่ กว่า 30 สถานประกอบการ เข้ารับการบ่มเพาะธุรกิจอย่างเข้มข้น ตลอดระยะเวลากว่า 6 เดือน และทำการคัดเลือกให้เหลือเพียง 10 สถานประกอบการ
เพื่อทำการนำเสนอ แผนธุรกิจรูปแบบ Private Pitching ในวันที่ 11 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา และนำเสนอแผนธุรกิจรูปแบบ Public Pitching ในวันที่ 12 กันยายน 2566 โดยได้รับเกียรติจาก นายศักดิ์ชัย คุณานุวัฒน์ชัยเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณและเงินรางวัลแก่ผู้ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 3 สถานประกอบการ พร้อมมอบใบประกาศนียบัตรแก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ณ NSP Rice Grain Auditorium อาคารอำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่)
ทั้งนี้ กิจกรรมการคัดเลือกผู้ประกอบการทั้ง 2 วัน ได้มีตัวแทนนักลงทุนระดับแนวหน้าของประเทศ ได้แก่ Krungsri Finnovate, Beacon Venture Capital, 500 TukTuks, KT Venture Capital และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมเป็นคณะกรรมการในการเฟ้นหาผู้ชนะที่มีความพร้อมด้านการนำเสนอแผนธุรกิจSpin-out เพื่อชิงรางวัลมูลค่ารวมกว่า 150,000 บาท พร้อมรับโล่ประกาศเกียรติคุณ โดยผลการแข่งขันผู้ประกอบการที่สามารถคว้าชัยการนำเสนอแผนธุรกิจใหม่ในรอบชิงชนะเลิศ ได้แก่ ผู้ประกอบการจากบริษัท เชียงใหม่ ที.ดี. จำกัด พร้อมเงินรางวัล จำนวน 70,000 บาท ตามมาด้วยรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 บริษัท เวลเนส มี จำกัด พร้อมเงินรางวัล จำนวน 50,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ แอนด์ เอ แคนเดิล แอนด์ โซป ซัพพลายส์ และเงินรางวัล จำนวน 20,000 บาท
ด้านนางพัชรี ใบยา สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การดำเนินโครงการฯ เป็นไปตามนโยบาย MIND จากกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมสู่วิถีใหม่ ภายใต้แนวคิด “อุตสาหกรรมดี อยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน” เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานรากผ่านนโยบาย 4 มิติ อันได้แก่ มิติที่ 1 ด้วยการปรับธุรกิจและอุตสาหกรรมสู่ S-Curve มิติที่ 2 การดูแลสังคมโดยรอบโรงงานอุตสาหกรรม มิติที่ 3 การรักษาสิ่งแวดล้อมสู่ความเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ตอบโจทย์ประชาคมโลก และมิติที่ 4
การกระจายรายได้สู่ชุมชน เพื่อมุ่งฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดและของภูมิภาค โดยการสร้างกลไกในการผลักดัน Startup รูปแบบใหม่ เน้นพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้ประกอบการ เสริมสร้างความเข้มแข็งในช่วงเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ด้วยการพัฒนาแนวคิดธุรกิจต่อยอด ให้เกิดการจัดตั้งธุรกิจใหม่ (SMEs Spin out) เพื่อเป็นการเร่งพัฒนาหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ของภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดเชียงใหม่ ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นและผลักดันให้เกิดการจัดตั้งบริษัทใหม่ (Spin-out)
ผศ.ดร.จุฬาลักษณ์ เขมาชีวะกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการอุทยานฯ กล่าวว่าเสริมอุทยานฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างระบบบ่มเพาะองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ สู่การเพิ่มโอกาสและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้สามารถปรับตัวสู่ธุรกิจใหม่ พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจเขตภาคเหนือ ผลักดันและพัฒนาให้จังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางแห่งการเติบโตต่อโลกธุรกิจเทคโนโลยีสตาร์ทอัพ (Tech Startups) สู่อุตสาหกรรมระดับประเทศ
วิภาดา/เชียงใหม่