22/11/2024

เพชรบูรณ์ -ต.สะเดียงสร้างพื้นที่ food safety เพื่อความปลอดภัยทางอาหารแก่ผู้บริโภค

เพชรบูรณ์ -ต.สะเดียงสร้างพื้นที่ food safety เพื่อความปลอดภัยทางอาหารแก่ผู้บริโภค

ที่ศูนย์สร้างพลังแห่งความพอเพียง หมู่ที่ 5 บ้านหนองนารี ตำบลสะเดียง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ นางอรวรรยา หุ่นทอง ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ นำเครือข่ายสื่อมวลชนจังหวัดเพชรบูรณ์เยี่ยมชมศูนย์สร้างพลังแห่งความพอเพียง ตำบลสะเดียงที่น้อมนำพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”สืบสาน รักษา และต่อยอด”มาขยายผลในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผ่านการดำเนินโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งหมู่บ้านยั่งยืน ตามพระดำริ “หมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village)” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้วยการระดมทีมของอำเภอทุกระดับ มาวิเคราะห์ สังเคราะห์สภาพปัญหา ความต้องการ และสิ่งที่จะตอบโจทย์การพัฒนาเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่ง ศูนย์สร้างพลังแห่งความพอเพียงตำบลสะเดียง มี ดร.ประทิน นาคสำราญ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะเดียงเป็นประธานศูนย์สร้างพลังแห่งความพอเพียงตำบลสะเดียง

ภายในศูนย์ดังกล่าวได้ดำเนินการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนองพระราชดำริโดย องค์การบริหารส่วนตำบลสะเดียง อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยจัดทำเป็น 1 อปท.1 สวนสมุนไพร ทำการรวบรวมพืชสมุนไพรในท้องถิ่นกว่า20 ชนิด และจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ปลูกและบำรุงรักษาจัดเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ สามารถนำไปขยายผลต่อให้เกิดการปลูกไว้เพื่อรับประทาน หรือจำหน่ายเป็นรายได้เสริม เกิดประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนผู้ที่เข้ามาติดต่อราชการ และมีความสนใจในการศึกษาพันธุกรรมพืชต่างๆอีกด้วย นอกจากนี้มีการขยายงานในรูปแบบเครือข่ายบูรณาการระหว่างชุมชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานต่างๆได้นำบุคคลากรเข้ามาศึกษาอบรมเพิ่มความรู้พืชสมุนไพร พืชผักสวนครัวภายในศูนย์

นางอรวรรยา หุ่นทอง ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรีอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายในศูนย์นี้นอกจากจะมีพืชสมุนไพร แล้วยังมีสระเลี้ยงปลา ซึ่งจะมีปลานิล ปลาดุกและปลาตะเพียน บ่อเลี้ยงกบ และ ไก่ไข่อารมณ์ดี โดยศูนย์แห่งนี้ มีการมาฝึกอบรม ด้านวิชาชีพ ด้านโครงการสมุนไพร เช่นน้ำหมักสมุนไพร ลูกประคบสมุนไพร มีการรวมกลุ่มและทำกิจกรรมซึ่งได้งบประมาณบางส่วนจากองค์การบริหารส่วนตำบลสะเดียงสนับสนุน ซึ่งทางศูนย์ะได้จัดหาวิทยากรมา ให้ความรู้กับผู้เข้ารับการอบรม เมื่อทำกิจกรรมเสร็จ ก็จะจัดสรรปันส่วน ให้กลุ่มผู้เข้ารับการอบรม เช่นการทำลูกประคบ ก็จะได้นำกลับไปคนละ 2 ลูก ส่วนที่เหลือ ทางศูนย์ได้นำไปจำหน่ายให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสะเดียง เพื่อใช้ในการรักษาแพทย์ทางเลือก ซึ่งปัจจุบัน ไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงทำให้ศูนย์ มีรายได้ มาบริหารจัดการในกลุ่มได้ในระดับหนึ่ง

ศูนย์สร้างพลังแห่งความพอเพียง ยังมีจัดอบรมปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ทุกครัวเรือน ซึ่งจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เราเห็นวิกฤตขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะกับคนจนเมือง ที่ต้องแบกภาระค่าอาหารเกินครึ่งของรายได้”ความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ไม่มีใครพูดถึง เป็นเรื่องสำคัญที่สุด แต่ไม่มีคนให้ความสนใจ ฉะนั้น เราจะรอด หรือไม่รอด ก็ขึ้นกับคนอย่างพวกเรา นี่แหละ..ถ้าเราคิดได้ปุ๊บ ไม่ใช่รอดแค่เรา แต่รอดถึงลูกถึงหลาน ซึ่งจะทำให้ทุกครอบครัวไม่ขาดแคลนอาหาร ในหมู่บ้านของตัวเอง นอกจากการแจกจ่ายแล้วยังนำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งสวนแห่งนี้มีจุดเริ่มต้นจากการปลูกกล้วย ซึ่งจะเป็นกล้วยหอม ซึ่งเมื่อได้ผลผลิตได้นำไปจำหน่าย 1 เครือประมาณ 700-800 บาท หรือหวีละ 50-60 บาท ซึ่งพืชผักผลไม้ทุกชนิดจะปลอดสาร เป็นเกษตรอินทรีย์ ไม่มีสารตกค้างและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคมีสุขภาพที่ดี ส่วนทางด้านการตลาดจำหน่ายนั้น ไม่ต้องออกไปขายที่ไหน แค่มีผลผลิตออก และโพสต์ขายทางออนไลน์ แค่นี้ก็ไม่เพียงพอที่จะจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค

ในขณะนี้ทางศูนย์ได้เปิดกว้างให้ทุกหน่วยงานให้เข้ามาร่วมขับเคลื่อน อาทิเช่น หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 16 (นพค.16) และ กรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ได้นำเมล็ดพันธุ์ผักมาแจกจ่ายให้กับคนในชุมชน ในเขตตำบลสะเดียง และโครงการทหารพันธุ์ดี ที่เป็นเครือข่ายพร้อมทั้งโรงเรียนบ้านโตก ซึ่งในความตั้งใจนั้นภายใน 2 ปี จะสร้างสวนสมุนไพรให้มีความหลากหลาย และจำหน่ายอาหารเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น น้ำเก๊กฮวย น้ำตะไคร้ และอาหารที่ปลอดสารปลอดภัยแก่ผู้บริโภคในพื้นที่ ซึ่งตำบลสะเดียงเป็นพื้นที่ที่มีส่วนราชการ สถานศึกษาและสถานที่ทำงานภาคเอกชนตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก จึงน่าจะตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่รักสุขภาพได้เป็นอย่างดี

ด้านนายปกรณ์ ตั้งใจตรง นายอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ กล่าวว่า อำเภอเมืองเพชรบูรณ์นั้นได้ดำเนินการขับเคลื่อนศูนย์สร้างพลังแห่งความพอเพียงประจำตำบล อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ขึ้น ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญที่สามารถขับเคลื่อน โครงการอำเภอบำบัดทุกข์บำรุงสุขแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” (D-CAST)และโครงการ 1 ตำบล 1 หมู่บ้านยั่งยืน ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ โดยไม่เพียงแก้ไขปัญหาหมู่บ้านตกเกณฑ์ฯ แต่สามารถนำหมู่บ้านต้นแบบพลังพอเพียง ขยายผลฯ ไปทุกหมู่บ้านในตำบลอีกด้วย ในส่วนของ ศูนย์สร้างพลังแห่งความพอเพียง หมู่ที่ 5 บ้านหนองนารี ตำบลสะเดียง ถือเป็นศูนย์ฯดีเด่นระดับอำเภอที่จะเป็นต้นแบบให้พื้นที่อื่นๆได้มาศึกษาเรียนรู้และนำไปขยายผลต่อไป

รวมทั้งคาดหวังว่าศูนย์สร้างพลังแห่งความพอเพียงประจำตำบลสะเดียงจะเป็นแหล่งในการสร้างความมั่นคงทางอาหารไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงอาหารที่เหมาะสมกับตนเอง มีอาหารที่เพียงพอต่อผู้บริโภคในพื้นที่ ได้ใช้ประโยชน์จากอาหารที่ทานเข้าไปได้ ตามหลักทางด้านของความปลอดภัยและสุขอนามัย การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงอาหารได้อย่างเหมาะสม ไม่อดอยาก แม้ว่าจะมีเหตุการณ์วิกฤตฉุกเฉิน เช่น ปัญหาด้านเศรษฐกิจ, สภาพดินฟ้าอาการ, โรคระบาด หรือแม้กระทั่งการเป็นไปตามวัฏจักรธรรมชาติ

 

มนสิชา คล้ายแก้ว

เรื่องราวที่คุณอาจพลาดไป